วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightนายกฯแจงยิบ“Mou 44”ไม่เกี่ยวเกาะกูด ยันยกเลิกเองไม่ได้ต้องตกลงทั้ง 2 ชาติ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

นายกฯแจงยิบ“Mou 44”ไม่เกี่ยวเกาะกูด ยันยกเลิกเองไม่ได้ต้องตกลงทั้ง 2 ชาติ

นายกฯแจงยิบMou44ไม่เกี่ยวเกาะกูด ลั่นรัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ยันยกเลิกเองไม่ได้ต้องตกลงทั้ง2ประเทศ ระบุหากไทยยกเลิกเองก็จะถูกฟ้องร้องได้

เมื่อเวลา 13.10 น. วันที่ 4 พ.ย.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ว่า  วันนี้ได้คุยกันในเรื่องของ MOU 44 ได้คุยกันในรายละเอียด วันนี้จะมาขอยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของประเทศไทย เป็นมาตั้งนานแล้วและกัมพูชาก็รับรู้เช่นนั้นเหมือนกัน ตามสนธิสัญญาฝรั่งเศส และรัฐบาลนี้จะไม่ยอมเสียพื้นที่ของประเทศไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียวไปให้ใครก็ตาม ซึ่งเรื่องเกาะกูดเป็นเรื่องที่เราไม่เคยมีปัญหากับกัมพูชาอยู่แล้ว ไม่เคยมีข้อสงสัยด้วย อาจจะมีแต่เกิดความเข้าใจผิดกันในประเทศไทยเอง และในส่วนของ MOU 44 ก็ยังอยู่ เพราะไม่สามารถยกเลิกได้นอกจากใช้การตกลงกันระหว่างสองประเทศคู่สัญญา หากเรายกเลิกเองก็จะถูกฟ้องร้องได้

ส่วนรัศมีรอบเกาะกูดซึ่งเป็นทะเลว่าจะมีการแบ่งกันลงตัวอย่างไรนั้น น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ใน MOU 44 นั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับตัวเกาะกูดเลย ส่วนในพื้นที่ของทะเลนั้นมีการขีดเส้นไม่เหมือนกัน แต่ในเนื้อหาของ MOU เป็น agreement to negotiate หรือ ตกลงกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ตามเราจะต้องมีคณะกรรมการการทำงานที่มาคุยกัน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการของทางกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้น ตั้งแต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงจัดตั้ง เมื่อเสร็จแล้วก็จะได้มีการศึกษาและพูดคุยกัน ซึ่งก็ไม่น่านานแล้วเพราะมีการจัดตั้งมาสักพักแล้ว ตั้งแต่ตนได้รับตำแหน่งประมาณหนึ่งเดือน ก็เริ่มคุยกันเรื่องคณะกรรมการแล้ว แต่อาจจะต้องรอนิดหนึ่งเพื่อให้ลงตัว

เมื่อถามถึง กรณีที่มีการมองว่าการยอมรับ MOU เป็นเหมือนการที่ประเทศไทยยอมรับเส้นของประเทศกัมพูชานั้น น.ส.แพทองธารกล่าวว่า อันนั้นคือความเข้าใจผิดเราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร MOU นี้ คือการที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่ต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งสองประเทศ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2515 กัมพูชาได้ขีดเส้นมาก่อน และประเทศไทยได้ขีดเส้นด้วยในปี พ.ศ.2516 ซึ่งในตอนแรกคิดเหมือนกันแต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงได้จัดทำ MOU ขึ้นมา และเปิดเพื่อการเจรจาว่าจะเป็นอย่างไร โดยให้คนไทยสบายใจได้เพราะเกาะกูดไม่เคยเป็นส่วนอยู่ในการเจรจานี้เลย

เมื่อถามว่า จากที่มีการพูดคุยกันว่ามีการยกเลิก MOU 44 ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่มี เพราะข้อเท็จจริงคือ MOU ไม่สามารถเลือกได้ถ้าไม่มีข้อตกลงระหว่างสองประเทศคู่สัญญา และจะต้องเป็นมติเข้าผ่านรัฐสภา ซึ่งในปี พ.ศ.2552 ก็ไม่ได้มีการนำเรื่องนี้เข้ารัฐสภา และในปี พ.ศ.2557 พลเอกประยุทธ์ก็ยืนยันเช่นนั้น

ต่อข้อถามว่า  แต่ในขณะนี้มีกระแสต้องการให้มีการยกเลิก MOU จะทำอย่างไรไม่ให้สถานการณ์บานปลาย น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ต้องถามก่อนว่ายกเลิกแล้วได้อะไร เราต้องกลับมาที่เหตุและผล เพราะว่าทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ แต่เมื่อคิดไม่เหมือนกันก็จะต้องมี MOU ที่คุยกันว่า เมื่อมีความเห็นไม่เหมือนกันแล้วจะคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การที่รักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ MOU นี้เปิดให้ทั้งสองประเทศได้คุยกัน หากถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไรบ้าง ถ้าเรายกเลิกฝ่ายเดียวเราโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาอย่างแน่นอน ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ และตนคิดว่าถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการแล้วไม่น่าจะบานปลาย เพราะมันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องเป็นแบบนั้น ไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง เพราะนี่เป็นกรอบเป็นหลักเป็นกฎหมายอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า  กลัวว่าการแถลงวันนี้จะถูกมองว่าเป็นการเดินหน้าลุยต่อโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ไม่จริงเลย ที่มาในวันนี้ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดายและเข้าใจ ตามหลักการเดียวที่ว่าอันนี้เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ วันนี้ที่ออกมาแถลงเพื่อจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า MOU 44 นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เกาะกูดเป็นของเรา และ MOU เป็นเรื่องระหว่างสองประเทศ เมื่อต้องการจะยกเลิกต้องเป็นการตกลงระหว่างประเทศ และเรายังไม่ได้เสียเปรียบใดๆ ในการตกลงอันนี้ ดังนั้นอย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน จึงอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจตามหลัก

เมื่อถามว่า แปลว่าจากการคุยกันในวันนี้ เห็นด้วยที่จะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เดินต่อแน่นอน และที่เราต้องทำที่ทางกัมพูชารอเราคือในเรื่องของคณะกรรมการ ที่จะต้องทำการศึกษาและเป็นตัวแทนไปพูดคุย ซึ่งประกอบไปด้วยหลายกระทรวง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน ที่จะช่วยกัน

เมื่อถามว่า แล้วรัฐบาลไทยมีแนวทางในการตกลงเรื่องแหล่งปิโตรเลียมใต้ทะเลอย่างไรบ้าง น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ต้องคุยกันระหว่างประเทศก่อน ในเรื่องนี้จริงๆ ต้องมีการศึกษารายละเอียดด้วย ว่าจะสามารถแบ่งอย่างไรได้บ้างเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ที่ได้กับทั้งสองประเทศ ให้ได้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด ซึ่งเราทราบอยู่แล้วว่าการมีแก๊สธรรมชาติจะช่วยลดต้นทุนพลังงานได้ จึงจะต้องมีการตั้งและส่งคณะกรรมการผู้รู้ไปศึกษาร่วมกันกับทางกัมพูชาด้วย เพื่อจะได้คำตอบที่ตอบพี่น้องประชาชนได้อย่างชัดเจน ส่วนจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นบิดา เพื่อที่จะพูดคุยกับทางกัมพูชาหรือไม่นั้น ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้าง connection ดีๆ ได้ อย่างเช่นหากเรามีเพื่อนสนิทเราสามารถพูดคุยกับเพื่อนสนิทเราได้ แต่ในเรื่องของผลประโยชน์ของประเทศเขาและประเทศเรา เราต้องใช้คณะกรรมการเพื่อไม่ให้เกิดความลำเอียง จะได้มีความรู้จริงรู้ครบและเกิดความยุติธรรมขึ้นมาด้วย

เมื่อถามว่ายืนยันว่ารัฐบาลไทยจะรักษาประโยชน์ของประเทศไทยใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า “ดิฉันเป็นคนไทย 100 เปอร์เซนต์ อย่างที่บอกไว้ว่า ประเทศไทยต้องมาก่อน คนไทยต้องมาก่อน เพราะฉะนั้นรัฐบาลยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้ประชาชนมีความสุขที่สุด”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img