ปิดฉากรูดม่านละครโรงใหญ่อภิปรายทั่วไป รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้ว พบยุคลองโควิด-19 ตะกอนความเหลื่อมล้ำถี่ห่างมากขึ้น
เป็นโจทย์ที่ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และฝ่ายการเมือง ควรช่วยกันขยี้ เพื่อแก้ไขก่อนสายเกินเยียวยา กลายเป็นวิกฤติสังคม
เอาเฉพาะแค่การแก้ปัญหาสินค้าแพงทั้งแผ่นดิน สดับตรับรับฟังจากผู้มีอำนาจ สะท้อนว่า ใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล มักแก้ผ้าเอาหน้ารอด โดยขอความร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ เบรกหรือชะลอขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือรากหญ้า
แสดงให้เห็นว่า “รากหญ้า” ไร้พลังทางเศรษฐกิจต่อรองกับ “ทุนใหญ่” เพราะทุนใหญ่ดูดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจากรากหญ้า ผ่านการกำหนดนโยบายของฝ่ายการเมืองมาตลอดชั่วนาตาปี
มาถึงขั้นนี้ มันบอกได้ว่า ขั้วการเมืองไหนขึ้นมาเสวยอำนาจ ต่างมีนโยบายเอื้อต่อทุนใหญ่ และโยนเศษนโยบายให้รากหญ้า หนี้ครัวเรือนขยับสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์
การโยนหรือเนรมิตก้อนเค้กแห่งผลประโยชน์ให้ “ทุนใหญ่” ย่อมได้ผลตอบแทนสมน้ำสมเนื้อ ไม่แปลกใจที่ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สิน “บิ๊กข้าราชการ-นายพล-นักการเมือง” ร่ำรวยระดับร้อยล้านบาทมีให้เห็นเกลื่อนกลาด
“แกะรอย…โกงหรือเก่ง” เป็นหัวข้อที่ ดร.มานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ข้องใจถึงความอู่ฟู่ของเหล่าผู้มีอำนาจ
พร้อมออกแบบเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชัน โดยพัฒนาเทคโนโลยี ระบบเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้ง่ายสำหรับหลายหน่วยงานใช้ประโยชน์ และจัดให้มีระบบแจ้งเตือนจากกรมจัดเก็บภาษี ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อพบสิ่งผิดปกติ
รวมถึงออกแบบมาตรการทางภาษี ที่เปิดให้หน่วยงานตรวจสอบต่างๆ เข้าใช้งานได้ชนิดข้อมูลไหลปรื๊ด เพราะทุกคนต้องยื่นชำระภาษีรายได้ต่อกรรมสรรพากรเป็นประจำอยู่แล้ว
มาตรการนี้ไม่ได้เพิ่มภาระให้แก่ฝ่ายใด ที่สำคัญสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่ใช้ประโยชน์ ระหว่างหน่วยงานอย่างน้อย ป.ป.ช.ที่พึ่งพากรมสรรพากร แต่ป.ป.ช.ไม่มีมาตรการทางภาษี หากตรวจพบสิ่งผิดปกติก็ส่งเรื่องให้สรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีว่ามีรายการนั้นอยู่จริงหรือไม่
เช่นเดียวกัน หากกรมสรรพากรตรวจพบเองว่า นักการเมือง บิ๊กข้าราชการ นายพล รายได้มีความผิดปกติก็แจ้งป.ป.ช.ให้ตรวจสอบที่มาที่ไหน
ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อตรวจสอบการยื่นบัญชีทรัพย์สินถูกต้องแค่ไหน โดยเอกซเรย์ข้อมูลการยื่นชำระภาษีเงินได้จากธุรกิจนั้นและข้อมูลการยื่นภาษีเงินย้อนหลัง 3-5 ปี
จุดนี้ย่อมพิสูจน์ความจริงสมกับฐานะและรายได้ ตามที่ปรากฏในการเสียภาษีหรือไม่ แถมมาตรการทางภาษียังเป็นเข็มทิศชี้ช่องว่า ทรัพย์สินศฤงคารได้มาจากไหน
อีกมาตรการที่ควรเพิ่มและเริ่มช่วงพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 โดยรัฐบาลและรัฐสภา เป็นเจ้าภาพ กวักมือ ป.ป.ช. เข้ามาสังเกต การหั่นก้อนเค้กแห่งผลประโยชน์ของแผ่นดิน ในชั้นกมธ.สามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ
เชื่อว่าการเชื่อมโยงข้อมูลด้านภาษี เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบย้อนหลังได้ตลอด 24 ชั่วโมง และป.ป.ช.เข้าสังเกตการณ์ในชั้นกมธ. ย่อมเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ตีกรอบให้ “บิ๊กราชการ-นายพล-นักการเมือง” ออกนโยบายและจัดสรรงบประมาณให้รากหญ้าเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
ถึงเวลาที่รัฐบาลและนักการเมืองทั้ง 2 ขั้วจริงใจปฏิรูปการเมือง โดยเริ่มจากตัวเอง ไม่เช่นนั้นหลังเลือกตั้ง “พรรคเพื่อไทย” ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็ย่อมถูกตีตราออกนโยบายเอื้อนายทุนเหมือนกัน
ประเทศไทยวนลูปเดิม ไม่เคลื่อนไปข้างหน้าถ้านักการเมืองยังเห็นแก่ตัว
…………………………….
คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก
โดย #ราษฎรเต็มขั้น