กรณีที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ ในการโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” จากตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ในเรื่องนี้ ทาง คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ได้มีการประชุมหารือในมุมวิชาการ ต่อคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อต้นเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา
ใจความสำคัญในการประชุม โดย การให้ความเห็นของผู้ชำนาญการ ระบุว่า ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนปรากฎว่ามูลกรณีคดีนี้เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 แล้ว
อย่างไรก็ตาม จากคำพิพากษาคดีนี้ องค์คณะผู้พิพากษา เห็นว่า ปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น เป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย
ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดทางอาญาของจำเลยในคดีนี้ นอกจากพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต
อันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อม. 30/2566 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ “ไม่มีเจตนาพิเศษ” ในการใช้อำนาจโดยมิชอบ
โดยศาลฎีกาได้พิเคราะห์ ทั้งจากพยานแวดล้อม แนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม เหตุผลพิเศษเฉพาะกรณี เป็นต้น
ดังนั้น คำพิพากษานี้ชี้ให้เห็นว่าการพิจารณาคดีทางอาญานั้นมีความซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับ “เจตนา” ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ต้องพิจารณาในการตัดสินคดี
โดยคำพิพากษาแสดงให้เห็นถึงวิธีการตีความและการใช้กฎหมายของศาลฎีกา โดยเน้นไปที่หลักเกณฑ์ในการพิจารณาความผิดทางอาญาที่เข้มงวด
รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด และการที่ศาลจะต้องจัดให้มีการพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการวินิจฉัยความผิดทางอาญา
คดีนี้มีผลกระทบต่อการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย
สำหรับ คดีนี้เป็นตัวอย่างของการพิจารณาคดีที่ “ผู้ถูกกล่าวหา” เป็น “บุคคลที่มีตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล” ซึ่ง ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเป็นธรรม เพื่อให้การพิพากษามีความน่าเชื่อถือและยุติธรรม
นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างของ ความท้าทายในการตีความ และ ประยุกต์ใช้กฎหมายในสถานการณ์ที่ซับซ้อน เนื่องจากคดีนี้มีการดำเนินการทางกฎหมายหลายชั้น และต้องพิจารณาคำพิพากษาของศาลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง
โดยก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือให้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ตามมาตรา 166 (2) (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ขณะที่ ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่มีมติเสียงข้างมาก 14 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 การโอนผู้ฟ้องคดีจากตำแหน่ง “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “”ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ” จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาในคดีนี้ ยังสะท้อนถึงความสำคัญของความโปร่งใสและการรับผิดชอบในการใช้อำนาจ ของผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพื่อให้การใช้อำนาจเป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม และเพื่อรักษาความไว้วางใจในระบบการปกครองและกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นเดียวกัน
……..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม