วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“รัฐ-เอกชน”ตื่นตัว เปลี่ยนใช้“รถ EV” แทนน้ำมัน พร้อมเคลมคาร์บอนเครดิต
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“รัฐ-เอกชน”ตื่นตัว เปลี่ยนใช้“รถ EV” แทนน้ำมัน พร้อมเคลมคาร์บอนเครดิต

เทรนด์รถยนต์ EV พุ่งต่อเนื่อง รัฐ-เอกชน ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เริ่มเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขนส่งแทนรถพลังงานน้ำมัน ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV นอกจากช่วยในการลดต้นทุนพลังงานแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

ทั้งนี้จากเทรนด์การใช้รถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น ทำให้ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ EV สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ และการขนส่ง อย่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA, บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ เพราะเป็นผู้ร่วมลงทุนในโรงงานประกอบรถยนต์ EV ใน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา โดย EA ถือหุ้นในสัดส่วน 55% และ NEX 45%

คณิสสร์ ศรีวชิระประภา

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า จากนโยบายของภาครัฐที่มีการสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งตอบโจทย์เรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะรถ EV เป็นรถพลังงานสะอาดไม่สร้างมลพิษ ส่งผลให้กระแสการใช้รถ EV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนส่ง-โลจิสติกส์ ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการเปลี่ยนการใช้รถในการขนส่งสินค้าเป็นรถ EV แทนการใช้รถน้ำมัน

ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในภาคการขนส่งที่เปลี่ยนมาใช้รถ EV เพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากนี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว จากข้อมูลของลูกค้าที่นำรถหัวลากไฟฟ้า NEX ไปใช้พบว่า ยังช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงลงได้มากกว่าการใช้น้ำมันของเครื่องยนต์ดีเซลถึง 68% อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 585 ตันต่อปี

รถหัวลากไฟฟ้า

ขณะเดียวกันยังได้รับข้อมูลว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งมีแผนในการปรับเปลี่ยนการใช้รถ EV แทนรถน้ำมัน เพื่อตอบสนองนโยบายและแผนในการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตามเป้าหมาย ภายในปี ค.ศ.2050 อาทิ รถบัสโดยสารรับ-ส่งพนักงาน รถตู้ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเปลี่ยนใน 2 ลักษณะ คือการซื้อขาดและการเช่าเหมาแบบรายเดือน

โดยในขณะนี้ทางบริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด โดยเฉพาะการร่วมมือกับพันธมิตรในการเปิดโชว์รูมจัดจำหน่ายและให้บริการบำรุงรักษาแบบครบวงจรจำนวน 15 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2566 ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้รถ EV ได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ NEX ได้ตั้งเป้าหมายส่งมอบยานยนต์ EV ทุกประเภท ไม่ต่ำกว่า 6,000 คัน ทั้งเมล์ EV รถบัส EV รถหัวลาก EV รถบรรทุก EV รวมถึงรถกระบะ EV และรถตู้ EV

ผศ.ดร.มะโน ปราชญาพิพัฒน์

ด้าน ผศ.ดร.มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาและวิเคราะห์การใช้รถยนต์ในภาคธุรกิจขนส่งพบว่าเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นสาเหตุของการก่อมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ที่ขณะนี้กลับมาวิกฤตหนักกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Cabon Neutrality) ภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065 แนวทางการจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มองว่าแนวคิดกรีนโลจิสติกส์ถือเป็นทางเลือกสำคัญ เพราะเป็นกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคธุรกิจ ทั้งในแง่การลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การประหยัดพลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน

รถหัวลากไฟฟ้า

ขณะนี้ภาคธุรกิจต่างๆ หันมาให้ความสำคัญเรื่องกรีนโลจิสติกส์มากขึ้น หลายบริษัทเริ่มตื่นตัวในการนำยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้ ทั้งรถบรรทุก EV รถหัวลาก EV รถโดยสาร EV ซึ่งไม่ใช่แค่กิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ CSR เหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการนำมาสู่แนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน การใช้รถ EV เป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่รณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการขนส่งเริ่มทยอยเปลี่ยนมาใช้รถ EV ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเปลี่ยนแปลงวงการโลจิสติกส์ของไทย ที่จะนำไปสู่เป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.มะโน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการเปลี่ยนมาใช้รถ EV นั้น ผู้ประกอบการรถขนส่งยังสามารถยื่นขอการรับรองภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิต ที่เกิดขึ้นจากโครงการ T-VER สามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes : ITMOs) และนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนต่อไปได้ ซึ่งตลาดคาร์บอนถูกกำหนดไว้ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2558-2593

ในขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด EV เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2566 มีมติเห็นชอบ 2 เรื่องหลัก คือ มาตรการส่งเสริมการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ซึ่งมีการปรับตัวเลขและเงื่อนไขเล็กน้อย และ มาตรการส่งเสริมรถยนต์ EV ในระยะต่อไป ซึ่งมีการปรับตัวเลขและระยะเวลาเพิ่มเติม ส่วนรายละเอียดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ คาดว่าทางกระทรวงอุตสาหกรรม จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า

โดยปัจจุบันมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 อยู่ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) โดยที่สถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในช่วงปี พ.ศ.2562-2565 ราคาเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดในปี 2566 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 77 บาทต่อตัน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการขนส่งที่ปรับเปลี่ยนรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นรถ EV จะหันมาจัดทำคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป

………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย…“ไรวินทร์”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :  บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img