“จุฬา” ปรับแผนยุทธ์ศาสตร์ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าพื้นที่อีอีซี 2.2 ล้านล้านบาทในปี 70 เตรียมดึงภาคเอกชนเดินสายโรดโชว์ในต่างประเทศ เน้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) เปิดเผยว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งสิ่งแรกที่ต้องการทำคือ การเร่งทำยุทธ์ศาตร์พัฒนาอีอีซี เพื่อดึงนักลงทนุเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีอีซีวงเงินกว่า 2.2 ล้านล้านบาทในปี 2570 เนื่องจากเทรนด์การลงทุนของโลกเปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดโควิด
โดยเน้นใน 3 เรื่องหลักคือ 1.เรื่องที่ดินต้องไปหารือกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆในอีอีซี ว่าจะเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนตรงไหน จะกระจายการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องอย่างไร
2.เรื่องแรงงาน หากแผนเน้นไปที่อุตสาหกรรมใด ต้องเตรียมคน เพราะคนที่จะเข้ามาลงทุนจะถามว่ามาลงทุนในไทยแล้ว ไทยมีแรงงานมีฝีมือหรือไม่ เรามุ่งที่จะทำแรงงานที่ทันสมัย ต้องทำแพ็กเกจ นำเสนอตั้งแต่แรกถ้านักลงทุนจะลงทุนในอีก 2 ปีข้างหน้า ต้องเทรนคนไว้ก่อน เพื่อให้เมื่อเปิดโรงงานมีบุคคลากรทำงานได้ทันที
3.สิทธิประโยชน์กฎระเบียบต่างๆที่ให้เขาเข้ามาทำงานได้สะดวก
นอกจากนี้โดยช่วง 3 เดือนแรก จะจัดกลุ่ม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อง่ายต่อการเชิญชวนและจูงใจนักลงทุน อีกทั้งเพื่อให้ EEC จัดลำดับความสำคัญของการกระตุ้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องต่อความต้องการของนักลงทุน
สำหรับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะจัดคลัสเตอร์ดึงการลงทุน ประกอบด้วย
1.ยานยนต์สมัยใหม่
2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
3.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
4.การแปรรูปอาหาร
5.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
6.หุ่นยนต์
7.การบินและโลจิสติกส์
8.การแพทย์ครบวงจร
9.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
10.อุตสาหกรรมดิจิทัล
11.อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ
12.อุตสาหกรรมการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา
ขณะที่การโรดโชว์ดึงนักลงทุนจะเห็นเป็นรูปธรรมถึงการทำข้อตกลงเริ่มลงทุน โดย สกพอ.ต้องเดินหน้าไปพร้อมเอกชน ซึ่งจะหารือหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนโรดโชว์ต่างประเทศร่วมกัน โดยเวทีโรดโชว์จะเป็นช่องทางเจรจาธุรกิจให้นักธุรกิจไทยและต่างชาติ เพื่อให้เกิดข้อตกลงเริ่มลงทุนใน EEC
ทั้งนี้ จะประเมินประเทศเป้าหมายการโรดโชว์กลุ่มแรก โดยเชื่อว่านักธุรกิจโซนเอเชียมีพฤติกรรมกระจายการลงทุนในเอเชีย โดยเฉพาะไทยที่เป็นประตูการค้าเชื่อมอาเซียน หากมีการโรดโชว์ให้ข้อมูลถึงความพร้อมของ EEC เชื่อว่านักธุรกิจกลุ่มนี้จะสนใจ
ส่วนแผนพัฒนาเมกะโปรเจ็กต์ในปัจจุบันอยู่ช่วงเริ่มวางโครงสร้างสาธารณูปโภค ซึ่งอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนการลงทุนของเอกชนคาดว่าในปี 2566 จะเริ่มเห็นการตอกเสาเข็ม เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยเชื่อมั่นว่าจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2568