หลังจากที่รอกันมานานนับปีสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์) ล่าสุดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าก็ได้ประกาศวันที่จะรับยื่นซองเอกสารคำเสนอขอขายไฟฟ้าทางด้านเทคนิคและด้านราคาในวันที่ 27-30 เม.ย.นี้ จากที่เลื่อนมาหลายครั้ง นับตั้งแต่ในช่วงที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
โครงการนี้มีเอกชนหลายบริษัทให้ความสนใจที่จะยื่นประมูล โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ลงนามเซ็นสัญญา (MOU) จับจองพื้นที่ไว้กับวิสาหกิจชุมชนกันไว้แล้ว พร้อมที่จะยื่นประมูลทันที ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่คาดว่าจะเข้ายื่นประมูล แม้จะมีการรายงานข่าวว่ามีกว่า 700 บริษัทที่ยื่นขอให้ตรวจสอบระบบสายส่งในพื้นที่ของตนเอง เพราะการประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นจะต้องมีระบบสายส่งรองรับ
สำหรับอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามที่ประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นั้นแบ่งเป็น 1.ชีวมวล กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ คิดอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ที่ 4.8482 บาทต่อหน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 3 เมกะวัตต์ FiT ที่ 4.2636 บาทต่อหน่วย 2.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) มี FiT ที่ 4.7269 บาทต่อหน่วย โดยทั้งหมดมีระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และมี FiT Premium สำหรับพื้นที่พิเศษ อีก 0.50 บาทต่อหน่วย แน่นอนว่าบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านนี้ย่อยมองว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลยกเว้นบริษัทที่เป็นลูกรัฐวิสาหกิจที่ต้องประมูลตามนโยบายรัฐ
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กล่าวว่า การขยายการลงทุนในประเทศไทยยังไม่มีโครงการใหญ่ ซึ่งก็มีแต่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนำร่อง 150 เมกะวัตต์ที่มีความชัดเจน โดยบริษัทได้เจรจากับวิสาหกิจชุมชน และดำเนินทำข้อตกลงไว้ 10 โครงการทั้งในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล กับชีวภาพ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 250-300 ล้านบาทต่อโรง หรือประมาณ 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า บริษัทฯสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ โดยได้เตรียมพื้นที่ไว้ที่ภาคใต้ ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล 2 โครงการ กำลังการผลิต 3-6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์) เนื่องได้ดำเนินการลงนามเซ็นสัญญา (MOU) กับวิสาหกิจชุมชนไว้แล้ว โดยเตรียมยื่นประมูลทั้งหมด 12 โครงการ แบ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล 10 โครงการ ชีวภาพ 2 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 40 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ แต่ก็มีบ้างโครงการที่อยู่พื้นที่เหนือตอนล่าง และก็ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อย่างไรก็ตามในการร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ นั้นบริษัทฯ มั่นใจในศักยภาพความเชี่ยวชาญที่ทำโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพมากนานซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทฯ และยังมีความพร้อมทั้งในพื้นที่ เทคโนโลยี และสภาพคล่องทางการเงินเป็นอย่างดี และก็มั่นใจว่าได้ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการนี้ ซึ่งจะได้ตามการยื่นประมูลหรือไม่ก็ต้องรอดูผลต่อไป
นายธีรวุฒิ ทรงเมตตา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมพร้อมที่จะยื่นเสนอประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนมากกว่า 10 พื้นที่ ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ โดยมีการตกลงกับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนต่างๆ ไว้แล้ว เพื่อเตรียมพร้อมด้านพืชพลังงาน ขณะเดียวกันบริษัทก็มีความพร้อมทั้งด้านพื้นที่ และเงินลงทุนแล้ว
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานที่ปรึกษา กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เป็นนโยบายที่ดีหากเริ่มดำเนินโครงการก็จะเป็นการเริ่มกระจายรายได้สู่ชุมชน เนื่องจากรูปแบบนั้นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจะร่วมทุนกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยวิสาหกิจชุมชนและต้องมีข้อกำหนดการร่วมทุนระหว่างผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 90% และวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนในสัดส่วน 10% ซึ่งหากนำเอารูปแบบการลงทุนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ ไปใช้กับโครงการผลิตไฟฟ้าโครงการอื่นก็จะเกิดประโยชย์กับชุมชนอย่างมาก
อย่างไรก็ตามการลงทุนในโครงการนี้ตนมั่นใจว่าจะเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนของภาคเอกชนอย่างแน่นอน ซึ่งคาดว่าบริษัทที่เข้าประมูลโครงการนี้จะเป็นบริษัทที่เชียวชาญในด้านเชื้อเพลิงชีวมวล และชีวภาพมีความพร้อมทั้งพื้นที่ เทคโนโลยีและศักยภาพทางการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ตนประเมินว่าเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจะมีกำไรไม่ต่ำกว่า 10% ต่อโครงการ และคาดว่าการประมูลแข่งขันจะได้ราคาที่ต่ำกว่าราคารับซื้อไฟฟ้าประมาณ 10%
ส่วนวันประกาศผลนั้น กฟภ. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค ในวันที่ 21 พ.ค.2564 กำหนดยื่นอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายในวันที่ 4 มิ.ย.2564 โดย กกพ. จะแจ้งผลการอุทธรณ์ภายในวันที่ 7 ก.ค.2564 และ กกพ. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ในวันที่ 15 ก.ค.2564 และลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก (ภายในวันที่ 12 พ.ย.2564) และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายใน 3 ปี หรือภายในปี 2567