กลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลกโซลเชียลในชั่วพริบตาหลังเพจ “Soul4Street” เพจดังที่จะคอยอัพเดทข่าวสารในวงการสตรีทแฟชั่น ได้ออกมาเปิดเผยคอลเลคชั่นใหม่ล่าสุดของ Supreme แบรนด์สตรีทแฟชั่นชื่อดังว่า Supreme เตรียมวางจำหน่ายในคอลเลคชั่น SS21
โดยคอลเลคชั่นใหม่ล่าสุด Spring/Summer 2021 ซึ่ง ครีเอตแจ๊กเก็ต Blessings Ripstop Shirts มีลวดลายปัก “ยันต์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” รุ่น มงคลปริสุทโธ (2536) สีเหลืองโดดเด่นสะดุดตา โดยมีให้เลือกด้วยกันถึง 3 สี ได้แก่ สีดำ ลายพราง และ สีน้ำเงิน เป็นการคอลแลปแฟชั่นกับความเชื่อจนสร้างความฮือฮา
น่าสนใจเมื่อศรัทธาและความเชื่อกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัย และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์สตรีท Supreme สร้างสรรค์แฟชันไอเทมจากศรัทธาความเชื่อเครื่องรางของขลัง ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อน Supreme หยิบยกศาสนาพราหม์นำภาพเคารพของเทพฮินดู เช่น พระศิวะ พระพิฆเนศ ฯลฯ มาสกรีนลายลงบนแจ๊กเก็ต รวมทั้ง พวงกุญแจรูปพระพิฆเนศ จนสร้างความฮือฮาในวงการแฟชั่นมาแล้ว

การที่ Supreme เลือกหยิบผ้ายันต์หลวงพ่อคูณมาเป็นคอเล็คชั่น อาจจะมองเห็นโอกาสทางการตลาดสามารถขายความศรัทธาได้ จะว่าไปแล้วบริษัทระดับนี้ คงจะมีการวิจัยตลาดมาเป็นอย่างดี และรู้ว่า หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หรือ พระเทพวิทยาคม อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา นั้นได้รับฉายาจากเหล่าลูกศิษย์ที่ยกย่องให้เป็น “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด” เป็นที่เคารพศรัทธาไม่เฉพาะคนโคราชแต่เป็นที่เคารพศรัทธาของคนไทยทั้งประเทศ
ความศรัทธาคุณความดีที่หลวงพ่อคูณนำเงินทั้งหมดที่ได้จากการประกอบพิธีสร้างวัตถุมงคล หรือการบริจาคจากลูกศิษย์ไปบริจาคต่อ เพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ ทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน และถนนหนทาง ฯลฯ

แต่เรื่องนี้เกิดประเด็นดรามา เมื่อมีผู้ออกมาว่า “ยันต์หลวงพ่อคูณ” ไม่ได้จดลิขลิทธิ์ทางการค้า ดังนั้น การที่แบรนด์สตรีทแฟชั่น Supreme นำลวดลายมาสร้างสรรค์แจ็กเก็ตนั้น น่าจะทำได้ จะเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยมารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติ ภาพวัตถุมงคล รูปพระสงฆ์ที่มีคนศรัทธาจำนวนมาก เช่น หลวงพ่อคูณ ควรจะต้องได้รับการอนุญาตจากทางวัดต้นสังกัดเสียก่อน
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาให้ข้อมูลว่าตามกฎหมายลิขสิทธิ์ รูปหลวงพ่อคูณที่ปรากฏในผ้ายันต์ ถือเป็นงานศิลปกรรม ซึ่งจัดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทหนึ่ง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันที เมื่อสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้น ซึ่งกฎหมายจะให้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณะ หรืออนุญาตให้ผู้อื่นนำงานไปใช้ประโยชน์ เป็นต้น
ดังนั้น การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต อาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมเดียวในโลกที่ “เครื่องราง” กลายไปเป็น “สินค้า” ที่มีมูลค่าสูง ที่สำคัญ “เครื่องราง” ในสังคมไทยได้ยกระดับเป็น “อุตสาหกรรม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ มีการประเมินว่าจำนวนเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมเครื่องรางของไทยมีไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.5% ของ GDP เลยทีเดียว

นอกจากนี้ในงานวิจัย Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า คนไทยกว่า 52 ล้านคนในปัจจุบันมีความเชื่อเรื่องโชคลาง ทั้งการพยากรณ์ โหราศาสตร์ ดูลายมือ ไพ่ยิปซี การบูชาพระเครื่องวัตถุมงคล ใส่เสื้อผ้าสีมงคล แสวงหาตัวเลขมงคล และเรื่องเหนือธรรมชาติ

จึงไม่แปลกที่บริษัทฝรั่งจะเห็นช่องว่างทางการตลาดแม้ขณะนี้บนหน้าเว็บไซต์ Supreme ยังไม่ได้ระบุราคา แต่เชื่อว่ากลยุทธ์ที่ Supreme จะใช้คือการออกเป็น “รุ่นลิมิเต็ด” ถูกออกแบบอย่างจำกัดจำนวน เสื้อประเภทนี้คนซื้อจะมีสองกลุ่มคือกลุ่มแรกซื้อเพราะอยากได้อีกกลุ่มคือ ผู้ซื้อแบบซื้อเพื่อนำไป “ขายต่อ” ซึ่งในส่วนของกลุ่มหลังนี้ มักจะเก็งกำไรได้สูงบางรุ่นตัวละเป็นแสนก็มี
เมื่อสินค้าผลิตอย่างจำกัดบวกกับความเชื่อและความศรัทธาที่คนไทยมีต่อหลวงพ่อคูณ ยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่ชี้ชัดว่า Supreme มองทะลุว่า เสื้อรุ่นนี้สร้างมูลค่าได้มากขนาดไหน
…………………………..
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”
