สส.ก้าวไกล ร้องผู้ตรวจฯ วินิจฉัย ประธานสภา พร้อม ส.ส. 394 อ้างข้อบังคับ 41 ลงมติค้านส่งชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ ด้าน ผู้ตรวจการแผ่นดินถกด่วน คาดพิจารณาคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความปมเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำไม่ได้
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน น.ส.ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองให้พิจารณาวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของประธานรัฐสภาและการลงมติของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 394 คน ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ที่เห็นชอบว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี นั้นเป็นการเสนอญัตติซ้ำ ซึ่งตนในฐานะผู้ร้องได้เข้าชื่อร่วมกับ ส.ส.ก้าวไกลอีก 16 คน ในฐานะผู้ที่มีส่วนได้เสียกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคก้าวไกล ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาวินิจฉัยกรณีการให้ความเห็นชอบเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ซึ่งผู้ร้องเรียนเห็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรมาตรา 213

มีรายงานว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้นัดประชุมด่วนในช่วงเช้าวันนี้ (24 ก.ค.) เพื่อหารือวาระสำคัญ คาดว่าน่าจะเป็นคำร้องของ 2 นักวิชาการที่ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการลงมติของที่ประชุมรัฐสภาว่าการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นการเสนอญัตติซ้ำ หลังนายพรชัย เทพปัญญา นักวิชาการอิสระและนายบุญส่ง ชเลธร อาจารย์คณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยว่าการที่ที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 19 ก.ค.มีมติว่าการเสนอชื่อนายพิธา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงมติเป็นนายกฯ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 41 เป็นการเสนอญัตติซ้ำนั้นเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ก็ขอให้มีคำสั่งไปยังที่ประชุมรัฐสภาให้ยุติการเลือกนายกฯ ออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

โดยคำร้องของนักวิชาการทั้ง 2 ระบุว่า การลงมติของที่ประชุมรัฐสภาว่าไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาซ้ำได้เนื่องจากเป็นการเสนอญัตติซ้ำโดยอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 มองว่ารัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้เป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 และตราบใดที่กระบวนการเลือกเลือกนายกฯ ยังไม่เสร็จสิ้น ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ย่อมสามารถถูกเสนอชื่อได้เรื่อยๆ ดังนั้นมติที่ประชุมรัฐสภาจึงเท่ากับรัฐธรรมนูญถูกละเมิดโดยข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 หรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งนี้ในเวลาประมาณ 14:30 น ผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการแถลงผลการประชุม

นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวถึงการนัดประชุมด่วนของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในเวลา 12.00 น. เพียงสั้นๆว่าเป็นการประชุมนัดแรก จะต้องมาดูข้อมูลและประเด็นต่างๆ ที่ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้รวบรวมตามคำร้องที่มีผู้มายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยจะต้องหารือกันก่อนว่ามีข้อมูลเพียงพอหรือไม่ จึงขอยังไม่ให้ความเห็น.