วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเร่งตีปี๊ป‘เวอร์ชวลแบงก์-ธนาคารไร้สาขา’ แต่อย่าละเลย....“โจรไซเบอร์-แฮคเกอร์”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เร่งตีปี๊ป‘เวอร์ชวลแบงก์-ธนาคารไร้สาขา’ แต่อย่าละเลย….“โจรไซเบอร์-แฮคเกอร์”

เมื่อเร็วๆ นี้ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” ได้ประกาศ 8 วิสัยทัศน์ Thailand Vision ที่ทำเนียบรัฐบาล มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

1 ใน 8 วิสัยทัศน์ ก็คือการเป็น ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเปลี่ยนให้ไทยเป็น Financial Center of Southeast Asia ขับเคลื่อนโดยระบบการเงินที่แข็งแกร่ง

ด้วยเหตุนี้… เรื่องราวของ “เวอร์ชวลแบงก์-Virtual Bank” หรือ “ธนาคารไร้สาขา” จึงถูก “ตีปี๊ป” บรรดาภาคเอกชนทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องต่างเบนเข็มโดดเข้าสู่สนามการเงินบนโลกดิจิทัล เพื่อหวัง “พิงหลัง” ให้ธุรกิจหลักเดินหน้าบนโลกที่ไร้รอยต่อแบบคล่องตัว

อย่างน้อยๆ ที่ประกาศกันชัดเจนออกมา ก็มีทั้ง “เอสซีบี เอ็กซ์” หนึ่งในยักษ์ใหญ่ธนาคารพาณิชย์ไทยที่จับมือกับ “กาเกา แบงก์” ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ พร้อมเตรียมดึงบริษัทเทคโนโลยีจากจีน เข้ามาร่วมเสริมทัพ

เช่นเดียวกับ “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์” ของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ที่ประกาศชัดเจนว่า ได้ร่วมมือกับ “เอไอเอส” และ “ธนาคารกรุงไทย” ที่จะยื่นขอไลเซ่นในปีนี้ ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 5,000 ล้านบาท

หรือแม้แต่ “กลุ่มซีพี” ทุนใหญ่ของเมืองไทย โดยผ่านบริษัทลูกอย่าง “ทรู มันนี่” และมีพันธมิตรใหญ่อย่าง “กลุ่มแอนท์” เป็นทุนเดิม และยังเปิดกว้างรับพันธมิตรใหม่…อีกต่างหาก

ว่ากันว่า…“เวอร์ชวลแบงก์” กำลังเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการเงินที่มีความท้าทายที่สูงมากในโลกยุค 5.0 โดยเป้าหมายใหญ่ที่ “แบงก์ชาติ” ต้องการ ก็คือต้องการให้ผู้บริโภคที่มีข้อจำกัดสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้

ทั้ง…คนที่ไม่มีรายได้ประจำและเอสเอ็มอี ทั้ง…คนที่ปัจจุบันไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ ทั้ง…คนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน หรือแม้กระทั่งคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อรวมไปถึงคนที่เป็นหนี้นอกระบบ

ด้วยความหวังที่ว่า ในเมื่อเป็นแบงก์ที่ทำธุรกิจบนดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยไม่มีสาขา ไม่มีตู้เอทีเอ็ม นั่นก็ทำให้เรื่องต้นทุนก็ลดน้อยตามไปด้วย

สุดท้าย!! ผู้บริโภคก็ต้องได้รับประโยชน์ทั้งดอกเบี้ยรับที่สูง ดอกเบี้ยกู้ที่น้อยรวมไปถึง ค่าธรรมเนียมที่ถูก!!

เมื่อประชาชนคนไทย มีทางเลือกมากขึ้นเพื่อทำให้ธุรกิจ การใช้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ จากระบบการเงินจาก “เวอร์ชวลแบงก์” บวกกับ “ระบบธนาคารแบบดั้งเดิม” ที่เข้ามาช่วยเพิ่ม และเสริมให้ตลาดการเงิน ระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ทั้งนี้แบงก์ชาติ ได้เปิดรับสมัคร กลุ่มทุนที่สนใจไปจนถึง 19 ก.ย.ปีนี้ ก่อนใช้เวลาพิจารณาประมาณ 9 เดือน เพื่อประกาศรายชื่อแล้วเตรียมความพร้อม ก่อนเปิดให้บริการได้ในราวกลางปี 69 โน่น

พูดง่ายๆ กว่าประชาชนคนไทย จะสามารถใช้บริการได้ ก็ราวๆ อีก 2 ปี!!ที่น่าสนใจ… อยู่ที่ว่า กว่าจะถึงเวลานั้น โลกที่ไร้รอยต่อใบนี้ จะก้าวหน้าไปทางไหน เพราะเรื่องราวของเทคโนโลยี เรื่องราวของดิจิทัล นั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือแทบจะไวกว่าสี-แสงด้วยซ้ำไป

อย่าลืมว่า!! ทุกวันนี้ โลกดิจิทัล ถูก “โจมตี” จากบรรดา “แฮกเกอร์” แบบไล่จับกันไม่ทัน ต่อให้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกกฎ ออกระเบียบ มาล้อมคอกอย่างแข็งแกร่งเพียงใด?

แต่สุดท้าย ประชาชนคนไทย ผู้บริโภค ก็ตกเป็น “เหยื่อ” เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว!!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง… เมื่อดูถึงเป้าหมายของกลุ่มที่ต้องการให้เข้ามาใช้บริการแล้ว ดูเหมือนว่า…กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ก็มีความอ่อนแอ ในโลกดิจิทัลอยู่ไม่น้อย

ปัญหาสำคัญ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ เพราะเมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดแล้ว ดูจะหนาแน่นไม่น้อย ทั้งความแข็งแรงของผู้ให้บริการ การคุมเข้มผู้ให้บริการ หรือแม้กระทั่งการให้ความคุ้มครองผู้ใช้บริการ ที่ไม่ได้แตกต่างจากผู้ฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป

แม้เป้าหมายดี ต้องการโอบอุ้มผู้ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน เข้าไม่ถึงเงินกู้ แต่ “ความเสี่ยง” ก็มีไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะความมั่นคงปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีและไซเบอร์ซีเคียวริตี้

อย่างที่บอก…ต่อให้ล้อมคอกแข็งแกร่งแค่ไหน บรรดาผู้ที่ไม่หวังดี หรือบรรดาแก๊งมิจฉาชีพก็สามารถชอนไชเจาะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้อยู่ร่ำไป

ทั้งหมด…จึงต้องขึ้นอยู่กับผู้ควบคุมอย่าง “แบงก์ชาติ” ว่าจะควบคุมดูแลให้รอบคอบรอบด้าน ได้มากน้อยเพียงใด เพราะเพียงเหตุผลแค่การกำกับดูแลคงไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกัน การจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแลด้านดิจิทัล อย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อย่างกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ คงไม่ได้เช่นกัน!!

…………………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img