วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘พลังงานแสงอาทิตย์’ แหล่งพลังงานทางเลือกที่ไร้ขีดจำกัด
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘พลังงานแสงอาทิตย์’ แหล่งพลังงานทางเลือกที่ไร้ขีดจำกัด

Solar Energy: The Rise of Solar Power

การประยุกต์ใช้งานแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ของมนุษยชาติทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น .. ผู้คนสามารถเห็นหลักฐานบนหลังคาบ้าน สวนหลังบ้าน เหนือพื้นที่การเกษตร หลังคาอาคารโรงงานอุตสาหกรรม บนอ่างเก็บน้ำ และในทะเลทราย ..

หน่วยผลิตไฟฟ้าที่เป็นแผงโซล่าเซลล์แยกย่อย และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก รูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย .. มันได้กลายเป็นสัญญาณบ่งชี้ชัดเจนต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมันกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ..

Solar Rooftop with Battery Solutions | Photo Credit: Sharp Energy Solutions

พลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ Solar PV และ Heliostat Power Plant : Solar Power Tower เติบโตอย่างมีเสถียรภาพในปีที่ผ่านมา แม้จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากในภาคสาธารณูปโภคชดเชยการหดตัวเล็กน้อยในตลาดแบบกระจาย .. ความท้าทายทางเศรษฐกิจในสภาวะการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงดังกล่าวทำให้การใช้งาน Solar PV รูปแบบกระจายอาจชะลอลงไปบ้าง .. อย่างไรก็ตาม ตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยให้ภาพรวมการใช้เซลล์แสงอาทิตย์อย่างเดียว สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยมากกว่า 125 GW ต่อปี ..

ตั้งแต่ปี 2564-2568 คาดว่า การเติบโตจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องต่อไป จากการปรับเปลี่ยนนโยบายที่ราบรื่นของจีน .. การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเซลล์แสงอาทิตย์รูปแบบกระจาย และความชัดเจนของนโยบายในตลาดเกิดใหม่ เช่น ภูมิภาคอาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนการขยายตัวที่มั่นคงในประเด็นการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกทั่วโลกทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ .. ซึ่งมันคือการการเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานโลกไปสู่พลังงานสะอาดที่น่าตื่นเต้น ..

การขยายตัวของ Solar PV ทั่วโลกหลังปี 2565 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องด้วยความเร่ง เนื่องจากการสนับสนุนด้านนโยบายภาครัฐ และการลดต้นทุน .. กลุ่มเซลล์แสงอาทิตย์แบบกระจาย จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในช่วงปี 2566-2568 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และรวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนที่มีศักยภาพ ในการนำระบบเครือข่ายโรงไฟฟ้าแบบกระจาย Virtual Power Plant Network : VPP เชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย มาใช้เร็วขึ้น ศักยภาพที่สูงขึ้นสำหรับ Solar PV รวมทั้งโครงการปกติ งบประมาณ และแผนงานต่าง ๆ ที่ปรากฏในรายงานของ IEA ปัจจุบัน คาดหมายการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าต่อปีเฉลี่ยมากกว่า 165 GW ได้อย่างแน่นอน ในช่วงปี 2566-2568 ..

พลังงานแสงอาทิตย์ Solar Power สองรูปแบบ ..

Solar Radiation แสงแดด รังสีดวงอาทิตย์ คือ แสง หรือที่เรียกว่ารังสีแม่เหล็กไฟฟ้า Electromagnetic Radiation ซึ่งถูกปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ โดยตราบใดที่ดวงอาทิตย์ยังคงส่องแสงมายังโลกใบนี้ มันคือ แหล่งพลังงานทางเลือกที่ไร้ขีดจำกัด และแม้ว่าทุกสถานที่บนโลกส่วนใหญ่จะได้รับแสงแดดตลอดทั้งปี แต่ปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่มาถึงจุดใดจุดหนึ่งบนพื้นผิวโลกนั้น จะแตกต่างกันไป เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ จะเปลี่ยนมันในฐานะแหล่งพลังงาน ไปเป็นพลังงานรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ..

เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ มีสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ Solar Photovoltaics : PV และ ระบบพลังแสงอาทิตย์แบบเข้มข้น Concentrated Solar Power : CSP หรือ Heliostat ..

ระบบพลังแสงอาทิตย์แบบเข้มข้น Concentrated Solar Power : CSP ใช้เลนส์ หรือกระจก และระบบติดตาม เพื่อโฟกัสพื้นที่ขนาดใหญ่ของแสงแดดเป็นลำแสงเล็ก ๆ จี้ไปยัง Solar Power Tower .. ความร้อนจัดที่ได้จะเปลี่ยนให้เป็นพลังงานกลมาหมุนกังหันปั่นกระแสไฟฟ้า .. ในขณะที่ เซลล์สุริยะ เซลล์โฟโตวอลเทอิก หรือโซล่าเซลล์ Solar Cell จะแปลงแสงแดดเป็นกระแสไฟฟ้าโดยตรงด้วยกระบวนการ เอฟเฟกต์โฟโตโวลเทอิก Photovoltaic Effect ..

ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ Photovoltaics : PV ..

ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ใช้แผงโซล่าเซลล์ซึ่งแต่ละชุดประกอบด้วยเซลล์แสงอาทิตย์จำนวนหนึ่ง ซึ่งสร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดด การติดตั้ง Solar PV อาจเป็นแบบกราวด์ ติดบนดาดฟ้า ติดผนัง หรือลอยน้ำ และสามารถติดตั้งร่วมกับระบบติดตามแสงอาทิตย์ และระบบจัดเก็บพลังงาน เพื่อปรับติดตามดวงอาทิตย์บนท้องฟ้าเพื่อให้ระบบผลิตกำลังไฟฟ้าได้ประสิทธิภาพสูงสุดตลอดเวลาเมื่อมีแสงแดด หรือไม่มีแสงแดดก็ตาม

Solar Power on the Rise: Solar Rooftop | Photo Credit: pv Europe

เซลล์ไฟฟ้าโซ่ลาเซลล์ ถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำหรับการใช้งานขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตั้งแต่เครื่องคิดเลขที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ตัวเดียวไปจนถึงพื้นที่ห่างไกล หรือบ้านเรือนห่างไกลที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ Solar PV บนหลังคานอกระบบสายส่งแบบแยกเดี่ยว Stand Alone ..

ระบบเซลล์แสงอาทิตย์รูปแบบกระจาย ยังคงเติบโต โดยได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่แข็งแกร่งของแต่ละประเทศ .. ในหลาย ๆ ประเทศส่วนใหญ่ มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าราคาไฟฟ้าขายปลีกที่ผันแปรอยู่แล้ว ดังนั้น ความน่าสนใจทางเศรษฐกิจจึงขึ้นอยู่กับการเติบโตของระบบ Solar PV รูปแบบกระจาย ซึ่งสามารถนำร่องไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็วได้ในทศวรรษต่อ ๆ ไป ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ดึงดูดนักลงทุนเอกชนมากมาย สำหรับการลงทุนด้านพลังงานที่คุ้มค่า ซึ่งจะทำให้การกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดแบบแยกย่อย ราคาถูก ไปสู่ภาคประชาชน ชุมชน หมู่บ้านห่างไกล ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน โรงงาน ทั้งใน และนอกระบบสายส่งเดิม ในรูปแบบ Smart Grid และ Virtual Power Plant Network : VPP .. หมายถึงความมั่นคงทางพลังงาน และการลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในสังคม และชุมชนนั้น เป็นไปได้ ..

การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับแรงหนุนจากกำลังการผลิตใหม่ ๆ ในเวียดนามจาก 0.1 GW เป็น 5.4 GW .. กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งร่วมกันชดเชยการชะลอตัวในจีน ส่งผลให้มีการติดตั้ง Solar PV เป็นประวัติการณ์ด้วยกำลังผลิต 109 GW ได้รับการติดตั้งในปี 2562 ..

Solar PV ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงระดับ Sustainable Development Scenario SDS:  ภายในปี 2573 ซึ่งคาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 15 % ต่อปี จาก 720 TWh ในปี 2562 เป็นมากกว่า 3,300 TWh ในปี 2573 ..

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเข้มข้น Heliostat Power Plant ..

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเข้มข้นเชิงพาณิชย์ Heliostat Power Plant ได้รับการพัฒนาครั้งแรกใน ทศวรรษที่ 1980 .. หอพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Power Tower หรือที่เรียกว่า โรงไฟฟ้า ‘หอคอยกลาง Central Tower’ หรือ โรงไฟฟ้า ‘เฮลิโอสแตท Heliostat’ เป็นเตาพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดหนึ่งที่ใช้หอคอยเพื่อรับแสงอาทิตย์ที่โฟกัส มันใช้กระจกแบบแบนที่เคลื่อนย้ายได้ เรียกว่า Heliostats เพื่อโฟกัสรังสีดวงอาทิตย์ไปยังหอคอยเป้าหมายเพื่อสะสมความร้อนจากแสงอาทิตย์แบบเข้มข้น .. มันถูกมองว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาหนึ่งสำหรับแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ปราศจากมลภาวะ ..

Ashalim Power Station, A110 MW Concentrated Solar Power Plant in Israel’s Negev Desert | Photo Credit:  Ars Technica Addendum

การออกแบบในยุคแรกใช้รังสีรวมแสงมุ่งเพื่อทำให้น้ำร้อนเดือด และใช้ไอน้ำที่เกิดขึ้นไปขับเคลื่อนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า .. ปัจจุบันมีการใช้รูปแบบใหม่ ๆ โดยใช้โซเดียมเหลว กับระบบที่ใช้เกลือหลอมเหลว โพแทสเซียมไนเตรด Potassium Nitrate 40% Sodium Nitrate 60% ซึ่งเป็นของเหลวที่ใช้งานได้ดีในขณะนี้ .. ของเหลวที่ใช้ในการทำงานเหล่านี้ มีความจุความร้อนสูง สามารถใช้เพื่อกักเก็บพลังงานความร้อน Heat Storage ก่อนที่จะใช้ต้มน้ำเพื่อขับเคลื่อนกังหันผลิตไฟฟ้า การออกแบบเหล่านี้ ยังช่วยให้สามารถสร้างพลังงานไฟฟ้าได้เมื่อดวงอาทิตย์ไม่ส่องแสงอีกด้วย ..

อิสราเอล เป็นผู้นำการเติบโต Concentrated Solar Power ด้วยโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์กำลังผลิต 230 MW .. จีนเป็นอันดับสองด้วย 200 MW และแอฟริกาใต้ อันดับสามด้วย 100 MW นอกจากนี้กำลังดำเนินการ 50 MW ในคูเวต

การสร้าง Concentrated Solar Power : CSP เพิ่มขึ้น 34 % ในปี 2562 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 24% ต่อปี สำหรับปี 2554-2561 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม IEA คาดหมายว่า การขยายกำลังการผลิตต่อปี จะสูงถึง 8 GW ต่อปีภายในปี 2573 ซึ่งสูงกว่าระดับปัจจุบันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Scenario : SDS ..

การเติบโตของกำลังการผลิต CSP คาดว่าส่วนใหญ่จะมาจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีนโมร็อกโก และแอฟริกาใต้ ซึ่งคาดว่าโรงงานที่ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีชั่วโมงการรับแสงแดดนานกว่าจะเข้าสู่ระบบออนไลน์ต่อเนื่อง แม้ว่าจีนจะเปิดตัวเป้าหมาย 5 GW ด้วยโครงการนำร่องหลายโครงการ แต่การติดตั้งใช้งานได้ล่าช้าออกไป .. ปัจจุบัน มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเข้มข้นเชิงพาณิชย์ Heliostat Power Plant มากกว่า 25 แห่งทั่วโลก และโรงไฟฟ้า Atacama-1 กำลังผลิตขนาด 110 MW อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ณ ประเทศชิลี คาดจะแล้วเสร็จในปลายปี ..

จนถึงปัจจุบัน การติดตั้ง Ivanpah กำลังผลิต 392 MW ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2557 ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รูปแบบ Concentrated Solar Power : CSP ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้ามากที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในทะเลทรายโมฮาวี แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ..

พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ..

พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยตั้งเป้าไว้ที่ 6,000 MW ภายในปี 2579 .. ในปี 2556 ปี กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ติดตั้งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเทียบกับปีก่อนหน้านี้ โดยกำลังผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์พุ่งขึ้นสูงถึง 704 MW ในปีเดียว .. และจนถึง ณ สิ้นปี 2558 ด้วยกำลังการผลิตรวม 2,500-2,800 MW .. ประเทศไทย มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกัน ..

Solar Rooftop การติดตั้งโซล่ารูฟท็อปของอาสาสมัคร Solar Generation เมื่อ ก.ย.2563 | By EGAT / Greenpeace Thailand

ประเทศไทยมีศักยภาพในการรับแสงอาทิตย์มากโดยเฉพาะภาคใต้ ตอนเหนือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดอุดรธานี และบางพื้นที่ในภาคกลาง ประมาณ 14.3% ของประเทศมีการเปิดรับแสงอาทิตย์ทุกวันประมาณ 19-20 MJ / m2 / วันในขณะที่อีก 50% ของประเทศได้รับประมาณ 18-19 MJ / m2 / วัน ในแง่ของศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ประเทศไทยนั้น อาจน้อยกว่าในสหรัฐฯ แต่นำหน้าญี่ปุ่น ..

ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของไทย มีส่วนแบ่งมากกว่า 3 GW ซึ่งเป็นกำลังการผลิตมากกว่า 60% ของกำลังการผลิตที่ติดตั้งทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน ตามด้วยฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ .. ในมุมมองนี้ Shady Germany ได้ติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 40+ GW .. โควต้าพลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย ซึ่งหมายถึง พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวล จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2580 หรือก่อนหน้านี้ .. ปัจจุบัน พลังงานแสงอาทิตย์จากครัวเรือน และชุมชน กำลังจะเป็นแหล่งพลังงานหลักภายใต้ แผนงานพัฒนาพลังงานทางเลือก AEDP ของประเทศ ..

พลังงานแสงอาทิตย์ กับเครือข่ายโรงไฟฟ้าแบบกระจาย Virtual Power Plant Network ..

Solar PV และเครือข่ายของหน่วยผลิตไฟฟ้าขนาดกลาง และขนาดเล็กแบบกระจาย พร้อมระบบจัดเก็บพลังงาน กำลังจะกลายรูปแบบใหม่ธุรกิจพลังงาน สู่ชุมชน และท้องถิ่น ที่ดึงดูดนักลงทุนอย่างยิ่ง ..

ประเด็นการผูกขาดระบบสายส่ง กำลังจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในการถกเถียงกันจากนี้ไป เพราะมันอาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมกระจายการควบคุม การกระจายการปฏิบัติ และการวางเครือข่าย VPP โดยบริษัทเอกชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่นิติบุคคลใด ๆ เช่น ส่วนราชการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ดังนั้น การผูกขาดรวมศูนย์ระบบสายส่ง อาจต้องถูกปลดล็อคไปในที่สุด ..’

เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเมื่อระบบเซลล์แสงอาทิตย์แบบกระจาย สามารถเชื่อมต่อผูกกันไว้เป็นเครือข่ายโรงไฟฟ้าเสมือนจริง Virtual Power Plant Network ได้ รวมทั้งมันหมายถึงการกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าหน่วยย่อยขนาดเล็กหลาย ๆ แหล่งกระจายกันอยู่ทั่วเมือง และในชุมชน แต่สามารถผนึกกำลังการผลิต และแสดงบทบาทเหมือนเช่นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หนึ่งเดียวได้ .. ระบบจัดเก็บพลังงานขนาดใหญ่ Utility Scale Energy Storage หรือระบบจัดเก็บพลังงานความร้อน Heat Storage

ในกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รูปแบบ Concentrated Solar Power : CSP กลายเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้เช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้งานอยู่นั้น สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งในห้วงเวลากลางคืน หรือช่วงเวลาที่ไม่มีแสงแดด ด้วยการใช้ค่าระยะเวลาที่เป็นเกณฑ์ปัจจัยการผลิตของแผงโซล่าเซลล์รับแสงแดดเฉลี่ย 6 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเกณฑ์ในการคำนวณขนาด จำนวน และความต้องการของ Solar PV Module พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ..

ยิ่งไปกว่านั้น หากภาครัฐปลดล็อคการผูกขาดรวมศูนย์ระบบสายส่งได้สำเร็จ ก็จะส่งผลให้เกิดการลงทุนอย่างมหาศาลของบริษัทเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้แต่นิติบุคคลที่เป็นส่วนราชการที่มีศักยภาพ ในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาด้านพลังงานของชาติให้แก่ชุมชน ท้องถิ่น ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบ Smart Grid หรือ Smart Micro Grid รวมทั้ง เครือข่ายโรงไฟฟ้าเสมือนจริงแบบกระจาย VPP และระบบจัดเก็บพลังงาน Energy Storage ทั้งที่เชื่อมต่อระบบสายส่ง และระบบแยกเดี่ยว Stand Alone นอกระบบสายส่ง ..

หมายถึงตัวบ่งชี้ การขยายตัวของแหล่งพลังงาน Solar PV ตั้งแต่บนหลังคาบ้าน สวนหลังบ้าน อาคารพาณิชย์ ชุมชนที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ หน่วยทหาร สถานีตำรวจ เหนือพื้นที่การเกษตร ไปจนถึง Solar Farm หรือ CSP ขนาดใหญ่ ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นอีกด้วยความเร่ง สามารถทะยานขึ้นท้าทายบทบาทหลักด้านพลังงานปัจจุบันของแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็น น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ได้ในที่สุด ..

เทคโนโลยี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีราคาต้นทุนลดลง .. Solar PV โซล่าเซลล์ และระบบจัดเก็บพลังงาน ระบบจัดเก็บพลังงานความร้อน การจัดการดิจิตอล ทำให้เกิดรูปแบบการผลิตไฟฟ้าแบบใหม่ ๆ .. สำหรับในประเทศไทย การประยุกต์ใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีความเหมาะสม .. ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมชั้นแนวหน้า มีน้ำฝนตกใส่ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีแสงแดดสุดยอดเฉลี่ยมากกว่า 1,825 ชั่วโมงต่อปี และอุณหภูมิผิวพื้นดินและน้ำเฉลี่ย 25-30 องศา C เหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์อย่างยิ่ง ..

ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความพร้อมในการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกอย่างเหลือเฟือ โดยเฉพาะที่เป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และรวมถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจ ลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ สร้างขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของชาติ และรักษ์โลกของเรามากขึ้นนั่นเอง ..

สรุปส่งท้าย ..

ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ถูกสร้างขึ้นผ่านระบบโซล่าเซลล์ ซึ่งแผงผลิตไฟฟ้าผ่านการสัมผัสกับแสงแดด กระแสไฟฟ้านี้ถูกแปลงจากไฟฟ้ากระแสตรง DC ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ AC และจ่ายกลับไปที่กริดไฟฟ้า  ระบบสายส่ง หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลัง .. มันเป็นที่นิยมมาก และเติบโตขึ้นด้วยความเร่งอย่างมั่นคง ..

นโยบายภาครัฐของประเทศไทยเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ชัดเจน และกำลังได้รับปรับปรุงให้ดีขึ้นอีก .. พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ มันไร้ขีดจำกัด และเป็นแหล่งพลังงานสีเขียวทดแทนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาโดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต่อเนื่อง .. ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์เปิดกว้างสำหรับการลงทุนภาคเอกชน .. การดำเนินงาน และนวัตกรรม รวมถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับโซล่ารูฟท็อป Solar Rooftop ล่าสุด ได้ช่วยส่งเสริมการผลิตในประเทศ และการซื้อขายไฟฟ้าของเอกชน โดยเฉพาะในชุมชน ที่อยู่อาศัย อาคารอุตสาหกรรม และอาคารพาณิชย์ ..

พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นคุณลักษณะสำคัญในแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 ซึ่งกำหนดเป้าหมายในการใช้แหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสีเขียว 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2579 ..

การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคอุตสาหกรรม และบริการของประเทศไทย .. การติดตั้งโซล่ารูฟท็อป เป็นส่วนหนึ่งของข้อไข และคำตอบของการนำพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดที่สามารถลดต้นทุนการดำเนินงาน ในขณะเดียวกัน ก็มีส่วนช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และรักษ์โลกมากขึ้นด้วย ..

ด้วยการติดตั้งแผงโซล่ารูฟท็อป Solar Rooftop ในอาคารอุตสาหกรรม และอาคารพาณิชย์ ทำให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นผิวที่ใหญ่ขึ้น เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดด ส่งพลังงานส่วนเกินกลับไปที่กริดไฟฟ้า .. ทั้งนี้ อาคารอื่น ๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยาน ท่ารถ ที่จอดรถ และผู้ที่อยู่ในภาคค้าปลีก ภาคบริการ ที่มีพื้นที่หลังคาขนาดใหญ่ สามารถติดตั้งแผงโซล่ารูฟท็อป Solar Rooftop เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี ..

ภาพรวมตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย คาดว่าจะเติบโตที่ CAGR ที่ 9.14% ในช่วงคาดการณ์ปี  2562-2567 ปัจจัยต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนจากรัฐบาลที่แข็งแกร่ง สำหรับการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบของแผนพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก AEDP และการลดต้นทุนของระบบ Solar PV คาดว่าจะผลักดันตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยให้เติบโตต่อเนื่องได้ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้า และระบบสายส่ง

คาดว่าจะยับยั้งผู้ประกอบการจากการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนในช่วงเวลาที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน หมายถึง การผูกขาดระบบสายส่งของภาครัฐ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน ในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ .. ซึ่งผู้สันทัดกรณีด้านกิจการพลังงานทั้งหลาย ยืนยันว่า การปลดล็อคการผูกขาดระบบสายส่งของภาครัฐ เป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ เพื่อยกระดับความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ..

ประสบการณ์ผลจากการปลดล็อคการผูกขาดการผลิตไฟฟ้าของภาครัฐ และเปิดกว้างให้เอกชนสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ชุมชนได้ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาของไทยนั้น ทำให้สังคมไทยได้เห็นตัวอย่างการเติบโตของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของภาคเอกชนอย่างชัดเจน และเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างมาก

เช่น การลงทุนของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ Energy Absolute : EA บริษัทเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจพลังงาน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างน้อย 4 แห่ง ที่จังหวัดลพบุรี กำลังผลิต 8 MW AC / 9.33 MW DC จังหวัดนครสวรรค์ กำลังผลิต 90 MW AC / 126 MW DC จังหวัดลำปาง กำลังผลิต 90 MW AC / 128.369 MW DC และจังหวัดพิษณุโลก กำลังผลิต 90 MW AC / 133.92 MW DC เป็นต้น

และยังมีแผนการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน อีกหลายแห่ง หลากหลายรูปแบบ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 3 แห่ง กำลังการผลิตรวม 126 MW กับโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล-ขยะ อีกด้วย .. ทั้งนี้ EA ยังลงทุนเกี่ยวกับระบบจัดเก็บพลังงาน เพื่อให้การผลิต Lithium Ion Batteries เกิดขึ้นในประเทศไทย หมายถึงการลดต้นทุนในภาคการผลิต ทำให้ระบบจ่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีความเสถียรด้วยต้นทุนที่ลดลง รวมทั้ง EA ยังมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานสะอาดจากแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ให้มากที่สุด ..

ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการโซล่าลอยน้ำ Floatovoltaics จำนวน 4 โรงงานของ EA และ TFG เมื่อเร็ว ๆ นี้ นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ก้าวสำคัญของไทยในการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกโดยบริษัทเอกชนไทย ซึ่งในอนาคต ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน ด้านกิจการพลังงาน จะนำไปสู่การปรับตัวรองรับ Energy Transformation ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีแผนงานต่าง ๆ สอดคล้องกัน และมันได้กลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย ซึ่งจะทำให้การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของชาติในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ด้วยต้นทุนพลังงานที่ต่ำกว่านั้น เป็นไปได้ ..

Floatovoltaics in Thailand, โซล่าเซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร | Photo Credit: กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม หากเมื่อ พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน กำลังถูกเลือกให้แสดงบทบาทนำในภาคผลิตไฟฟ้าโลก กลายเป็นจริง และการที่สัดส่วนการใช้แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ จะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นท้าทายแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ได้นั้น ประเด็นหลัก ๆ ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด Solar PV Module นั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ต้นทุน Solar PV และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่อง จะต้องให้มีราคาลดลงกว่านี้อีก มันจะยังคงแพงเกินไปไม่ได้ เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ลดลงต่ำกว่า หรือใกล้เคียง ค่าไฟฟ้าจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้ ซึ่งก็น่าจะอีกไม่นานนัก ..

ประการที่ 2 ได้แก่ การพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงาน และการผลิต Lithium Ion Batteries ในประเทศ ซึ่งนอกจากจะสามารถควบคุมต้นทุนของทั้งระบบได้แล้ว ยังจะช่วยแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ ของแหล่งพลังงานแปรผัน หมายถึง แสงแดดไม่ได้มีอยู่ตลอดทั้งวัน ลมไม่ได้พัดแรงเสมอ และหน้าแล้งก็อาจไม่มีน้ำไหลผ่านกังหันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อน เป็นต้น ..

ระบบจัดเก็บพลังงาน และการวางเครือข่ายโรงไฟฟ้าแบบกระจาย Virtual Power Plant Network เชื่อมต่อกันด้วยรูปแบบ Smart Grid จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ต้องคำนึงถึงในการวางระบบ Solar PV แบบกระจายไปพร้อมด้วย และประการสุดท้าย การปลดล็อคการผูกขาดระบบสายส่งของภาครัฐ เป็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด มิฉะนั้น การเติบโตของแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน ในประเทศไทย จะพบกับอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถขยายตัวด้วยความเร่งตามแผนงานของภาครัฐเองได้ ..

………………………………..

คอลัมน์ Energy Key

By โลกสีฟ้า ..

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

ขอบคุณเอกสารอ้างอิง :-

Solar | By IEA

Solar PV | By IEA Report 2020

Renewable Energy Market Update Outlook for 2020 and 2021

Utility-Scale Solar Photovoltaic Power Plants .. By IFC International Finance Corporation :-

Solar Paces | IEA :-

How PV Solar Plants Work? A Beginners Guide | Solar DAO

Seven opportunities in Thailand’s Solar Energy: Outlook 2021 :-

Concentrating Solar – Thermal Power | Department of Energy

Solar thermal power plant | Energy Education

‘พลังงานทดแทน’กำลังถูกเลือกให้แสดงบทบาทนำในภาคผลิตไฟฟ้าโลก

Floatovoltaics บนแหล่งน้ำ ภูมิทัศน์พลังงานที่เปลี่ยนไป | The Key News :-

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img