วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEเมื่อ“สีกากี”ย่ำยี“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” จี้“กวาดขยะซุกใต้พรม”ที่“จว.สระแก้ว”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เมื่อ“สีกากี”ย่ำยี“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” จี้“กวาดขยะซุกใต้พรม”ที่“จว.สระแก้ว”

กลายเป็นประเด็นใหญ่โตในสังคม เพราะนอกจากพฤติกรรมอันเลวทรามของ “กลุ่มเยาวชน 5 คน” ที่เรียกว่า “แก๊งลูกตำรวจ” ไปก่อคดีฆาตกรรมหญิงสติไม่ดี ด้วยการบีบคอ จับกดน้ำ ทิ้งศพอำพรางอย่างโหดเหี้ยม

แต่เบื้องหลังความอหังการของวัยรุ่นกลุ่มนี้ นอกจากต้องโทษไปยังครอบครัว ที่ไม่สอดส่องดูแลบุตรหลานแล้ว ยังมี “พฤติกรรมของกลุ่มสีกากีชุดคลี่คลายคดี” ที่ถูกขุดคุ้ยพฤติกรรมฉาวออกมาอย่างต่อเนื่อง

ไล่เรียงตั้งแต่ข้อครหา ในการจับสามีหญิงสติไม่ดี ที่เป็น “ชายขี้เมา” มาจัดฉาก บังคับให้รับสารภาพ และสุดท้าย ต้องรีบกลับลำ อ้างว่าได้หลักฐานวงจรปิด ที่จับภาพเยาวชนขณะก่อเหตุไว้ได้ เลยต้องรีบทำหนังสือขอปล่อยตัว “ชายขี้เมา” ไปที่ศาล กลายเป็นถูกขังฟรีๆ ไปเกือบ 2 วัน

หนำซ้ำ ยังมี “คลิปเสียง” หลุดออกมา เรื่องการขู่เข็ญบังคับให้ “ชายขี้เมา” รับสารภาพ ทั้งการขู่นำถุงไปวางไว้บนหัว หรือบังคับให้ถอดเสื้อ กลายเป็น “ความหายนะ” ระลอกสอง ทำให้ “องค์กรสีกากี” เริ่มระส่ำ

“สมชาย หอมลออ” กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เปิดเผยว่า การเชิญตัวหรือให้มอบตัว ในพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ในคดีการเสียชีวิตของ “หญิงสติไม่ดี” หากตำรวจไม่บันทึกภาพและเสียงด้วยภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้อง Body Cam ตามมาตรา 22 ในพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหาย ขณะควบคุมตัว โดยอ้างว่า ไม่ได้บังคับเพราะผู้ต้องสงสัยคือ “ชายขี้เมา” เต็มใจมอบตัวกับตำรวจนั้น

ในกรณีนี้ต้องดูพฤติกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้จะอ้างว่าเชิญตัว แต่หากผู้ถูกเชิญตัวไม่ไป หรือไม่ให้ความร่วมมือ ตำรวจจะใช้กำลัง ก็ถือว่าเป็นการควบคุมตัวแล้ว

หรือถ้าผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเข้าใจว่า ถ้าตำรวจบอกให้ไป ตัวเองต้องไป มิเช่นนั้น เจ้าหน้าที่จะใช้กำลังบังคับ ก็หมายถึงเป็นการจับกุมหรือควบคุมตัวเช่นกัน จึงต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลา ตามพ.ร.บ.อุ้มหายฯ

สมชาย หอมลออ

ดังนั้น ถ้าตำรวจอ้างว่าเป็นการเชิญตัว “ชายขี้เมา” มาสอบปากคำ และเป็นการมามอบตัวเอง จึงไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้อง Body Cam ทางผู้บังคับบัญชาต้องสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอบสวนผู้ที่เห็นเหตุการณ์

เช่นเดียวกับคลิปเสียง ที่มีการพูดถึงการใช้ถุงดำคลุมหัว “ชายขี้เมา” ทาง “สมชาย หอมลออ” ได้บอกว่า “อยากจะถามว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นเพื่อนเล่นของตำรวจหรือยังไง ถึงเล่นกันโดยขู่นำถุงดำมาคลุมหัวเล่นกับเขา”

โดยพฤติกรรมถ้าฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในสภาพผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิด แล้วตำรวจกำลังสอบปากคำ เอาถุงดำมาคลุม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ประเด็นที่สองน่าจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคนที่ถูกถุงดำคลุมขณะอยู่ในภาวะเช่นนั้น ต้องมีความรู้สึกตกใจอย่างมากจนแทบสิ้นสติ น่ามีความรู้สึก หวาดกลัวอย่างสุดขีด

ส่วนกรณีที่มีประเด็นอ้างว่า ตำรวจถอดเสื้อลุงเปี๊ยก ระหว่างอยู่ในห้องสอบปากคำให้อยู่ในที่แอร์เย็นมองว่าในส่วนนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและเป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีเช่นกัน โดยอาจไม่ถึงขั้นทรมาน

“สมชาย” ทิ้งท้ายว่า หากตำรวจมีพฤติกรรมแบบที่ปรากฏเป็นข่าวจริง คือการทำความผิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและระดับสากล รวมถึงเป็นการกระทำที่ชี้ชัดว่าผิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหาย เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การสั่งย้าย แต่ควรสั่งพักราชการไปเลย

แนะนำให้แจ้งความเอาผิด ตร.ชุดขู่คลุมถุงดำ “ลุงเปี๊ยก”

ส่วนผู้เสียหาย ในทางกฎหมายแนะนำว่า น่าจะต้องมีการแจ้งไปที่พนักงานอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หรือฝ่ายปกครอง เพื่อให้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ ที่ทำผิด พ.ร.บ.อุ้มหาย หากทางผู้เสียหายไม่ดำเนินการ บุคคลอื่นๆ ก็สามารถแจ้งความได้เช่นกัน

วัชรินทร์ ภาณุรัตน์

“อัยการ” เผย “ลุงเปี๊ยก” เอาผิด ตร.ได้ถ้าถูกซ้อมทรมาน

ขณะที่ “วัชรินทร์ ภาณุรัตน์” รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยตรง บอกว่า การจับกุมผู้ต้องหาของตำรวจ รวมไปถึงการ “ควบคุมตัว” ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ต้องแจ้งการจับกุมให้กับอัยการจังหวัดสระแก้ว และนายอำเภอทราบ ถ้าไม่ดำเนินการ ถือว่ากระทำไม่ถูกต้องตามมาตรา 22 / เรื่องนี้มีการไปฝากขังต่อศาลแล้ว ก็ต้องถือว่า “ชายขี้เมา” เป็นผู้ต้องหาแล้วแน่นอน นอกจากนี้ หากมีการทำให้ “ชายขี้เมา” ถูกจำกัดเสรีภาพในร่างกาย ก็เข้าข่ายผิด ตามมาตรา 5

แต่ทั้งนี้ “ชายขี้เมา” ต้องให้ข้อเท็จจริงชัดก่อนว่า เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมการกระทำดังกล่าวจริงหรือไม่

รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน บอกว่า การทำผิด พ.ร.บ.อุ้มหาย เป็นอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายสามารถไปร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ต้องขึ้นอยู่กับทางผู้เสียหายให้ความร่วมมือหรือไม่

แต่ถ้า “ชายขี้เมา” ไม่ได้ให้ความร่วมมือ ว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้น ทุกอย่างมันก็ดำเนินการอะไรไม่ได้

สำหรับประเด็นที่เด็กกลุ่มนี้ ก่อเหตุหลายคดี ต่างกรรมต่างวาระนั้น ผู้ปกครองต้องรับผิดทางอาญาด้วยหรือไม่นั้น “อัยการวัชรินทร์” บอกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ บัญญัติไว้ว่า ผู้ปกครองถ้าไม่ดูแลเด็กปล่อยให้เด็กกระทำผิด มีอัตราโทษจำคุก 3 เดือน โดยพนักงานสอบสวนส่งเข้ามาให้อัยการ

และต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ปกครองมีส่วนส่งเสริมให้เด็กยินยอมหรือประพฤติตนไม่สมควร เสี่ยงต่อการทำผิด ถึงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายได้

………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img