“สวนดุสิตโพล”เผยประชาชน 84% กังวลภัยพิบัติแผ่นดินไหว ติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลฯ สูงสุด 89% ชี้ข้อมูลรัฐยังไม่ทันการณ์ หวั่นข่าวปลอมระบาด เรียกร้องรัฐบาลยกระดับภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ เร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยที่ ‘แม่นยำ-ฉับไว-เข้าถึงทุกคน’ พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนรับมือภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น”
เมื่อวันที่ 6 เม.ย.สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,239 คน ต่อกรณี “คนไทยกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-4 เมษายน 2568 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดถึงร้อยละ 89.11 และมีความกังวลต่อภัยพิบัติดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 84.91
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ประชาชนค่อนข้างกังวลต่อความปลอดภัยและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตถึงร้อยละ 48.83 และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการติดตามข่าวสารต่างๆ มากขึ้นถึงร้อยละ 79.43
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องสำคัญของประชาชนจากผลสำรวจคือ ต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีระบบติดตามและแจ้งเตือนภัยพิบัติที่รวดเร็วและแม่นยำมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72.18 รองลงมาคือต้องการให้ยกระดับเรื่องภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ ร้อยละ 45.10
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล กล่าวว่า ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีความตื่นตัวต่อภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ท่ามกลางความไม่แน่นอน ประชาชนรู้สึกว่าข้อมูลจากภาครัฐยังมีความล่าช้า ในขณะที่สังคมออนไลน์เต็มไปด้วยข่าวสารที่รวดเร็วแต่ก็มีความเสี่ยงของข่าวปลอม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับแรก และเร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยที่ “แม่นยำ ฉับไว ไว้ใจได้ และเข้าถึงทุกคน” เพื่อให้การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ต่างๆ นำไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านอาจารย์มณฑล สุวรรณประภา อาจารย์ประจำหลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณภัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ด้านภัยพิบัติของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหว ซึ่งเดิมทีไม่ใช่ปัญหาหลักของประเทศ แต่กลับกลายเป็นความกังวลอันดับต้นๆ นอกจากนี้ พฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ยังชี้ให้เห็นว่า ภาครัฐยังขาดช่องทางการสื่อสารด้านภัยพิบัติที่ประชาชนให้ความเชื่อถือ
อาจารย์มณฑล กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องปรับกลยุทธ์การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องสนับสนุนและผลักดันให้ภัยพิบัตินี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยบูรณาการการทำงานในทุกระดับ ตั้งแต่การพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อภัยพิบัติ ไปจนถึงการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการรับมือภัยพิบัติด้วยตนเอง เพื่อลดความเปราะบางและเพิ่มความยืดหยุ่นของสังคมไทยต่อภัยพิบัติที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต