วันอังคาร, เมษายน 30, 2024
หน้าแรกEXCLUSIVEวิเคราะห์คำพิพากษายกฟ้อง‘ยิ่งลักษณ์’ ขาดเจตนาพิเศษโยกย้าย‘ถวิล’พ้นสมช.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

วิเคราะห์คำพิพากษายกฟ้อง‘ยิ่งลักษณ์’ ขาดเจตนาพิเศษโยกย้าย‘ถวิล’พ้นสมช.

กรณีที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ ในการโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” จากตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ในเรื่องนี้ ทาง คณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ได้มีการประชุมหารือในมุมวิชาการ ต่อคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อต้นเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา

ใจความสำคัญในการประชุม โดย การให้ความเห็นของผู้ชำนาญการ ระบุว่า ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนปรากฎว่ามูลกรณีคดีนี้เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2557 และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.33/2557 แล้ว

อย่างไรก็ตาม จากคำพิพากษาคดีนี้ องค์คณะผู้พิพากษา เห็นว่า ปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้องคดีนี้หรือไม่นั้น เป็นคนละประเด็นกับที่ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย

ดังนั้น การที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดทางอาญาของจำเลยในคดีนี้ นอกจากพิจารณาจากการกระทำของจำเลยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต

อันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 192

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อม. 30/2566 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ “ไม่มีเจตนาพิเศษ” ในการใช้อำนาจโดยมิชอบ

โดยศาลฎีกาได้พิเคราะห์ ทั้งจากพยานแวดล้อม แนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม เหตุผลพิเศษเฉพาะกรณี เป็นต้น

ดังนั้น คำพิพากษานี้ชี้ให้เห็นว่าการพิจารณาคดีทางอาญานั้นมีความซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับ “เจตนา” ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ต้องพิจารณาในการตัดสินคดี

โดยคำพิพากษาแสดงให้เห็นถึงวิธีการตีความและการใช้กฎหมายของศาลฎีกา โดยเน้นไปที่หลักเกณฑ์ในการพิจารณาความผิดทางอาญาที่เข้มงวด

รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด และการที่ศาลจะต้องจัดให้มีการพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการวินิจฉัยความผิดทางอาญา

คดีนี้มีผลกระทบต่อการเมืองและสังคมไทย โดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย

สำหรับ คดีนี้เป็นตัวอย่างของการพิจารณาคดีที่ “ผู้ถูกกล่าวหา” เป็น “บุคคลที่มีตำแหน่งระดับสูงในรัฐบาล” ซึ่ง ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบและเป็นธรรม เพื่อให้การพิพากษามีความน่าเชื่อถือและยุติธรรม

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวอย่างของ ความท้าทายในการตีความ และ ประยุกต์ใช้กฎหมายในสถานการณ์ที่ซับซ้อน เนื่องจากคดีนี้มีการดำเนินการทางกฎหมายหลายชั้น และต้องพิจารณาคำพิพากษาของศาลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง

โดยก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือให้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ตามมาตรา 166 (2) (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ขณะที่ ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่มีมติเสียงข้างมาก 14 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า อดีตนายกรัฐมนตรีใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 การโอนผู้ฟ้องคดีจากตำแหน่ง “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ” มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “”ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ” จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาในคดีนี้ ยังสะท้อนถึงความสำคัญของความโปร่งใสและการรับผิดชอบในการใช้อำนาจ ของผู้มีอำนาจในรัฐบาล เพื่อให้การใช้อำนาจเป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม และเพื่อรักษาความไว้วางใจในระบบการปกครองและกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นเดียวกัน

……..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img