14 พ.ค.66 นี้…เชื่อได้ว่าคนไทยทั้งชาติที่มีสิทธิ์ มีเสียง จะเดินเข้าคูหาพร้อมใจเลือกคนที่ถูกคอ เลือกพรรคที่ถูกใจ ให้เข้ามาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ของประเทศ แม้ว่าเวลานี้อาจยาวไกลไปสักหน่อย กับวันเข้าคูหาเลือกตั้งก็ตาม แต่ด้วยอารมณ์ ด้วยความเบื่อ ด้วยความอยากสารพัด ก็ทำให้สถานการณ์การเมืองในเวลานี้ อยู่ในห้วงแห่งการ “แข่งขัน” กันอย่างเต็มรูปแบบ แม้ต่างฝ่ายต่างบอกว่า แข่งขันด้วยนโยบายหาเสียง
ในข้อเท็จจริงแล้ว “นโยบายหาเสียง” เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของปัจจัยในการดึงดูดให้ผู้มีสิทธิ์ มาลงคะแนนให้เท่านั้น ขณะที่เรื่องของ “กลยุทธ์” ต่างหากที่เป็นส่วนใหญ่ของการตัดสินใจ
เอาเป็นว่า …ประชาชนคนไทยก็ต้องนั่งนับวันรอดู รอชม มหากาพย์การเมืองเรื่องนี้กันต่อไปจนถึงการประกาศผลการเลือกตั้งนั่นแหล่ะ!!
ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า หลังจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่เปิดตัวเปิดหน้าให้เห็นกันชัดเจนไปก่อนหน้านี้ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลใหญ่ที่ทำให้การเทคะแนนเสียงนั้นเกิดขึ้น
ในอีกทาง…หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และ ทีมเศรษฐกิจ ได้กลายเป็นอีกปัจจัยเลือกที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน! จึงทำให้ ณ เวลานี้ แต่ละพรรคการเมืองต่างเปิดตัวขุนพลเศรษฐกิจ กันออกมาให้เห็นกันชัด ๆ
ส่วนจะโดนใจ! ถูกใจใครมากน้อยแค่ไหน? ก็มีหลายเสียง หลายความเห็น ออกมากันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในมุมมองของภาคเอกชน ที่ต่างมองว่า “รายชื่อ” ที่นำเสนอกันออกมานั้น ยังไม่ถึงกับต้องร้อง “ว้าว” กันซะทีเดียว
หากถามว่า มีฝีมือ กันมั๊ย? ต้องตอบว่าหลายคนมีฝีมือ แต่!!จะถูกใจกันแค่ไหน ก็อีกเรื่อง เพราะที่ผ่านมา หลายคนแสดงฝีมือ แต่ไม่ถูกใจ ไม่โดนใจ ฉะนั้น…นโยบายและการขับเคลื่อนนโยบาย จะกลายเป็นเครื่องวัดฝีมือที่สำคัญ
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่า เวลานี้…โลกทั้งใบกำลังยักแย่ยักยัน หันเข้าสู่ภาวะถดถอย การพึ่งรายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก อาจกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ก้าวเดินอย่างมั่นคง
การคิด… การกำหนดนโยบายในเวลานี้ ทุกพรรคการเมืองจึงหันมาให้ความสำคัญกับการกระตุ้นกำลังซื้อ เพิ่มความสามารถในการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก ส่วนจะทำได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องดูกันยาว ๆ
ในเวลานี้ ปัญหาใหญ่ที่ภาคเอกชน ที่ประชาชนคนไทย กำลังหวาดผวา คือเรื่องของ “ต้นทุน” ทั้งต้นทุนการประกอบธุรกิจ ทั้งต้นทุนการใช้ชีวิตให้อยู่รอด กลับเพิ่มขึ้นทุกวัน
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่างทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการภาคธุรกิจ พบว่า… สถานะทางธุรกิจของผู้ประกอบการยังคงใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา
โดยมียอดขาย รายได้ กำไรค่อนข้างทรงตัว แต่สภาพคล่องรวมถึงการลงทุนลดลง เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แม้การเลือกตั้งอย่างดุดันในรอบนี้จะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 1.2 แสนล้านบาท ก็ตาม แต่ปัจจัยด้านต้นทุนยังคงมีอยู่!!
ด้วยเหตุนี้…การจัดเวทีดีเบต พรรคการเมืองที่จะเกิดขึ้นใน 2 เวที ใหญ่ในสัปดาห์หน้า ทั้ง เวที…ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “ส.อ.ท.” และ เวทีของหอกาค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะกลายเป็นคำตอบสำคัญให้กับภาคเอกชนไทยได้ไม่น้อยทีเดียว
เพราะคำตอบ!! ของบรรดาพรรคการเมืองจากคำถามของภาคเอกชน ที่คาดหวังในการขับเคลื่อนประเทศ ย่อมกลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ซึ่งเอกชนเองเตรียมนำคำตอบจัดทำเป็น “สมุดปกขาว” เพื่อให้รัฐบาลใหม่นำไปสานต่อ
แต่สิ่งที่จะกลายเป็นปัญหาในช่วงของ “รัฐบาลรักษาการ” คือการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ทันเวลา รวมถึงการเจรจา การทำสัญญาต่าง ๆ ย่อมทำไม่ได้ นั่นหมายถึงการสูญเสียโอกาส
หากรัฐบาลใหม่ เกิดขึ้นช้าเข้าไปอีก ก็ยิ่งทำให้การสูญเสียโอกาสมีมากขึ้นเช่นกัน
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ในช่วงของการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในรอบนี้ หลายฝ่ายต่างส่งเสียงเรียกร้องกันเซ็งแซ่ เพื่อให้การเมืองเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างรวดเร็ว
ถ้ารัฐบาลใหม่เกิดขึ้นช้า นั่นเท่ากับว่า… ยิ่งเสี่ยงทำให้ต้นทุนของประชาชนคนไทยเพิ่มมากขึ้น!!
……………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo
สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)