วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSOR In Action ปั้น‘ความยั่งยืน’สู่รูปธรรม
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

OR In Action ปั้น‘ความยั่งยืน’สู่รูปธรรม

จากสภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนต้องถามหา “ความยั่งยืน” อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมใน ธุรกิจพลังงาน ที่ปล่อยคาร์บอนในสัดส่วนสูงสุด 47% จำเป็นต้องออกโรงทำ โครงการลดการปล่อยคาร์บอนไปสู่ Net Zero ผ่านการปฏิบัติเป็นรูปธรรม ทั้งคาร์บอนที่ปล่อยเองจากกระบวนการผลิต (SCOPE 1) คาร์บอนจากการใช้ไฟฟ้า (SCOPE 2) และคาร์บอนที่ปล่อยโดยซัพพลายเชน (SCOPE 3)

ปัจจัยสำคัญในการปรับตัวสูงยุคคาร์บอนต่ำ คือ ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ธุรกิจสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถูกจุด และสามารถบอกกับชาวโลกได้ว่าทำอะไรไปบ้างที่จะช่วยลดโลกร้อน ซึ่งในยุคนี้สำคัญมาก เพราะตลาดโลก อย่างในยุโรป ถามหาสินค้าที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแข็งขัน โดยออกมาตรการเข้มงวด เช่น CBAM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป เป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป สำคัญไปกว่านั้น แหล่งเงินทุนต่างๆ มีหลักเกณฑ์พิจารณาให้กับการประกอบการสีเขียว ทั้งในส่วนของนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน สถาบันการเงิน ผู้ให้กู้ รวมถึงการคัดเลือกคนที่จะมาเป็นพันธมิตรในการทำธุรกิจ 

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งอยู่ในธุรกิจพลังงาน ได้เก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำโครงการต่างๆ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนมาหลายปี และออกมาประกาศถึงการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนตามกรอบ แนวคิด ESG ทั้งด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environment-Social-Governance/Economic) ซึ่ง OR เป็นสมาชิกของ DJSI ที่มีคะแนนเป็นลำดับที่ 1 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรม Retailing ได้รับรางวัล Best Sustainability Awards จาก SET Sustainability Awards 2023 และได้รับผลการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Rating 2023 ระดับสูงสุด AAA

กลยุทธ์ของ OR มี 3R ซึ่งไม่ใช่ 3R ทั่วๆไป แต่ย่อมาจาก Reduce-Remove และ Reinforce เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality พ.ศ.2573 และ Net Zero พ.ศ.2593 ไม่เฉพาะในสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่นที่ดำเนินการโดย OR เท่านั้น อีก 85% ของสถานีบริการที่ดำเนินการโดยผู้ค้า ก็ส่งเสริมให้ทำไปพร้อมกัน

เฉพาะในส่วนของ Reduce เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง OR กำลังเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยเฉพาะในพีทีทีสเตชั่น ที่จะมีการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา (Solar Roof) เป้าหมาย 19.9 เมกะวัตต์ (MWp) ภายในพ.ศ.2573

สำหรับ Remove สนับสนุนกิจกรรมการกักเก็บคาร์บอนแบบธรรมชาติด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าร่วมกับกรมป่าไม้ 1,500 ไร่ และสนับสนุนการบำรุงรักษาป่าชุมชนร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงอีก 8,100 ไร่  

ขณะที่ Reinforce เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจสีเขียวหรือคาร์บอนต่ำ (Green Portfolio) หลักๆคือ ขยายสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Station Pluz 7,000 หัวชาร์จ แบบ DC (Direct current charge) ภายในพ.ศ.2573 หากรวมทุกรูปแบบจะเพิ่มเป็น 10,000 หัวชาร์จ 

สุชาติ ระมาศ

“สุชาติ ระมาศ” ผู้อำนวยการใหญ่ OR บอกว่า มีแผนที่จะทำ EV HUB เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะทั้งรถเล็กและรถใหญ่ที่มีจำนวนมากขึ้น อาจสร้างบนพื้นที่ข้างๆ พีทีทีสเตชั่นที่มีอยู่ เริ่มต้น 10 จุด บริเวณเส้นทางออกนอกเมืองไปยังสายเหนือ สายอีสาน เป็นต้น คาดว่าไตรมาส 3 ปีนี้น่าจะเริ่มเห็นได้ เงินลงทุนต่อแห่งราวๆ 50 ล้านบาท รูปแบบเป็นเหมือนสถานีบริการน้ำมัน แต่จะมีเฉพาะหัวชาร์จไฟฟ้าเท่านั้น รองรับการชาร์จไฟแบบเร็ว (Quick Charge) ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น

สำหรับการลดปริมาณขยะ OR นำร่องในหลายเรื่องในการทำ Circular Economy ตั้งแต่การริเริ่มคัดแยกขยะในโครงการแยกแลกยิ้มโดยขยายผลไปสู่โรงเรียน การใช้แก้วร้อนและหลอดย่อยสลายได้ การนำน้ำมันพืชใช้แล้วจากร้านเท็กซัส ชิคเก้น ผลิตเป็น B 100 ผสมเป็นไบโอดีเซลจำหน่าย และสนับสนุนการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและวัสดุ Upcycling เช่น เสื้อและผ้ากันเปื้อนของพนักงานบาริสต้า ในร้านคาเฟ่อเมซอนที่ผลิตจาก ขวด PET การผลิตเฟอร์นิเจอร์จากเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟ เป็นต้น ซึ่ง OR จะสามารถลดขยะพลาสติกได้ถึง 4,500 ตันได้ภายในพ.ศ.2573

ทั้งนี้ตามแผน 5 ปี ระหว่างพ.ศ.2567-2571 OR จะจัดสรรเงินลงทุนสำหรับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประมาณ 8,000 ล้านบาทหรือเท่ากับ 12% ของเงินลงทุนรวม หลักๆจะเป็นการลงทุนในธุรกิจสะอาดอย่าง EV Ecosystem การติดตั้งโซลาร์บนหลังคา เป็นต้น

ทางด้านสังคม คีย์สำคัญของ OR จะดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตรงนี้คาเฟ่ อเมซอนเข้ามาเป็นพระเอกอีก “ดิษทัต ปันยารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR บอกโครงการที่น่าสนใจว่า มีแผนที่จะทำโครงการอุทยานอเมซอน (Amazon Park) บนพื้นที่ 600ไร่ จังหวัดลำปาง เพื่อพัฒนาวิจัยและเพาะพันธุ์ต้นกล้ากาแฟคุณภาพ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อคัดเลือกและพันธุ์กาแฟที่มีคุณภาพมาส่งเสริมให้เกษตรกรเอาไปเพาะปลูก แล้ว OR ก็จะรับซื้อเมล็ดกาแฟในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งต้นกาแฟพันธุ์อาราบิกาจะต้องปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่เท่ากับเป็นการส่งเสริมปลูกป่าด้วย รวมทั้งยังลดการนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศด้วย

ดิษทัต ปันยารชุน

“เพราะตอนนี้ความนิยมดื่มกาแฟ ทำให้เมล็ดกาแฟไม่พอใช้ในประเทศ ปัจจุบันไทยมีความต้องการมากถึง 80,000 ตันต่อปี แต่ผลิตในประเทศได้เพียง 20,000 ตันต่อปี โดยคาเฟ่ อเมซอน ที่ถือว่าเป็นผู้บริโภคเมล็ดกาแฟรายใหญ่ มีความต้องการมากถึง 6,000 ตันต่อปี Amazon Park จะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตกาแฟในไทยเพิ่มขึ้นได้ราว 2,000 ตันต่อปี และยังสามารถทำคาร์บอนเครดิตได้ด้วย มากกว่าไปกว่านั้นจะนำเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยวมาจับอีกทางพัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดลำปาง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรอง สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น เราจะได้เห็น Amazon Park เฟสแรก 300 ไร่ ในปีนี้ 2567 และจะเปิดอย่างเป็นทางการเพื่อให้ประชาชนเข้ามาท่องเที่ยวได้ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เรียกว่ายิงปืนนัดเดียววินวินทุกเรื่อง”ดิษทัต อธิบาย

คอนเซปต์ที่ว่า ถ้าชาวบ้านรอด-ธุรกิจก็รอด ดังนั้น OR จึงดึงคนในชุมชนให้เติบโตไปด้วยกัน ทั้งจาก Amazon Park ที่จะสร้างขึ้น และโครงการ ไทยเด็ด ที่ OR เข้าไปส่งเสริมคนตัวเล็กตัวน้อย หรือวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมกับสนับสนุนช่องทางการตลาด ทั้งในพีทีที สเตชั่น และการออกงานต่างๆ การเปิดพื้นที่พีทีที สเตชั่น ให้เกษตรกรนำสินค้ามาขาย ช่วยดึงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำสำเร็จ หรือแม้แต่การเปิดให้เป็นพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเปิดคลินิกรักษาพยาบาล “โอบอ้อมคลินิก” ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ผนวกรวมเข้ากับบริการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

โครงการ ไทยเด็ด

นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการทางการได้ยิน ผู้พิการทางร่างกาย ทหารผ่านศึก เยาวชนที่ขาดโอกาส และผู้สูงอายุเข้ามาเป็นพนักงานในร้านคาเฟ่ อเมซอนด้วย ตามโครงการ “Café Amazon for Chance” เพื่อให้เป็น “กาแฟที่แฟร์กับคนทั้งโลก” ซึ่งตอนนี้มี 279 สาขาใน 44 จังหวัดที่จ้างงานแล้ว ทุกอย่างไม่ได้มาฟรี ต้องลงทุน

โครงการ “Café Amazon for Chance”

“ดิษทัต ปันยารชุน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า การเป็นผู้ประกอบการที่คำนึงถึงความยั่งยืน OR ได้ Integrate เข้าไปในธุรกิจเลย โดยหลักๆจะค่อยๆเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งไม่ได้มองการลงทุนเหล่านี้เป็นภาระหรือต้นทุน แล้วก็ไม่ได้มองแต่ผลกำไรอย่างเดียว แต่ต้องการให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับสังคมชุมชนและดูแลสิ่งแวดล้อม ถึงจะเรียกว่าเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง

………………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย “สายัญ สัญญา”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img