‘ศิริกัญญา’ ลั่น ไม่คาดหวังไม่ผิดหวัง ไม่ให้คะแนน รัฐบาลแถลงเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต อุตส่าห์ตื่นเต้นรอตั้งแต่ต้นเดือน เตือน เป็นไปได้สูงมาก ‘แจกไม่ทันไตรมาส 4’ ไล่บี้ งบจะเบิกจ่ายเหลื่อมปีเป็นสัญญาแบบใด ถาม ‘พายุหมุนดิจิทัลวอลเล็ต’ จะทำเศรษฐกิจโตแค่ไหน
วันที่ 24 ก.ค.67 ที่รัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังรัฐบาลแถลงความคืบหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ตนติดตามการแถลงตั้งแต่เช้า แต่เรื่องใหม่ มีน้อยมาก มีเรื่องที่ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน “แค่วันลงทะเบียน” ว่า ประชาชนทั่วไป ที่มีสมาร์ทโฟน ก็เริ่มลงทะเบียนได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. – 15 ก.ย. ส่วนคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เริ่ม 16 ก.ย. โดยร้านค้าก็เลื่อนออกไปอีกถึงเดือน ต.ค. นอกจากข้อมูลตรงนี้ ไม่มีอะไรที่ชัดเจนอีกเลย แม้ว่าจะมีการทวงถามจากนักข่าว
นางสาวศิริกัญญากล่าวว่า เรื่องแรกที่ตนอยากพูด คือผลกระทบกับเศรษฐกิจ หลังจากเกิด ‘พายุหมุนดิจิทัลวอลเล็ต’ แล้ว เศรษฐกิจจะโตแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ออกมาบอกว่าไม่สามารถประมาณการณ์ได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกใบนี้ แต่จากการที่ตนไปสังเกตการณ์ ในห้องกรรมาธิการงบ 67 เพิ่มเติม หน่วยงานต่างๆ รวมถึง กระทรวงการคลัง ได้ส่งผลรายงานที่จะเกิดขึ้น กับดิจิทัลวอลเล็ต เข้ามาแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลัง ได้ปรับเป้าหมาย จากเดิมที่บอกว่า 1.2 – 1.8 % ของ GDP เหลือ 0.9 % ของ GDP , ส่วนสภาพัฒน์ ก็บอกว่าจะทำให้ GDP ของปี 67 และ 68 โตประมาณ 0.3 % , ด้านแบงก์ชาติ บอกว่า ปี 67 0.3 % ปี 68 0.2 % รวมทั้งโครงการโต 0.9 % ทั้ง 3 สำนัก ผลออกมาตรงกัน คือกระตุ้นได้ไม่ถึง 1% ของ GDP แน่นอน ซึ่งอาจเป็นเพราะการปรับลดเป้าหมาย หรือแหล่งที่มาของเงิน พอกลับไปใช้เงินในงบประมาณ อาจจะทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่ได้มีมาก
ประเด็นต่อมาที่มองว่าไม่ชัดเจนคือ แหล่งที่มาของเงิน สุดท้ายก็ถามย้ำว่า “การบริหารจัดการงบประมาณ” คืออะไรกันแน่ งบ 68 ก้อนใหญ่หน่อย ถึง 132,000 ล้านบาท นักข่าวก็ถามจี้ว่าตกลงแล้วบริหารจัดการคืออะไร แต่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ไม่ได้ให้ความชัดเจน บอกว่าเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการออกงบประมาณเพิ่มเติมอีก เหมือนงบปี 67 หรือจะเป็นการใช้งบกลาง งบเหลือจ่าย สุดท้ายเราก็ไม่ได้ความชัดเจนถึงเรื่องแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้กับโครงการอยู่ดี
นางสาวศิริกัญญา ย้ำว่า ตนเป็นคนพูดเรื่องข้อกฎหมายในการอภิปรายงบรายจ่ายเพิ่มเติม 67 จึงอยากมาอัพเดตให้ทุกคนฟังว่า การประชุมในชั้นกรรมาธิการพูดอะไรกันบ้าง รอบนี้ตนเข้าไปสังเกตการณ์ แต่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการ ซึ่งในห้องก็มีการถกกันว่า งบที่จะใช้เพิ่มเติม จะเป็นเหมือนกับงบรายจ่ายประจำปีทั่วไปที่จะกันเงินเอาไว้แล้วเบิกเหลื่อมปี นำไปเบิกปี 68 ได้ ถ้าปี 67 ใช้ไม่หมดได้หรือไม่
“วันนั้นก็เป็นตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาให้ความเห็นเลยว่าสามารถกระทำได้ เนื่องมาจากว่าได้เกิดนิติสัมพันธ์ คล้ายกับที่ท่านจุลพันธ์พูดเลยว่า มีการเสนอและการสนอง ก็ถือว่าผูกพันสัญญาแล้ว แต่ประเด็นก็คือว่า กรรมาธิการในฟากฝั่งของก้าวไกลก็ถามว่า แล้วเป็นสัญญาประเภทใด มันเรียกว่าเป็นสัญญาได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นสัญญาผูกพันในลักษณะต่างตอบแทนแบบนี้ มันไม่ได้เป็นการสัญญาทั้งสองฝั่งที่ต้องเซ็นยินยอมทั้งคู่ เพื่อไม่ให้เกิดก่อหนี้ เหมือนเราซื้อของ เราเช่าซื้อ เรากู้เงิน หรือเราค้ำประกัน มันจะมีสัญญาของทั้งสองฝ่าย ต้องเซ็นชัดเจน ปรากฏว่าไม่มีหน่วยงานไหนตอบได้เลยว่าเป็นสัญญาประเภทใด เหมือนกับคิดขึ้นมาใหม่แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในประเทศนี้มาก่อน อันนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่ยังคงต้องติดตามต่อว่าสรุปแล้วจะสามารถใช้งานข้ามปีได้หรือไม่ ถ้าใช้ไม่ได้ งบเพิ่มเติมที่จะต้องมีการอนุมัติกันวาระ 2-3 ในอาทิตย์หน้า ก็คงจะต้องใช้ให้หมดภายในวันที่ 30 ก.ย. 2567 ซึ่งก็คงจะต้องใช้วิธีการอื่นในการทำดิจิทัลวอลเล็ต” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ประเด็นต่อมาคือ เรื่องรายจ่ายลงทุน ที่ยังถูกเถียงกันเหมือนเดิมว่าจะเป็นรายจ่ายลงทุน 80% ได้อย่างไร โดยที่ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็พยายามอธิบายเต็มที่ว่าเป็นรายจ่ายลงทุนจริงๆ แต่เท่าที่เราดูแล้วมันมาจากสมมติฐานซะเยอะ ไม่ได้มาจากข้อเท็จจริงหรือผลสำรวจแต่อย่างใด เป็นได้อย่างมากก็เป็นรายจ่ายลงทุน 50% เท่านั้นเอง ถ้าเราจะตั้งเป้าหมายแบบนั้น ก็ต้องไปดูเรื่องสัดส่วนอีกทีว่าจะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่สามารถจะนับรวมเงินที่จะใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ให้เป็นรายจ่ายลงทุนได้
นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า หากใช้งบผูกพันข้ามปีไม่ทัน 30 ก.ย. นี้ ก็มีสิทธิ์ที่จะใช้ไม่ได้ หากเราไม่ได้ข้อสรุปว่ามันใช้ได้จริงหรือใช้ไม่ได้ข้ามปีแบบนี้
เมื่อถามว่าจะกลายเป็นเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า มี 2 ทางคือต้องแจกเลย โดยที่ระบบก็อาจจะยังไม่เสร็จ ก็คงต้องแจกเป็นเงินสดภายในวันที่ 30 ก.ย. หรือหากอยากแจกพร้อมกันหมด ก็อาจจะต้องพับเงินก้อนนี้ไป ก็ต้องไปหาเงินก้อนอื่นมา
“วันก่อนปลัดกระทรวงก็ออกมาบอกว่า อาจจะกลับไปใช้มาตรา 28 ก็เป็นไปได้ ตอนนี้ทุกอย่างก็ยังคงลื่นไหลไม่นิ่ง ไม่แน่ไม่นอน” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
นางสาวศิริกัญญา ยังกล่าวถึง ระบบลงทะเบียนว่า มีการจัดซื้อจัดจ้างกันไปเรียบร้อยแล้วในวันที่ 11 ก.ค. ไม่น่ามีปัญหา แต่ที่มีปัญหาคือระบบจ่ายเงิน (Payment) ที่ซับซ้อน เนื่องจากเป็นระบบโอเพ่นลูป ธนาคารต่างๆ ต้องสร้างกระเป๋าเงินอีกอันหนึ่งให้อยู่ในแอพ เพื่อให้เราได้ใช้ จึงอยากขอดู TOR ว่ามีการกำหนดสเป็กอย่างไรบ้าง แต่ TOR ก็ไม่สามารถให้ได้ เพราะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบคัดเลือก ต้องเชิญชวนผู้ประกอบการไม่กี่เจ้ามาประกวดราคากัน เราจึงขอดูหนังสือเชิญชวน แต่หนังสือเชิญชวนก็ยังร่างไม่เสร็จ งานนี้จึงไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรให้เสร็จทันเวลา เพราะอย่าลืมว่าหลังจากระบบชำระเงินเสร็จ จะต้องส่งตัว Blueprint ไปให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เปิดระบบเชื่อมต่อ จากนั้นต้องส่งให้แบงก์ชาติตรวจสอบอีก 15 วัน
“ดังนั้น จึงเป็นไปได้สูงมาก ที่ไม่ทันแจกไตรมาส 4 ถ้าระบบนี้ยังไม่เรียบร้อยจนถึงวันนี้ จึงฝากสื่อมวลชนให้สอบถามเรื่องนี้ด้วย แล้วประชาชนจะปลอดภัยกับเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนตรงนี้หรือไม่ เงินดิจิทัลจ่ายไปแล้ว จะไปปรากฎในกระเป๋าเงินของประชาชนได้แน่ใช่หรือไม่ ไม่มีปรากฏเงินหล่นเงินหายระหว่างทางใช่หรือไม่” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
เมื่อถามว่ารูปแบบการลงทะเบียนที่เปิดให้ลงแบบออนไลน์ก่อนออฟไลน์ จะไปกระตุ้นให้คนซื้อมือถือมาลงทะเบียนหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่าเป็นไปได้ เพราะระยะเวลาในการลงทะเบียนแบบใช้สมาร์ตโฟนค่อนข้างนาน และรัฐบาลคงอยากให้คนลงทะเบียนแบบออฟไลน์น้อยที่สุด ถึงได้มีระยะเวลาให้คนได้ดิ้นรนไปหามือถือมาลงทะเบียน ทั้งนี้ รัฐบาลก็บอกว่าไม่มีสมาร์ตโฟนก็ลงทะเบียนได้ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำอย่างไร บอกแค่วิธีการลงทะเบียนแบบมีสมาร์ตโฟน โดยมีการบ่ายเบี่ยงบอกว่าอุบไว้ก่อน เดี๋ยวคนจะไม่มาลงทะเบียนแบบสมาร์ตโฟน
ส่วนการกระตุ้นให้คนซื้อมือถือแบบนี้จะเกิดผลอย่างไรบ้าง นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า ไม่ได้มีผลกระทบเยอะขนาดนั้นที่จะไปกระตุ้นให้คนใช้มือถือ แต่อย่าลืมว่าจะซื้อมือถือด้วยดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ก็ใช้ไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการถกกันเยอะในชั้นกรรมาธิการว่า มีหลายตัวที่คนไทยก็เป็นคนผลิต เช่น พัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ ที่เราเป็นผู้ส่งออกหลักมานาน ทำไมถึงกีดกันและยังไม่มีคำตอบ
รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจให้ร้านค้ารายย่อยให้เข้ามาร่วมโครงการ โดยได้สอบถามไปยังปลัดกระทรวงพาณิชย์โดยตรงที่เป็นผู้ควบคุมเรื่องการลงทะเบียนร้านค้า ยืนยันว่าไม่มีการสร้างแรงจูงใจใดๆ ให้ร้านค้ารายย่อย
ผู้สื่อข่าวถามว่าให้คะแนนการแถลงวันนี้เท่าไหร่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่ได้ให้คะแนน
“วันนี้ตื่นเต้นมากที่มีการแถลงดิจิทัลวอลเล็ต เพราะรอมาตั้งแต่ต้นเดือน แต่พอเมื่อคืนนี้บอกว่า จะแบ่งซอยการแถลงออกเป็น 3 ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นแค่รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 3 คน แล้วนายกฯ ไปแถลงทีหลัง เราก็ทราบแล้วว่าไม่น่าจะมีอะไรมากมาย ไม่ได้คาดหวัง ก็ไม่ได้ผิดหวังและไม่ได้ให้คะแนน แต่คาดว่าก็มาในทำนองนี้แหละ ยังไม่มีอะไรชัดเจนมากนัก แต่พูดไว้แล้วว่าจะแถลงก็ต้องแถลง อะไรมีก็พูดไปก่อน”