มากันอย่างต่อเนื่องสำหรับ มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.พ.67 ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ออกมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ทั้งรถโดยสารไฟฟ้า (E-Bus) และรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Truck)
โดยให้ สามารถหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งาน โดยไม่กำหนดเพดานราคาขั้นสูง กรณีซื้อรถที่ผลิต/ประกอบในประเทศ สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า กรณีนำเข้ารถสำเร็จรูปจากต่างประเทศ สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ไม่จำกัดจำนวนคันและราคา
ทั้งยังเห็นชอบให้ ปรับปรุงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 เช่น ขยายขอบเขตของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิให้ครอบคลุมรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และเพิ่มคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 3 kWh แต่มีระยะทางวิ่งมากกว่า 75 กิโลเมตรต่อรอบการชาร์จ รวมทั้งมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถเข้าร่วมมาตรการ EV3.5 ได้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากขึ้น
มาตรการรัฐที่ออกมาสนับสนุนอย่างถี่ยิบ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นตลาด “อีวี” ในประเทศโตก้าวกระโดด เห็นจากยอดจดทะเบียนรถยนต์อีวี ที่สูงถึงกว่า 76,000 คันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 6.5 เท่าจากปีก่อน ไม่นับรวมมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอีวี จำนวน 103 โครงการปี 66 เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท
นโยบายที่หนุน “อีวี” เต็มสูบ จนทำให้ “อีวี” โตแบบก้าวกระโดดอย่างนี้ คนขายเชื้อเพลิงชีวภาพก็มองตาปริบๆ บริษัท โกลบอลกรีน เคมีคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ผู้ผลิต B 100 รายใหญ่ เห็นว่า นโยบายรัฐบาลไม่ค่อยบาลานซ์ อยากให้รัฐมองมาที่ “ไบโอดีเซล” ด้วยเช่นกัน เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลได้กับเกษตรกรไทยโดยตรง แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.67 เป็นต้นไป การจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศจะเหลือเพียง 2 ชนิดคือ น้ำมันดีเซล B7 หรือ น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ซึ่งจะเป็นน้ำมันดีเซลหลักในการจำหน่าย และ น้ำมันดีเซล B20 ซึ่งจะเป็นน้ำมันทางเลือก แต่ก็อยากให้สนับสนุนให้จริงจังมากกว่านี้ โดยได้เสนอไปยัง “กระทรวงพลังงาน” ให้เพิ่มสัดส่วนการผสมเอทานอลลงไปในน้ำมันไบโอดีเซลจาก B7 ให้ทยอยเพิ่มจนถึง B30 เพราะเอาเข้าจริงแล้ว การโหมออกมาตรการสนันสนุนให้รถบรรทุกใหญ่ไปใช้อีวี ใช่ว่าจะได้เลย ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 3-5 ปี เพราะรถบรรทุกต้องใช้แบตเตอร์รี่จำนวนมาก ดังนั้นต้องอาศัย “ไบโอดีเซล” เข้ามาตอบโจทย์
“ปิยะ สุริย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพาณิชยกิจ GGC ระบุว่า การส่งเสริมอีวีสำหรับรถบรรทุกอาจจะเร็วไป ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านพอสมควร ควรสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลซึ่งประเทศไทยได้ประโยชน์ และส่งผลตรงต่อเกษตรกรไทย มีแต่ “วิน-วิน” กับประเทศ ส่วนการลดคาร์บอนก็ทำได้ เพราะเรามี “กรีนเมทานอล” ขณะที่อีวีตอนนี้ฐานการผลิตใหญ่อยู่ที่จีน
“เขา” บอกอย่างนี้สรุปได้ความว่า รัฐบาลควรหนุน “ไบโอดีเซล” อย่างจริงจังมากกว่านี้ เพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่กับประเทศ
แต่ตอนนี้เบรก “อีวี” ที่กำลังมาแรงคงจะยาก เพราะถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเสียแล้ว เมื่อ “อีวี” กำลังแทรกเข้ามาแทนที่ “น้ำมัน” ทำให้ยอดขาย B100 ไม่เติบโตมากมาย GGC ก็ต้องหาทางไปให้พร้อม โดยวางกลยุทธ์มุ่งไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มของน้ำมันปาล์ม ซึ่งตอนนี้ GGC เป็นผู้ใช้น้ำมันปาล์มรายใหญ่อยู่ 2 ล้านลิตรต่อปี ราว 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ เอาไปผลิตเมทิลเอสเตอร์ หรือ B100 ปริมาณ 300,000 ตัน แฟตตี้แอลกอฮอล์ 100,000 ตัน และกลีเซอรีนที่ 40,000 ตัน
โดยจะผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพมูลค่าสูง 3 โครงการด้วยกัน ได้แก่ 1.โครงการน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) นำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็นน้ำมันอากาศยานชีวภาพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งในภาพรวมไทยมีแผนจะบังคับใช้น้ำมันอากาศยานชีวภาพให้ได้ถึง 1% ในปี 2568 ซึ่ง GGC จะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในปีนั้น แต่ก็ต้องดูความพร้อมเป็นระยะ เพราะน้ำมันพืชใช้แล้วในประเทศไทยมีรวมๆกันแค่ 80,000 ตันแต่ GGC ต้องการถึง 20,000 ตัน จึงต้องทำเป็นเฟสๆ ไปก่อน เริ่มต้นจากการดัดแปลงอุปกรณ์ กำลังผลิต 400 ตันต่อเดือน จากนั้นจึงจะเริ่มสร้างโรงงานในระยะต่อไป
แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับ GGC เพราะความต้องการน้ำมันเครื่องบินทั้งหมด 15 ล้านลิตรต่อวัน สัดส่วน 1% ที่จะบังคับใช้ก็เท่ากับ 150,000 ลิตร และจะต้องเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นตามกติกาของโลก
นอกจากนี้ก็ยังมี 2.โครงการ ATJ (Alcohol-to-Jet) หรือ ต่อยอดผลิตภัณฑ์เอทานอลจากวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในปี 2573 และ 3.โครงการ Green Mathanol เป็นน้ำมันสำหรับเรือเดินสมุทร
ทั้ง 3 โครงการนอกจากจะเป็นการสร้างผลตอบแทนแล้ว ยังช่วยให้เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำของ GGC เป็นศูนย์ได้ในปีพ.ศ.2593 ด้วย
GGC ยังจะบุกธุรกิจใหม่อย่าง Food ingredients and Pharmaceutical ล่าสุดแตกออกมาเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้แบรนด์ “Nutralist” เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริม 2 ตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ Astaxanthin ช่วยเรื่องกล้ามเนื้อ และ Probiotic ช่วยเรื่องการย่อยอาหารตามเทรนด์สุขภาพ ตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้ไว้ที่ 10% ของ EBITDA หรือคิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท ภายในปี 2569 และภายในปี 2573 ธุรกิจใหม่ทั้งหมดของ GGC จะมีสัดส่วน EBITDA ถึง 50% เลยทีเดียว
ในปีนี้ “กฤษฎา ประเสริฐสุโข” กรรมการผู้จัดการ GGC เปรยว่า “ปีนี้อย่ากระพริบตาเลยทีเดียว เพราะจะแตกผลิตภัณฑ์ออกไปอีก เป็นเครื่องสำอาง โดยร่วมทุนกับพันธมิตรต่างชาติ และทำแบรนด์ใหม่ออกมาให้คนไทยใช้”
…ยุคการเปลี่ยนพลังงานต้องจับตากันเลยทีเดียว แต่ละอุตสาหกรรมผลิตสินค้ากันข้ามสาย ไม่จำกัดว่าจะเป็นสายพลังงาน แล้วจะไปทำเครื่องสำอางประทินผิวไม่ได้ หรือจะไปทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันไม่ได้ งานนี้อยู่ที่ต้นทุนใครถูกกว่าและทำตลาดได้ดีกว่า
สำคัญคือการทำผลิตภัณฑ์ที่ถึงตัว “ผู้บริโภค” จะช่วยสร้างการจดจำต่อ “แบรนด์” ได้มากกว่า “พลังงาน” เข้าทำนอง “ซอฟต์พาวเวอร์” นั่นเอง!!!
………………………..
คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน
โดย… ” สัญญา สายัน”
สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)