กลัวรัฐประหารแต่ก็ชอบปล่อยข่าวลือ ทำลายบรรยากาศกันเหลือเกิน จึงลองค้น ทฤษฎีการปฏิวัติ-รัฐประหารเพื่อเปรียบเทียบกับเหตุปัจจัยในปัจจุบันว่า มีโอกาสเกิดรัฐประหารครั้งที่ 14 มากน้อยเพียงใด
Tanold Jullavech โพสต์ใน Facebook เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 โดยอ้างถึงทฤษฎีของ Crane Brinton กำหนดตัวแปรที่จะทำให้เกิดปฏิวัติรัฐประหาร 5 ประการคือ
1.พัฒนาการหรือสภาวะทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่ ถูกทำให้สะดุดหยุดลงหรือชะงักงันลง
2.รัฐบาลด้อยประสิทธิภาพอย่างรุนแรง
3.ระบบราชการและกลไกของรัฐกำลังล่มสลาย ไม่สามารถบริหารปกครองประเทศได้
4.ผู้นำขาดประสิทธิภาพอย่างรุนแรง รัฐบาลขาดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง
5.ชนชั้นปกครองถูกเพิกเฉย ด้วยความขัดแย้งอย่างขมชื่นจากปัญญาชน
ที่น่าสนใจก็คือ Tanold Jullavech โพสต์ข้อความนี้ก่อนจะเกิดการรัฐประหารครั้งที่ 13 โดย คสช. เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายในประเทศไม่ได้ ถ้าเอาทฤษฎีของ Crane Brinton และ Karl Marx มาชี้วัด ก็จะเห็นว่า รับบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีตัวแปร 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.เศรษฐกิจที่ดีอยู่ชะงักงันอันเป็นผลมาจากการชุมนุมประท้วงของ กปปส.
2.รัฐบาลด้อยประสิทธิภาพ
3.กลไกรัฐกำลังล่มสลาย เพราะไม่ปฏิบัติคำสั่งรัฐบาลโดยนำกำลังทหารตำรวจเข้าล้อมปราบผู้ชุมนุมประท้วง
4.ผู้นำขาดประสิทธิภาพ
ในตอนท้าย Tanold Jullavech ขมวดปมไว้ว่า Crane Brinton ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับผลที่ตามมาเมื่อสิ้นสุดการปฏิวัติรัฐประหาร ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในท้ายสุด การปฏิวัติเกือบทั้งสิ้นก็จบลง ด้วยการวกกลับไปสู่ที่ที่มันเริ่มต้น มีแนวคิดใหม่ๆเกิดขึ้นบ้าง ผู้คนในโครงสร้างอำนาจเปลี่ยนมือไปบ้างเล็กน้อย ควบคู่ไปกับ การปฏิรูปในส่วนโน้นส่วนนี้ และที่สำคัญคือการตัดทิ้งส่วนที่เลวร้ายที่สุดของ ระบบเก่า นั้นออกไป หากแต่ว่า สถานภาพของชนชั้นปกครองนั้นกลับไม่ได้เปลี่ยนตามไป คงอยู่และเป็นไปตามเดิม ในทันทีที่การหยิบฉวยอำนาจได้ เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
ถ้าเป็นสำนวนไทย ก็คือ “สมบัติผลัดกันชม” ใครมาก็เหมือนกัน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเท่าไหร่ นอกจากเปลี่ยนตัวเจ้ามือเท่านั้น
นอกจากนี้มีอีกทฤษฎีที่ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างการรัฐประหาร โดย Ruixue Jia แห่งมหาวิทยาลัยสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน และ Pinghan Liang แห่งมหาวิทยาลัยการเงินและเศรษฐศาสตร์ เซ้าท์เวสต์เทิร์น (SWUFE) เมืองเฉินตู ประเทศจีน ซึ่งมีข้อสรุปว่า
การรัฐประหารเป็นการใช้อาวุธเข้ายึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล บางครั้งอาจทำให้สูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรือบางครั้งก็ไม่เกิดความสูญเสียใด ๆ หากเป็นการรัฐประหารที่แย่งอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำ เนื่องจากไม่ส่งผลผลกระทบต่อชนชั้นล่าง นักวิจัยทั้ง 2 คนได้สรุปปัจจัยที่เอื้อต่อการก่อให้เกิดการรัฐประหารดังนี้
1.การปกครองเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง จะเกิดการรัฐประหารได้ง่าย ถ้าโครงสร้างการปกครองเป็นแบบกระจายอำนาจจะยึดอำนาจได้ยาก เพราะประชาชน ภาคธุรกิจ หรือส่วนอื่น ๆ จะไม่เห็นพ้อง
2.โลกาภิวัตน์ซึ่งเชื่อมโยงการสื่อสารแบบไม่มีขีดจำกัดจะทำให้การยึดอำนาจทำได้ยาก หากเกิดขึ้นจริงก็จะเกิดการต่อต้านกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
3.เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเอาด้วยกับคณะรัฐประหารหรือไม่ ถ้าสนับสนุนก็จะทำให้รัฐบาลของคณะรัฐประหารก็จะอยู่ยาว แต่หากไม่เห็นด้วยก็จะเกิดความวุ่นวายและนำไปสู่การต่อสู้แตกหัก
4.ในกรณีที่มีการกระจายอำนาจ โดยไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง หากเกิดการรัฐประหาร ก็จะยึดได้เฉพาะส่วนกลาง แต่หัวเมืองอาจไม่เอาด้วย หากคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จ แต่ไม่สามารถกุมสภาพได้ อาจทำให้เกิดสงครามกลางเมือง
จากทฤษฎีข้างต้นนี้ ยังมองไม่เห็นว่า ประเทศไทย จะเกิดรัฐประหารด้วยเหตุผลใด
…………………
#ดินสอโดม