วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSลดดอกเบี้ย!!อย่างเดียวไม่พอ ทำตามสัญญาก่อนหมดเชื่อมั่น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ลดดอกเบี้ย!!อย่างเดียวไม่พอ ทำตามสัญญาก่อนหมดเชื่อมั่น

ในที่สุดความพยายามของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ก็เป็นผลสำเร็จ หลังส่งสัญญาณให้ “แบงก์ชาติ” ลดดอกเบี้ยหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่รับการตอบสนอง

จนต้องอาศัย “ความเป็นนายกฯ-ความเป็นเพื่อน-ความรู้จักกับบรรดานายแบงก์” มาขอร้อง มาขอความร่วมมือให้ “ลดดอกเบี้ย” กันหน่อย เพื่อช่วยเหลือ ประคับประคองให้ “เอสเอ็มอี” ให้ “กลุ่มเปราะบาง” มีภาระต้นทุนชีวิตลดลง

สุดท้าย…“สมาคมแบงก์” จึงประกาศให้แบงก์สมาชิกลดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ หรือดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี ลง 0.25% เป็นเวลานาน 6 เดือน

ส่วนการปรับลดจะดำเนินการอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์ ว่า…เอสเอ็มอี… กลุ่มเปราะบาง ที่เป็นลูกค้า เป็นใคร อย่างไร? เพราะแต่ละแบงก์ก็กำหนดคุณสมบัติ แตกต่างกันไป ทั้งในเรื่องของการกำหนดเรื่องรายได้ วงเงินกู้ รายผลิตภัณฑ์ และอีกมากมายสารพัด

เช่นเดียวกับ วงเงินที่ลดลงจากดอกเบี้ย เพราะมีหลายปัจจัย ที่ต้องนำมาคิดคำนวณทั้งเรื่องเงินต้นคงเหลือ ดอกเบี้ยที่คิด และระยะเวลาการกู้

หรือแม้แต่เรื่องของ “ความพร้อม” ก็ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารสมาชิก ทั้ง 15 แห่ง ว่าจะพร้อมเมื่อไหร่ และอย่างไร!!

ที่แน่ๆ การลดดอกเบี้ยลง 0.25% นาน 6 เดือนนั้น ใช่ว่าดอกเบี้ยจะลดลง 0.25% เพราะอัตรานี้เป็นอัตราต่อปี 12 เดือน แต่เมื่อเห็นพ้องให้ลดลง 6 เดือน นั่นหมายความว่า เมื่อคิดเฉลี่ยแล้วก็จะเหลือเพียงแค่ 0.125% เท่านั้น

ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ว่าการปรับลดดอกเบี้ยลงครั้งนี้ จริงๆ แล้วลูกค้าจะได้รับการช่วยเหลือเป็นวงเงินเท่าใดกันแน่!! แล้วจะช่วยผ่อนคลายความเดือดร้อนได้จริงหรือเปล่า

อย่าลืมว่า!! ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติเอง ก็ระบุว่าการลดดอกเบี้ยเพียง 0.25-0.5% ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก หากลดไปถึง 1% โดยที่ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ระยะสั้นอาจได้ผลดี แต่ก็เท่ากับว่าจะกลายเป็นหนี้ระยะยาวเพิ่มขึ้นอีก

เอาเป็นว่าดอกเบี้ยเงินกู้ จะลดเท่าไหร่? ก็ถือว่า ลดแล้ว และ “นายกฯเศรษฐา” ก็ได้ลงมือทำ ได้ทำหน้าที่ไปแล้ว ซึ่งการทำหน้าที่ครั้งนี้ ก็อยู่บนข้อกังขาที่ว่าเป็นการ “แทรกแซง” หรือไม่?

เพราะตามธรรมเนียม ตามกฎเกณฑ์แล้ว การลดดอกเบี้ย ย่อมต้องรอให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้ส่งสัญญาณ ซึ่งการส่งสัญญาณก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการเรียกร้องมากๆ เรียกร้องหนักๆ แล้วจะตัดสินใจลดกันทันที

การทำหน้าที่ การตัดสินใจของ “กนง.” ย่อมต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจแบบรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายใน ภายนอก ที่เป็นแรงกดดัน

หากจะร้องขอกันตรงๆ ก็จำเป็นที่ต้องดำเนินการผ่าน “ผู้กำกับดูแล” อย่าง “แบงก์ชาติ” เพื่อให้ไปเจรจา ไปทำหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน

นอกจากนี้แบงก์แต่ละแบงก์ ก็ต้องดำเนินการ ต้องทำธุรกิจ ที่ต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้นมากมาย การลดดอกเบี้ย ก็เท่ากับว่าการลดรายได้ซึ่งตรงนี้ แบงก์เองก็ต้องตัดสินใจแบบหนักใจ เพราะเท่ากับว่าผลประโยชน์ในส่วนที่ผู้ถือหุ้นควรจะได้ กลับลดน้อยถอยลงตามไปด้วย

ต่อให้…ผลประกอบการของแบงก์ที่ออกมาล่าสุด ในไตรมาสแรกของปีนี้ ต่างฟันกำไรกันไปเป็นหลักหมื่นล้านบาท ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นรายรับที่ได้มาจากในช่วงที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น รวมไปถึงการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม

แต่!! ก็เป็นการทำหน้าที่ในเชิงธุรกิจ ที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ควบคู่ไปกับประโยชน์ของประชาชนชาวไทยที่เป็นลูกค้า ที่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผลการดำเนินงานที่ออกมา จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เป็นธรรม” กับลูกค้าหรือไม่?

แม้เวลานี้ ความพยายามของ “นายกฯเศรษฐา” จะเป็นผลสำเร็จก็ตาม ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านเท่านั้น

เพราะยังมีอีกสารพัดเรื่อง “สารพัดปัญหา” ที่รัฐบาลต้องเข้ามาโชว์ฝีมือและทำให้สำเร็จ ยิ่งในช่วงนี้ข้าวของแพงระยับ จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากสารพัดปัจจัย

ดังนั้น!! การโชว์ฝีมือเพียงแค่ การลดดอกเบี้ย คงไม่เพียงพอ ยังมีอีกสารพัดคำสัญญา ที่รัฐบาลต้องทำให้คะแนนเสียงกว่า 10 ล้านคนนั้นรู้ซึ้งถึงคำว่า “คุ้มค่า” โดยเร็ว

เพราะ…หากยิ่งปล่อยไว้นาน อาจมีผลต่อฐานะของรัฐบาลไม่มากก็น้อย!!

…………………………

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img