วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSลบทิ้งการค้าทาสยุคใหม่!! ลุ้นเศรษฐกิจเงยหัวช่วยส่ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ลบทิ้งการค้าทาสยุคใหม่!! ลุ้นเศรษฐกิจเงยหัวช่วยส่ง

“รัฐบาลเศรษฐา 1” ยกทีม กระทวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กระทรวงการคลัง ตีฆ้องร้องป่าวประกาศดัน แก้หนี้นอกระบบ ให้เป็น วาระแห่งชาติ!!

ไม่เพียงเท่านี้…“นายกฯเศรษฐา” ยังย้ำว่า หนี้นอกระบบสำหรับตัวเองแล้ว ถือเป็นการ “ค้าทาสยุคใหม่” ที่พรากอิสระภาพและความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้

ขณะเดียวกัน!! ก็ยืดอก…การันตีว่า งานนี้จะไม่ทำให้เกิดวัฒนธรรมทางศีลธรรม หรือ “มอรัล ฮาซาร์ด” เกิดขึ้นแน่นอน เช่นเดียวกับวิธีการดำเนิการในครั้งนี้ ก็แตกต่างจากของเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความร่วมมือ” กันในการทำงาน ทั้ง ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และ กระทรวงการคลัง ที่รับบทบาทเป็น “ตัวกลางสำคัญ” ในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด

ขณะเดียวกันต้องดูแลทั้ง เจ้าหนี้-ลูกหนี้ อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปิดหนี้ ที่สำคัญสัญญาที่ทำต้องเป็นสัญญาที่เป็นธรรม และต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหมายรวมถึง อัตราดอกเบี้ย ที่ต้องไม่เกิน 15%

เมื่อ ฝ่ายปกครอง ทั้งบรรดานายอำเภอ บรรดาผู้กำกับ ต่างร่วมกันลงมือเอ็กซเรย์ทุกพื้นที่ เพื่อเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยหนี้ รวมไปถึงจัดการเจ้าหนี้นอกระบบตามกฎหมายแล้ว

หลังจากนั้น กระทรวงการคลัง ก็จะเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ผ่าน ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ต่างมีมาตรการด้านสินเชื่อ ช่วยลูกหนี้อยู่แล้ว

ที่สำคัญ มาตรการช่วยลูกหนี้ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ให้สินเชื่อใหม่ไปปิดหรือช่วยบรรเทาหนี้เก่าเท่านั้น แต่ยังมีมาตรการที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับลูกหนี้ด้วย

ทั้งหลายทั้งปวง…ก็เพื่อให้บรรดาลูกหนี้สามารถที่จะชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ต้องหอบลูกจูงหลาน หนีหนี้หลบเจ้าหนี้ เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง รวมไปถึงเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ก็ทำให้ชีวิตลูกหนี้ หลุดพ้นจากการเป็นทาสในยุคนี้ได้

ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลยังถือเอาความสัมฤทธิ์ผลของฝ่ายปกครอง ทั้ง นายอำเภอ และ ผู้กำกับโรงพัก เป็นตัวชี้วัด หรือเป็น “เคพีไอ-KPI” ในการทำงานด้วย เพราะฉะนั้น ความเข้มข้นของการทำงานจะเกิดขึ้นแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสแกนแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลเศรษฐาแล้ว ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกแหวกแนว หรือแตกต่างไปจากมาตรการเดิม ๆ นัก

ต้องยอมรับว่าปัญหา “หนี้นอกระบบ” เป็นปัญหาเรื้อรังและอยู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนานแล้ว โดยที่มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง ก็กว่า 20 ปีก่อนเห็นจะได้ เริ่มมาตั้งแต่สมัยทักษิณ 1 โน่น

แต่ล่วงเลยมาจนถึงเวลานี้ “ความเบ็ดเสร็จ” ของปัญหา ก็ยังไม่สามารถทะลุทะลวงแก้ปมปัญหาออกไปได้ แม้รัฐบาลที่ผ่านๆ มา ต่างให้ความสำคัญกับการแก้หนี้นอกระบบ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็ตาม

ณ เวลานี้ เชื่อได้ว่า ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันอยู่แล้ว ในเมื่อมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย จะทำอย่างไร ก็หนีไม่พ้น “เป็นหนี้” แน่นอน

ขณะเดียวกันจากสภาพเศรษฐกิจ ในช่วงที่ผ่านมา คนไทยต้องเผชิญสารพัดปัญหา ทั้งที่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ทั้งที่เกิดจากปัญหาภายในประเทศเอง

รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ช่องว่างระหว่าง “คนจน” กับ “คนรวย” มีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังเกิดการกระจุกตัว

จากข้อมูลของธนาคารโลก ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคด้านรายได้ อยู่ที่ 43.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของความไม่เสมอภาคของรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

ขณะที่การกระจุกตัวของรายได้ในครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดนั้น พบว่ามีสัดส่วนที่สูงเป็นพิเศษ โดยในปี 2564 พบข้อมูลว่า กลุ่มคนแค่ 10% ของคนไทยที่ร่ำรวยที่สุด ถือครองรายได้ และความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

ธนาคารโลกบอกว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายเรื่องของไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่ โดยปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในระดับอาชีพและการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

ณ เวลานี้ แม้ว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา จะมีสารพัดสารพันมาตรการ เพื่อทำให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส…ก็ตาม

แต่ก็อย่าลืมว่า…ยังมีปัจจัยอีกมากที่คอยกดดันเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการของรัฐบาลที่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล ทั้งจากการแจกเงินดิจิทัล การขึ้นเงินเดือนข้าราการ

หากโดยรวมโลกดีขึ้น พยุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ ก็ถือว่า “โชคช่วย” แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่สามารถขยับขยายเพิ่มขึ้นได้มากนักตามที่ใจต้องการ ก็ถือว่าอัตราเสี่ยงมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว!!

…………………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img