วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเปิดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนขายไฟ 5,203 เมกะวัตต์ “ขาใหญ่”รอแบ่งเค้ก
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนขายไฟ 5,203 เมกะวัตต์ “ขาใหญ่”รอแบ่งเค้ก

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประกาศ รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงพ.ศ.2565 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปหลายปี

อย่างไรก็ตาม การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในครั้งนี้ จะไม่ได้เปิดประมูล แต่จะการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติดีที่สุด ขณะที่เอกชนหลายบริษัทต่างเตรียมความพร้อมที่จะชิงเค้กก้อนโตนี้ โดยเฉพาะเอกชนรายใหญ่

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระบุว่า การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงพ.ศ. 2565 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ นั้นในขณะนี้ บอร์ดกกพ.อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อให้ถูกต้อง โดยคาดว่าจะสามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ในช่วงปลายสัปดาห์นี้หรือไม่เกินต้นสัปดาห์หน้า

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์นั้น เป็นไปมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) กำลังการผลิตรวม 335 เมกะวัตต์, พลังงานลม กำลังการผลิตรวม 1,500 เมกะวัตต์, โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) กำลังการผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังการผลิตรวม 2,368 เมกะวัตต์ โดยทยอย COD ตั้งแต่ปี 2567-2573

นอกจากนี้แล้วการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในครั้งนี้จะไม่ได้เป็นการประกวดราคา แต่จะเป็นลักษณะของ การคัดเลือก โดยจะพิจารณาขอเสนอของผู้ประกอบการที่ได้เสนอรายละเอียดซื้อขายไฟฟ้าเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาด้านราคา ด้านคุณสมบัติ ด้านเทคนิค

หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก

1.การพิจารณาด้านราคา โดย กระทรวงพลังงาน จะเป็นผู้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของเชื้อเพลิงแต่ละประเภท และเป็นราคาที่จะไม่สร้างภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาวให้แก่ประเทศ โดยผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายต้องรับและปฏิบัติตามอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนด

2.ด้านคุณสมบัติ จะตรวจสอบคุณสมบัติตามเงื่อนไข อาทิ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ไม่เป็นหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ และวางหลักค้ำประกันการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้ามูลค่าตามที่กำหนดโครงการที่ยื่นข้อเสนอต้องเป็นโครงการใหม่และไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นต้น โดยผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาด้านเทคนิคต่อไป

3.ด้านเทคนิค มีการตรวจสอบและให้คะแนนความพร้อมด้านต่าง ๆ อาทิ พื้นที่ เทคโนโลยี เชื้อเพลิง การเงิน ความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน เป็นต้น โดยต้องมีคะแนนในแต่ละด้านและคะแนนรวมไม่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดจึงจะได้รับการพิจารณาจัดเรียงคะแนนด้านเทคนิคเพื่อคัดเลือกต่อไป โดยผู้ที่มีคะแนนสูงสุด คือมีความพร้อมมากที่สุด จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้น จนกว่าจะครบเป้าหมายการรับซื้อ

4.กรณีมีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย ณ จุดเชื่อมโยงเดียวกัน แต่บริเวณดังกล่าวยังไม่สามารถปรับปรุงระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ได้นั้น จะรับซื้อไฟฟ้าเรียงตามลำดับเชื้อเพลิง ดังนี้ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบ Solar+BESS และแบบติดตั้งบนพื้นดิน ทั้งนี้ กกพ. จะกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกและมีผลสัมฤทธิ์ใกล้เคียงกับเป้าหมายตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดฯ (ปรับปรุงเพิ่มเติม)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) ที่มีกำลังผลิตตามสัญญาตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปแต่ไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ จะรับซื้อปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ในอัตรา 2.8331 บาทต่อหน่วย ระยะเวลาสัญญา 25 ปี การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาด จะเริ่มในปี 2567 ปริมาณ 190 เมกะวัตต์ ในอัตรา 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี

การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังผลิตตามสัญญาทุกขนาด จะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยในแต่ละปีจะทยอยรับซื้อในปริมาณ 250 เมกะวัตต์ จนถึงปี 2573 รวมกำลังผลิต 1,500 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟฟ้า 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี ส่วนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) กำลังการผลิตตามสัญญาทุกขนาด 2.0724 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 20 ปี

เอกชนรายเล็ก-รายใหญ่เล็งแบ่งเค้ก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากมีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรวมกัน 5,203 เมกะวัตต์ คาดว่า ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าทั้งรายเล็ก รายใหญ่จะให้ความสนใจยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาต่างก็ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วไม่ว่าจะเป็น บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF อาจจะมีความร่วมมือกันในการยื่นข้อเสนอแข่งขันร่วมลงทุนกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญ ส่วนในโครงการพลังงานลมมีความเป็นไปได้ว่า GULF อาจจะยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว

ทั้งนี้ GUNKUL ตั้งเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,000 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปี แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์ม รวม 500 เมกะวัตต์ และวินฟาร์ม รวม 500 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) BGRIM, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ก็ได้ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมยื่นข้อเสนอ เพื่อชิงโครงโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนี้เช่นกัน

นายภูวดล สุนทรวิภาต ผู้จัดการใหญ่และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานปฏิบัติการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) BCPG กล่าวว่า บริษัทเตรียมความพร้อมจะยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยได้สำรวจพื้นที่สายส่งไว้แล้ว คาดว่าจะยื่นข้อเสนอทั้งพลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์รวมกันในระดับหลัก 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสายส่งที่จะรองรับได้ด้วย

……….

รายงานพิเศษ : ไรวินทร์

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img