วันอาทิตย์, กันยายน 29, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEศึกครั้งสุดท้าย!! แมว 9 ชีวิต‘บิ๊กโจ๊ก’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ศึกครั้งสุดท้าย!! แมว 9 ชีวิต‘บิ๊กโจ๊ก’

ในวันนี้ (26 มิ.ย.) “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะเดินทางไปเป็นประธานฯการประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 5/2567 ในที่ห้องประชุมศรียานนท์

วาระที่น่าสนใจ และต้องจับตาคือ กรณี ตร. มีคำสั่งที่ 177/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย.67 “แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการตำรวจ” และ คำสั่งที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย.67 ให้ข้าราชการตำรวจ ออกจากราชการไว้ก่อน”

การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมจะหยิบผลสรุปการสอบสวนของอนุกรรมการวินัยฯ ที่มีผลสรุปคำสั่ง ตร.ที่ 177, 178 เรื่องให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. หรือ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการไว้ก่อน ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และที่ประชุม ก.ตร. อาจมีการพิจารณาว่า จะมีมติให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กลับเข้ารับราชการด้วยหรือไม่
 
โดยก่อนหน้านี้ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ได้ยื่นเรื่องให้ ก.ตร. พิจารณา 2 ครั้ง เพื่อให้มีมติให้ “ผบ.ตร.” ยกเลิกคำสั่ง โดยอ้างว่า คำสั่งดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมยกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่พิจารณาแล้วว่า คำสั่งดังกล่าว มิชอบด้วยกฎหมาย ตามมตอเอกฉันท์ 10 ต่อ 0

แน่นอนว่า หน่วยงานรัฐไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามความเห็นกฤษฎีกา ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลไปเสียทุกเรื่อง

แต่ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า “มติ ครม.” ช่วงปี 2482 สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ระบุไว้ว่า “หน่วยงานใดที่หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานนั้นต้องทำตามความเห็น”

ขณะเดียวกัน “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” เดินหน้าร้องเรียน คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ “ก.พ.ค.ตร.” เพื่ออุทธรณ์คำสั่งให้ออกจากราชการโดยมิชอบ

โดยระบุเหตุผลดังนี้ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติปี 2547 ข้อ 8 มาตรา 131 ระบุว่า กรณีสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องใช้ กฎ ก.ตร. ปี 2547 มาประกอบ หากแต่ในข้อ 8 ของกฎ ก.ตร. ปี 2547 กรณีการสอบสวนไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว มีความขัดแย้งกันในข้อกฎหมาย

จึงต้องนำมาตรา 120 มาใช้แทน ซึ่งระบุว่า การสอบสวนข้อเท็จจริง ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากนั้นจะส่งให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณา

แต่พบว่าคำสั่งครั้งนี้มีความขัดแย้งกัน จึงต้องยกเลิกคำสั่ง ให้ออกจากราชการนี้ไปโดยปริยาย เพราะถือเป็นการให้ออกจากราชการโดยมิชอบ

นอกจากนี้ ในพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 ยังระบุว่า ระหว่างการสอบสวนจะนำเหตุแห่งการสอบสวนมาเป็นข้ออ้าง ในการดำเนินการใด ให้กระทบต่อสิทธิ์ของผู้ถูกสอบสวนไม่ได้

เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการ หรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามข้อเสนอแนะของ “คณะกรรมการสอบสวน” แล้วมีความเห็นไปถึงผู้บัญชาการภาค หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ว่าจะมีดุลยพินิจอย่างไร

แต่กรณีของ “บิ๊กโจ๊ก” นั้น เขามองว่า มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในวันเดียวกับที่มีคำสั่งให้ตนเองออกจากราชการ คือ 18 เม.ย.2567

ดังนั้นจึงไม่มีข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการสอบสวน ที่มี “พล.ต.อ.สราวุฒิ การพาณิชย์” รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะตามกฎหมายฉบับดังกล่าว จึงเป็นการกลับไปใช้กฎหมายฉบับเดิมปี 2547 ที่ให้เป็นไป ตามดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา

ดังนั้น การกระทำดังกล่าวรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นอกจากนี้ ก่อนจะมีคำสั่งให้ “บิ๊กโจ๊ก” ออกจากราชการ ตัวเขาอ้างว่า มีการร่างคำ สั่งให้ออกราชการเตรียมเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. และลงนามในวันที่ 18 เม.ย. แสดงให้เห็นว่า มีการทำเป็นขบวนการ

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ย้ำว่า มติของ “ก.พ.ค.ตร.” เปรียบเสมือนศาลปกครอง มีอำนาจในการเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มิชอบได้

และหากเพิกถอนแล้ว จะถือว่าคำสั่งดังกล่าวไม่เคยมีมาก่อน หากดำเนินการไม่เสร็จตามกรอบระยะเวลา ก็สามารถขยายได้อีก 2 ครั้งและนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บังคับบัญชาการตำรวจ ต้องเป็นผู้แก้ปัญหาเรื่องนี้

ดังนั้น แนวทางในการพิจารณา วาระสำคัญ ในที่ประชุม ก.ตร. อาจมี 2 แนวทาง คือ

1.การลงนามคำสั่งดังกล่าว ถือว่าถูกต้องตามกฎหมาย ขั้นตอนถัดไปหลังจากนี้ คือการนำชื่อ “”ล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งกระบวนการทุกอย่าง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีแนวโน้มสูง ที่ต้องรอผลการพิจารณา ของ “ก.พ.ค.ตร.” ลงมา

2.การลงนามในคำสั่งดังกล่าว ไม่ถูกต้อง จะต้องมีการเยียวยาสิทธิต่างๆ คืนให้ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” โดยเฉพาะการเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. อันดับ 1

สิ่งหนึ่งที่แน่นอนเป็นอย่างยิ่งคือ ปัญหาที่ถาโถมใน ตร. จะยังไม่สงบ ในเร็ววันนี้

………………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img