“พล.ต.อ.เอก” ยันไม่เคยขัดแย้ง “บิ๊กโจ๊ก” เผยคุ้นเคยดีลั่นยึดหลักคุณธรรม ความถูกต้อง และมีวุฒิภาวะในการแสดงความคิดเห็นตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.67 พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ตั้งแต่มีกรณีที่ ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร. ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทั้งอาญาและวินัย มีการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหลายกรณี ซึ่งสื่อมวลชนได้ติดตามและประชาชนก็สนใจอย่างกว้างขวาง ผมได้รับเชิญไปให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หลายช่อง และมีการแพร่กระจายไปทางสื่อโซเชียลอีกมากมาย
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 เวลา 15.00 น. มีการประชุม ก.ตร. โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุม ที่ห้องศรียานนท์ อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
มีวาระเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการขอให้พิจารณาการปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีที่ ตร.มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยข้าราชการตำรวจและให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเกี่ยวพันกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวก
ผมทราบในที่ประชุมว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ได้ยื่นเรื่องต่อประธาน ก.ตร. คัดค้านผมไม่ให้เข้าร่วมประชุมพิจารณาในวาระนี้ เพราะมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้เสียความเป็นกลางในการพิจารณาเรื่องนี้ จากการที่ผมได้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้น โน้มน้าวชักจูงให้ ก.ตร.มีมติในทางที่เสียหายกับผู้ร้อง
ผมได้ชี้แจงต่อที่ประชุม ก.ตร. ว่าผมไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องมาก่อนแต่อย่างใด ผู้ร้องสนิทสนมคุ้นเคยกับผมเป็นอย่างดี ได้เคยโทรศัพท์มานัดหมายเพื่อขอมาพบผม ทั้งที่บ้านพักส่วนตัวและที่ทำงาน ก.ตร.
ทุกครั้งก็จะมาเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับบุคคลที่สาม ซึ่งบางคนเป็นบุคคลสำคัญระดับสูง รวมถึงนายตำรวจท่านอื่นๆ ทั้งอดีตและปัจจุบันนับ 10 ท่าน ซึ่งผมไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ ได้แต่รับฟังและบันทึกไว้
ส่วนเรื่องที่ผมให้สัมภาษณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชน เป็นไปตามสิทธิพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ไม่มีเจตนาก้าวล่วงไปก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ใดทั้งสิ้น
หลังจากชี้แจง ผมได้ออกจากห้องประชุมไป และกลับเข้ามาในห้องประชุมเมื่อ ก.ตร.ที่เหลืออยู่พิจารณาลงมติให้ผมเข้าร่วมประชุมพิจารณาเรื่องนี้ต่อไปได้ ในวาระการประชุมดังกล่าวจนเสร็จสิ้น
ผมขอยืนยันว่า จะปฏิบัติหน้าที่กรรมการ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักคุณธรรม ความถูกต้อง และมีวุฒิภาวะในการแสดงความคิดเห็นตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป