คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะเป็นที่เรียบร้อยสำหรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ “ค่าเอฟที” งวดเดือนม.ค.-เม.ย.67 จำนวน 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ลดลงจากตัวเลขเดิมจะเคาะกันที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ตัวเลขค่าไฟเป็นทางการที่ 4.18 บาทต่อหน่วย มาจากปรับปรุงการคำนวณตามมาตรการลดค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.66 และมติครม.วันที่ 19 ธ.ค.66
ตัวเลขที่ลดลงมาจากไหน มาจาก 4 ส่วนดังนี้
1.ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสม สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 จำนวน 15,963 ล้านบาท แทนประชาชนไปพลางก่อน ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 25.37 สตางค์ต่อหน่วย
2.ราคาตลาดจรก๊าซธรรมชาติเหลว (Spot LNG) ลดลง จากที่ประมาณการไว้ที่ 16.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เหลือ 14.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ย (Pool Gas) ลดจาก 387 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 365 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้สามารถลดค่าเอฟทีลงได้ 9.98 สตางค์ต่อหน่วย
3.ปรับปรุง Pool Gas ซึ่งมาจากค่าเฉลี่ยราคาก๊าซฯอ่าวไทย ก๊าซฯจากเมียนมาและ LNG โดยให้กลุ่มปิโตรเคมีซื้อราคา Pool Gas จากเดิมได้สิทธิ์ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯเท่ากับก๊าซฯในอ่าวไทยตามนโยบายรัฐบาลในอดีตที่ต้องการเพิ่มมูลค่าก๊าซฯในอ่าว ดังนั้นเมื่อตัวหารเพิ่มเข้ามา ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 365 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 343 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 10.01 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนก๊าซฯที่ไปผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นก๊าซหุงต้มให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซฯเท่ากับราคาก๊าซฯอ่าวไทย
4.เรียกเก็บค่าปรับ (Shortfall) 4,300 ล้านบาท จากการที่ผู้ผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซฯในช่วงปี 2563-2565 ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 343 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 333 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าไฟลดลง 6 สตางค์ต่อหน่วย
ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ให้ตรึงอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 ที่อัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 งบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจากคณะรัฐมนตรี วงเงินรวม 1,950 ล้านบาท
เอาเข้าจริงแล้วปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญในงวดนี้มาจาก การขาดส่งก๊าซฯในอ่าวไทย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนสัมปทานผลิตก๊าซฯ “แหล่งเอราวัณ” จาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มาเป็น บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งประกาศแผนไว้ว่า จะผลิตก๊าซฯได้ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในกลางปี 66 จากนั้นจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในสิ้นปี 2566 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงเม.ย.67 ตามลำดับ แต่เมื่อถึงเวลาผลิตได้ไม่ถึงเหลือเพียง 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่งผลิตได้ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเมื่อเดือนก.ค.66 ส่วนผลิตเพิ่ม 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันก็ดีเลย์ออกไป 2 เดือนจากสิ้นปี 66 จนแล้วจนรอดปัจจุบันผลิตได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งค่าปรับจากการขาดส่งก๊าซฯหรือ shortfall 4,300 ล้านบาทถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับที่ต้องซื้อ LNG ราคาแพงมาใช้แทน มูลค่ารวมหลายหมื่นล้านบาท
หลายคนมองว่า เรื่องนี้รู้กันอยู่แล้ว ว่าเราต้องเผชิญกับเหตุการณ์ขาดส่งก๊าซฯในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนบริษัทรับสัมปทาน แต่ความผิดพลาดก็เกิดขึ้น เกิดตรงไหน??? ก็ตรงการเคลียร์ตัวเลขที่จะผลิตได้จริงๆ แล้วก็คาดการณ์ผิดแบบจะจงใจหรือไม่ก็ตาม ที่คิดว่าจะซื้อ LNG ราคาถูกๆ มาใช้แทนได้ ตอนนั้นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดในช่วงที่ผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณต่ำ เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนพอดิบพอดี ทำให้ LNG พุ่งไปถึง 50-60 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากราคาเฉลี่ย 30 ดอลลาร์ในตอนนั้น มาเทียบกับราคาตลาดจรตอนนี้อยู่ที่ 14 ดอลลาร์ เรียกว่าแพงหลายเท่าตัว
แต่ก็ด้วย นโยบายการเมือง ต้องกดให้ค่าไฟลดต่ำลงในรอบนี้ โดยใช้วิธีตึ๋งกฟผ.เป็นหลัก โดยเฉพาะค่า AF (Accumulated Factor) สะสมที่เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ก.ย.64 ถึงเม.ย.66 ยังไม่ครบดีตัวเลขชัดๆปาเข้าไป 135,297 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างระหว่างต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐที่เกิดขึ้นจริงกับค่าประมาณการค่าเอฟทีที่ กกพ. เห็นชอบให้เรียกเก็บ
ดังนั้นในอนาคตเมื่อค่าเชื้อเพลิงลดต่ำลง ก็จะต้องถูกเรียกคืนกัน ตอนนั้นเราๆ ก็จะไม่เห็นค่าไฟลดลงตามสถานการณ์จริงๆ เรื่องนี้ “คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ออกมาย้ำเองว่า ถึงแม้ว่าราคาค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.67 จะปรับลดลง แต่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในระยะต่อๆ ไปจะขึ้นกับราคาและปริมาณก๊าซฯที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก ดังนั้นยังคงต้องติดตามความสามารถของการส่งก๊าซฯจากอ่าวไทยและการส่งก๊าซฯจากแหล่งในเมียนมาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการจัดหา LNG เพิ่มเติมอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันราคาค่าไฟฟ้าคงต้องคำนึงถึงภาระเอฟทีคงค้างที่ต้องส่งคืน กฟผ. และ ปตท. ในระยะเวลาที่เหมาะสม
ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทรัพยากรใช้แล้วหมดไป ก๊าซฯในอ่าวก็จะลดลงไปเรื่อยๆ LNG ก็จะเข้ามาแทนที่เพิ่มไปเรื่อยๆเช่นกัน ซึ่งราคาผันผวนขึ้นลงตามสถานการณ์ จะหวังพึ่งผู้ประกอบจัดหาและนำส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากนโยบายเปิดเสรีนำเข้า เพื่อเอา LNG จากตลาดจรมาแข่งกันขายราคาถูกให้กับโรงไฟฟ้าประเทศคงยาก คงหวังได้แต่รัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท.ที่จะนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาวที่มั่นคงแน่นอนกว่า
แต่นั่นแหละของถูกจากอ่าวไทยนับวันจะร่อยหรอ ยังไงเสียเราต้องเจอกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นๆ ยากเหลือเกินที่จะได้เห็นค่าไฟฟ้าลดกลับมาที่ 3.7 บาทต่อหน่วยอย่างเก่าก่อน ฐานใหม่คงปาไปไม่ต่ำกว่า คือ 4.2-4.3 บาทต่อหน่วยเป็นแน่แท้
………………………
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย..“สายัญ สัญญา”