วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“ดอกเบี้ย”!ของแสลงรัฐบาล “แบงก์ชาติ” ชูความเป็นอิสระ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ดอกเบี้ย”!ของแสลงรัฐบาล “แบงก์ชาติ” ชูความเป็นอิสระ

ในที่สุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ “เมิน” แรงกดดันจากฟากฝั่งการเมือง โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เหมือนเดิมที่ 2.50% แม้คะแนนที่ออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ก็ตาม!!

เหตุผลสำคัญของ “กนง.” เสียงส่วนใหญ่ทั้ง 5 เสียง…คิดเห็นเหมือนกันว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในเวลานี้ เป็นเพราะมีแรงส่งจากต่างประเทศที่น้อยลง รวมถึงผลกระทบจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่สะสมปัญหามานาน

ขณะที่ การบริโภคในประเทศ ยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ส่วน เงินเฟ้อ ที่ต่ำต่อเนื่องในเวลานี้!! ยังไม่ได้บ่งบอกว่าอุปสงค์ในประเทศกำลังอ่อนแอ เพราะราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดเป็นวงกว้าง มีเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น

ที่สำคัญ… หากไปคลี่ไส้ในดู ก็จะเห็นได้ว่า หากไม่นับรวมผลของมาตรการรัฐบาลที่เข้าไปช่วยเหลือค่าครองชีพ ทั้งการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน แล้ว เงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก

ส่วนเรื่องของ เงินฝืด!! ก็ยังไม่มีสัญญาณให้น่าเป็นห่วง เพราะ…อาการของเงินฝืดจริงๆ คือ สินค้าส่วนใหญ่ต้องถูกลง เพราะภาคธุรกิจเห็นว่า คนไม่มีกำลังซื้อ ก็ต้องลดราคา แต่!! ตอนนี้…สินค้าส่วนใหญ่ยังขึ้นราคาอยู่  จึงมองว่าไทยยังห่างจากภาวะเงินฝืดแน่นอน

ด้วยเหตุนี้!! จึงมองว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.50% เป็นระดับที่เหมาะสมที่จะดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจไว้ได้ !!

ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อยอีก 2 คน เห็นว่า ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือลง 0.25% เหลือ 2.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง

การเมินแรงกดดันจากฟากฝั่งการเมือง เช่นนี้!! แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเป็น “อิสระ” ของ “กนง.” และ “แบงก์ชาติ” มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการแก้ไขพ.ร.บ.แบงก์ชาติ

ไม่ว่า…จะเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง หรือ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ออกโรงเปิดหน้ากดดันให้ “กนง.” ลดดอกเบี้ยลง ก่อนหน้าการประชุมเพียง 1 วัน แถมยังสำทับไว้ด้วยว่า หากเกิดอะไรขึ้นมา “ผู้กำกับนโยบายการเงิน” ก็ต้องออกมารับผิดชอบด้วย

หรือจะเป็นแรงกดดันจาก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ออกตัวแรงมาตั้งแต่แรก เพื่อกดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยลงให้ได้ ทั้งผ่านสื่อ ทั้งผ่านโซเชียล แบบประชดประชันมาโดยตลอด

เหตุผลสำคัญของฝั่งการเมืองนั้นมองว่า เวลานี้เศรษฐกิจยังมีปัญหา ยังวิกฤติ ต้องการแรงกระตุ้น ลำพังเพียงจะใช้แค่นโยบายการคลังแต่เพียงอย่างเดียว คงไม่พอ!! เพราะเงินงบประมาณรายจ่ายปี 67 ยังไม่มีผลบังคับใช้

ดังนั้น…นโยบายการเงิน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเข้ามาช่วยโอบอุ้มช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ยังติดกับดักงบประมาณรายจ่าย

ฝ่ายการเมือง มองว่า เวลานี้คนไทยทั้งประเทศ กำลังมีต้นทุนที่สูงมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยที่แพงมาก ขณะที่บรรดานายแบงก์ต่างฟาดกำไรกันไปถ้วนหน้ารวมๆ กันแล้วก็กว่า 2 แสนล้านบาท

ที่สำคัญ!! ส่วนใหญ่กำไรของแบงก์ในปีที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ก็มาจากรายได้จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ตามทิศทางดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น

การมองต่างมุมเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า…ในเมื่อต้นทุนชีวิตสูงขึ้น แพงขึ้น ขณะที่เงินในกระเป๋าแฟบลงทุกวัน จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม หน่วยกำกับดูแลที่ไม่ได้ให้ประโยชน์แบบเห็นได้ชัดเจน จับต้องได้ ก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเรื่องธรรมดา!!

ทั้งนี้…หากย้อนกลับไปดูตัั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.65 ที่ผ่านมา “กนง.” ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาถึง 8 ครั้ง จากอัตราดอกเบี้ย 0.50% กลายมาเป็น 2.50% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา

จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไม? กำไรแบงก์ถึงเพิ่มขึ้น…เพิ่มขึ้น ต่อให้กำไรที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการทำธุรกิจในหลายๆ ส่วน ก็ตาม แต่บรรดาแบงก์เองก็ต้องมองย้อนกลับว่า ที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้มากน้อยเพียงใด?

ในเมื่อประชาชน มีแต่แย่ลง มีแต่ความยากลำบาก ขณะที่ภาคธุรกิจที่ต้องหารายได้จากประชาชนคนไทย กลับรวยขึ้น…รวยขึ้น กำไรเอา!! กำไรเอา!! รับรองได้…ไม่มีใครเข้าข้างแน่นอน

ขณะเดียวกัน!! หากผู้กำกับดูแล ไม่สามารถกดดันให้ภาคธุรกิจ ลดการทำธุรกิจ ลดการหาผลกำไร แล้วมาช่วยกันดูแลประชาชน นอกเหนือไปจากนโยบายที่กำกับดูแลในภาพกว้างอยู่แล้ว

เชื่อเถอะ!!จะชี้แจงเหตุผลในเชิงวิชาการ สักเท่าใด? ก็ไม่มีใครฟัง เพราะประชาชนต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า… จีดีพี คืออะไร? เงินเฟ้อ คืออะไร ? ชาวบ้านชาวช่องไม่รู้หรอก

ณ เวลานี้ รู้แต่เพียงว่า รายจ่ายสูงกว่ารายได้ เงินในกระเป๋าก็แฟบลงทุกวัน สุดท้าย หนีไม่พ้นการเป็นหนี้อยู่ดี ความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ก็อาจไปไม่ถึงเป้าหมายก็เป็นไปได้!!

…………………………..

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img