วันอังคาร, เมษายน 23, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSขึ้นค่าแรง!ลดเหลื่อมล้ำ แน่ใจแค่ไหน? ว่า...แก้ได้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ขึ้นค่าแรง!ลดเหลื่อมล้ำ แน่ใจแค่ไหน? ว่า…แก้ได้

ประเด็น…ขึ้นค่าแรง!! กลับกลายมาเป็นเรื่องที่กระแสสังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง หลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ “ทีม” ไปหารือร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “ส.อ.ท.” เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา

เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้น เพราะก่อนหน้านี้ “พิธา” ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้อยู่แล้วว่า จะเดินสายพบภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาหารือรายละเอียดทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องการจัดทำนโยบายรัฐบาลชุดใหม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานโยบายประชานิยม ที่ทั้งพรรคก้าวไกลเอง และอีก 7 พรรคร่วมรัฐบาล นำไปใช้หาเสียงซื้อใจบรรดาประชาชนคนไทยก่อนหน้านี้

ที่ขาดไม่ได้เลย!! ก็หนีไม่พ้น นโยบายขึ้นค่าแรงทันที 450 บาท ของพรรคก้าวไกล และ ค่าแรง 600 บาทในปี 70 ของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องยอมรับว่า ด้วยนโยบายขึ้นค่าแรงนี้ ได้กลายเป็นแรงดึงดูดคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยทีเดียว

แม้ยังไม่เป็นที่ยุติ ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่? เพราะเป็นรัฐบาลผสม แต่เรื่องการขึ้นค่าแรง ถือเป็นเรื่อง “แสลงหู”“แสลงใจ” บรรดาผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายน้อย รายใหญ่ ไม่น้อยทีเดียว

เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่ม “ต้นทุน” ให้กับภาคเอกชน ท่ามกลางภาวะที่ทุกอย่าง “แพง” หมด ในทางกลับกันต้นทุนแพง แต่รายได้ไม่เพิ่ม เพราะเผชิญสารพัดปัญหาโดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ที่เป็นตัวสร้างรายได้ที่แท้จริง กลับกลายเป็นว่า…จะไม่ขยายตัว เผลอๆ ติดลบ ด้วยซ้ำไป

เหตุใหญ่ใจความ…ก็มาจากภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะการค้าโลก ที่มีแนวโน้มลดลง โดยล่าสุด สภาพัฒน์ ก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 66 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.7% และ 2.1% ลดลงจากปีก่อน ที่ขยายตัว 3.4% และ 5.1%

ดังนั้น!! เสียงเรียกร้อง เสียงร้องระงมจากภาคเอกชน จึงดังออกมาเป็นระยะ ๆ ทุกครั้งเมื่อพูดถึงการ “ขึ้นค่าแรง” ไม่ใช่เพียงแค่เอกชนเท่านั้น ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่ม

บรรดาแรงงาน…ก็เหมือนกันนั่นแหล่ะ ได้ค่าแรงเพิ่ม แต่ราคาสินค้าและบริการ ก็เพิ่มตามค่าแรงไปด้วยเช่นกัน แถม!! ค่าแรงยังไม่ชัดด้วยซ้ำว่า จะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่? หรือปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเท่าใด? แต่…ค่าสินค้าและบริการ เดินหน้าขึ้นไปก่อนแล้ว!!

ไม่เพียงเท่านี้ เรื่องของการขึ้นค่าแรงยังเกี่ยวพันต่อเนื่องไปถึงเรื่อง การลงทุนของต่างประเทศ ที่จะเข้ามาในไทยด้วย เพราะถ้าเค้าเห็นว่าต้นทุนแรงงานไทยแพง เชื่อเถอะ!! เปิดตูดหนีไปเพื่อนบ้านหมดแน่นอน

หรือ…ในเรื่องของการขึ้นเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี ก็ตามที่ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ต้องได้รับผลกระทบ อันดับแรกภาครัฐต้องปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ มีผลต่องบประมาณเพิ่มขึ้นไปอีก

ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขปัญหาเรื่องปากเรื่องท้องของประชาชนคนไทย จึงไม่ควรแก้ด้วย “การขึ้นค่าแรง” เพราะต่อให้ขึ้นค่าแรงอย่างไร แต่ค่าครองชีพก็ยังแพง ถือว่าไม่มีประโยชน์

ที่สำคัญ!! แน่ใจได้แค่ไหนว่าช่องว่างของ “ความเหลื่อมล้ำ” ของคนไทยจะลดลง ตามที่ได้ไป “ขายฝัน” ไว้ก่อนหน้านี้  เพราะเวลานี้ ช่องว่างของกลุ่มประชากรที่มีรายได้มากที่สุด 10% และรายได้ต่ำที่สุด 40% ในระดับล่าง ห่างกันอยู่ประมาณ 6 เท่า

ปีที่ผ่านมา ไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 5% หากขึ้นค่าแรงอีกครั้ง อาจบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับ “เวียดนาม” ที่กำลังเนื้อหอม-ขึ้นแท่นโรงงานโลก เป็นฐานการผลิตให้กับยานยนต์ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

“พิธา” ออกมาย้ำว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลให้ชัดเจนก่อน เพราะมีกรอบตัวเลขที่ต่างกัน รวมทั้งต้องหารือกับสภาแรงงาน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

เหนืออื่นใด? การขึ้นค่าแรง…จะไม่ขึ้นแบบไปกระชากระบบ ซึ่งจากการหารือกับส.อ.ท. ต่างเห็นตรงกันว่า ต้องขึ้นตามจีดีพี ตามเงินเฟ้อ รวมถึงประสิทธิภาพของแรงงาน และต้องใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคี เข้ามาดำเนินการ

และใช่ว่า…ภาคเอกชนต้องมีต้นทุนเพิ่มเท่านั้น เพราะรัฐบาลจะมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยด้วย เช่นการให้ธุรกิจนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เป็นเวลา 2 ปี หรืออาจมีมาตรการเพิ่มสภาพคล่องอื่น ๆ มาสนับสนุนเอกชน เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ณ เวลานี้ ถ้าจะถามหาคำตอบทั้งหมด คงยังไม่มี!! ยังต้องใช้เวลา เพราะกว่า…รัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะชัดเจน ก็ปาเข้าไปประมาณเดือนส.ค.โน่น ก็ต้องอดใจรอ!!

………………………..

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img