ขณะที่ทุกฝ่าย กำลังรอกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
ด้วยเหตุผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงทำให้การจัดทำต้องล่าช้าเนิ่นนานออกไปกว่า 7 เดือนทีเดียว รัฐบาลของนายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” จึงเหลือเวลาใช้เงินงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้อีกเพียง 5 เดือนเท่านั้น
ตรงนี้…จึงกลายเป็นอีกเรื่องสำคัญ ที่ต้องวัดฝีมือกันว่า การใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 67 นี้จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
ในอดีต หน่วยรับงบประมาณต่างๆ มักต้องเร่งใช้งบ และต้องใช้ให้หมด ไม่เช่นนั้นจะถูกวัดเป็น KPI แถมถูกยึดคืนอีกต่างหาก เมื่อเวลาการใช้งบประมาณ เหลือ-น้อย ศักยภาพของการใช้ อาจไม่เป็นไปอย่างที่รัฐบาลคาดหวังก็เป็นไปได้
ต่อให้ “กรมบัญชีกลาง” ได้ออกแนวทางปฏิบัติรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณ 67 เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐให้สามารถเร่งรัดเบิกจ่ายภายใน 5 เดือนที่เหลือ
หรือแม้แต่การแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ในการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 175 ทีม ทั่วประเทศ รวมถึงคณะทำงานกำกับดูแลการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณก็ตาม
แนวทางเหล่านี้ ไม่ได้การันตีว่า การเบิกจ่ายงบประมาณที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้าไม่นาน ทุกอย่างจะโปร่งใส ขาวสะอาดทั้ง 100%
เอาเป็นว่าการออกมา “ล้อมคอก” การออกมา “ตีกัน” ก็เป็นอีกช่องทางที่ต้องการทำให้ในช่วง 5 เดือนของปีงบประมาณ 67 นั้นมีการใช้งบประมาณที่สมบูรณ์แบบที่สุด
แต่!! จะได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องมารอดู…รอวัดผลงานกันต่อไป!!
อย่างไรก็ตาม แม้ ณ เวลานี้ ทั้งรัฐบาล ทั้งหน่วยงานรับงบประมาณ ยังไม่ได้ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 อย่างเป็นทางการ…ก็ตาม
แต่ล่าสุด…รัฐบาลของนายเศรษฐา ก็ได้เคาะงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 กันออกมาแล้ว หลังบริหารจัดการ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จนต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณเป็น 8.65 แสนล้านบาท
กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 68 วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาทนี้ ประกอบไปด้วย
1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2.704 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 67 จำนวน 1.64 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.46 % และคิดเป็นสัดส่วน 72.07 % ของวงเงินงบประมาณรวม ลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วน73%
2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ในปีงบประมาณ 68 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ โดยในปี 67 ที่ผ่านมาตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้ จำนวน 118,361.1 ล้านบาท
3.รายจ่ายลงทุน จำนวน 9.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.98 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.9% และคิดเป็นสัดส่วน 24.20% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วน 20.4%
4.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1.50 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 31,780 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.86% และคิดเป็นสัดส่วน 4% ของวงเงินงบประมาณรวม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน ซึ่งมีสัดส่วน 3.4%
ขณะที่วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลอยู่ที่ 865,700 ล้านบาท ส่วน “จีดีพี” หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ” อยู่ที่ 19,570,126 ล้านบาท
เมื่อมาดูในรายละเอียดของการจัดสรรเงินงบประมาณ ปี 68 ก็พบว่า งบกลาง (12 รายการ) ได้รับการจัดสรรมากที่สุดจำนวน 805,745 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ กระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรร 390,314 ล้านบาท อันดับสาม กระทรวงศึกษาธิการ 340,584 ล้านบาท
ตามด้วย กระทรวงมหาดไทย 294,863 ล้านบาท, ทุนหมุนเวียน 274,296 ล้านบาท, กระทรงกลาโหม 200,923 ล้านบาท, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 195,637 ล้านบาท, กระทรวงคมนาคม 193,618 ล้านบาท เป็นต้น
ส่วนหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรน้อยที่สุด ได้แก่ หน่วยงานอื่นของรัฐ 631 ล้านบาท ตามด้วย กระทรวงพลังงาน 2,890 ล้านบาท, กระทรวงอุตสาหกรรม 5,589 ล้านบาท, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 6,447 ล้านบาท, กระทรวงพาณิชย์ 7,348 ล้านบาท, หน่วยงานของรัฐสภา 8,161 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งหมด!!ต้องมารอดูกันอีกทีว่ากระบวนการของการจัดทำงบประมาณ ปี 68 จะสามารถประกาศใช้ภายในเดือนก.ย.นี้ เพื่อให้ทันการเข้าสู่งบประมาณ ปี 68 ในวันที่ 1 ต.ค.67 นี้หรือไม่!!
…………………………
คอลัมน์ : EC Focus by Virgo