วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“เอกชน”เรียกหาความสามัคคี ก่อน“เศรษฐกิจไทย”ดิ่งจมเหว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เอกชน”เรียกหาความสามัคคี ก่อน“เศรษฐกิจไทย”ดิ่งจมเหว

ปัญหาการเมืองภายในประเทศ!! กำลังเป็นที่จับตาของทั้งคนไทยและนักลงทุนต่างชาติ ผนวกเข้ากับสถานการณ์ในตลาดโลก ที่มีทั้งแรงปะทุจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือแม้แต่การถดถอยของเศรษฐกิจโลก ยิ่งคอยกดทับให้เศรษฐกิจไทยโงหัวได้น้อยลง

อย่าง…เหตุการณ์ล่าสุด ทั้งจากเรื่องของ หุ้นสตาร์ค เรื่องของ ตำแหน่งประธานรัฐสภา ที่แย่งชิงกันระหว่าง พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย รวมไปถึงกระแสการจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคกำลังแตกเป็นเสี่ยง

ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยในช่วง 8 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.66 ดัชนีหุ้นไทยลดลงไปแล้ว 100 จุด ดัชนีหุ้นไทยร่วงหลุด 1,500 จุดไปเรียบร้อย แม้ว่า…ล่าสุดได้รีบาวด์กลับมาจนปิดบวกได้ที่ 12.64 จุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมาก็ตาม

ไม่ใช่เพียงแค่หุ้นไทย ที่สาละวันเตี้ยลงแทบทุกวัน ถึงขนาด 11 องค์กรที่เกี่ยวข้อง ออกมาแถลงเรียกความเชื่อมั่น แต่ดูเหมือนกระตุกไม่ขึ้น

เพราะยังมีเรื่องของ ภาคการส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์ใหญ่ที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่ตัวเลขยังคงติดลบอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกของไทยล่าสุดในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ยังคงลดลง 4.6% และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยมีมูลค่า 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 8.30 แสนล้านบาท

ขณะที่มูลค่าการส่งออกตั้งแต่ต้นปี จนถึงเดือนพ.ค.66 รวม 5 เดือน ยังคงลดลงถึง 5.1% โดยมีมูลค่ากว่า 1.16 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 3.94 ล้านล้านบาท

หากต้องการรักษาภาคการส่งออกให้เป็นเครื่องยนต์หลัก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป ก็ต้องทำให้การส่งออกมีการเติบโตที่เป็นบวก นั่น!! หมายถึงว่า ช่วงหลังจากกนี้ไป ในแต่ละเดือนการส่งออกต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 24,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ถ้าในเวลานี้สถานการณ์โลก ไม่ใช่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เชื่อเถอะ…เรื่องแค่นี้ ถือว่า “จิ๊บจ้อย” ภาคเอกชนไทยทำได้มากกว่าแน่นอนชัวร์ เพราะฝีมือของเอกชนไทยไม่แพ้ใครในโลกอยู่แล้ว

แต่อย่าลืมว่า…การถดถอยของเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ แรงกดดันจากดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ ยังคงมีอยู่

โดยเฉพาะ “เจอโรม พาวเวลล์” ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ หรือ “ประธานเฟด” ออกมาระบุว่า นโยบายที่เฟดใช้อยู่เวลานี้อาจไม่เข้มงวดเพียงพอ และยังใช้เวลานานไม่เพียงพอ โดยเชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง

ไม่ใช่แค่นี้ ยังมีเรื่องของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ แม้จะเติบโตได้ถึง 5% ก็ตาม ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ย่อมมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยแน่นอน

เพราะเพียงแค่นี้ การส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีน ก็หดตัวไปแล้ว 24% ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น ก็หดตัวต่อเนื่องที่ 1.8% และตลาดซีแอลเอ็มวี หดตัวไป 17.3%

ขณะเดียวกัน การคาดหวังให้เรื่องของ การท่องเที่ยว มาเป็นเครื่องยนต์หลักทดแทนการส่งออก คงไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้ในช่วงครึ่งปีแรก จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศแตะ 12 ล้านคน สร้างรายได้เฉียด 5 แสนล้านบาท

แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะเข้ามาทดแทนรายได้จากการส่งออกได้ทั้งหมด เพราะทุกวันนี้รายได้จากการส่งออกนั้นคิดเป็นกว่า 60% ของจีดีพี ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวไม่เกิน 20% ของจีดีพี

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแหวกแนวอะไร? ที่…บรรดาภาคเอกชนในทุกภาคต่างออกมาเรียกร้องให้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ใช่ว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ จะส่งผลต่อการทำธุรกิจของเอกชน แต่ปัญหาอยู่ว่า “นโยบาย” ของพรรคการเมืองต่างหาก ที่มีผล

เช่นเดียวกับ ผลกระทบจากการไม่ลงรอย หรือการแย่งชิงตำแหน่ง-แย่งชิงอำนาจ จนเกิดเหตุการณ์ “ลงถนน” ที่จะกลายเป็นปัจจัยลบที่สำคัญที่ดึงให้ความเชื่อมั่นของทุกคนทั้งคนไทย ของนักลงทุนต่างประเทศ หรือแม้แต่ประเทศคู่ค้า นั้นหดหายไป

ต่อให้บรรดาภาคเอกชนต่างเคยชินกับการเมืองก็ตาม แต่อย่าลืมว่า ปัจจัยลบจากต่างประเทศนั้น มีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ในรูปแบบแตกต่างกันไปสารพัด

แต่ถ้าบรรดาผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ยังแตกกันเอง ไม่มีความสามัคคี แล้วจะเอาอะไรไปสู้กับนอกบ้านที่กำลังขาดเสถียรภาพอย่างหนัก หากภายในประเทศไม่แข็งแกร่ง ย่อมหนีไม่พ้น!! ต้องถูกโจมตีจากสารพัดปัจจัยลบ

………………………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img