วันอังคาร, ตุลาคม 1, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“พาณิชย์”ดึงยักษ์ใหญ่ค้าปลีก ซื้อสินค้าชุมชน วางขายในห้าง-สนามบิน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พาณิชย์”ดึงยักษ์ใหญ่ค้าปลีก ซื้อสินค้าชุมชน วางขายในห้าง-สนามบิน

“พาณิชย์” ดึงยักษ์ใหญ่ค้าปลีก 20 บริษัทซื้อสินค้าชุมชนวางขายในห้าง-สนามบิน-ช่องทางออนไลน์ คาดสิ้นปีมูลค่าสั่งซื้อทะลุ 50 ล้านบาท

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญชวนหน่วยงานพันธมิตรยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกกว่า 20 บริษัท เช่น บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท คิง พาวเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด และแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เข้าร่วมเจรจาซื้อขายสินค้ากับผู้ประกอบการชุมชน 56 รายที่อยู่ในการส่งเสริมของกรมฯ ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ผ่านการเจรจาจับคู่ธุรกิจใน 2 รูปแบบ คือ การพบปะเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชุมชนกับเทรดเดอร์โดยตรง และการเจรจาผ่านระบบออนไลน์

ทั้งนี้ ผลการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ซื้อ สามารถเจรจาจับคู่ธุรกิจได้จำนวน 120 คู่ โดยสินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์รักษ์โลก โดยเกิดมูลค่าการสั่งซื้อทันทีกว่า 4 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีมูลค่าคำสั่งซื้อกว่า 50 ล้านบาท เพราะกรมฯ จะยังคงเดินหน้านำผู้ประกอบการชุมชนเข้าร่วมเจรจาธุรกิจกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่ด้านค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสินค้าที่ผ่านการพิจารณาสั่งซื้อ จะได้รับโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดไปจำหน่ายยังสถานที่ต่างๆ เช่น สนามบิน ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขาย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้า และสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภค

รวมถึงสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความนิยมในสินค้าพื้นถิ่น และนำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชนต่อไป และที่สำคัญ ผู้ซื้อยังจะช่วยเปิดตลาดออนไลน์นำสินค้าชุมชนไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศด้วย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่สินค้าพื้นถิ่นของไทยจะได้ขยายช่องทางการตลาดให้ครอบคลุมทั้งใน และต่างประเทศ

ส่วนเงื่อนไขในการเจรจาซื้อขายสินค้าพื้นถิ่นในครั้งนี้ จะพิจารณาถึงศักยภาพ ความพร้อมของผู้ประกอบการ และผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ทั้งด้านการตลาด มาตรฐาน คุณภาพผลิตภัณฑ์ และการสื่อถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยสินค้าพื้นถิ่นที่ผู้ประกอบการนำเข้าร่วมการเจรจาต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ที่สื่อถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีความแตกต่าง ผลิตภัณฑ์มีความสวยงาม มีมาตรฐาน และโดนใจตลาด แสดงถึงความเข้าใจผู้บริโภคและตลาดของผู้ประกอบการมากขึ้น โดยมีการใช้ทฤษฎีการตลาดนำการผลิต ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างตรงจุด

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img