วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSGC ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก-สิ่งแวดล้อม ด้วย “High Value & Low Carbon”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

GC ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก-สิ่งแวดล้อม ด้วย “High Value & Low Carbon”

มีหลายปัจจัยผันผวนในปัจจุบันที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และขยายความรุนแรงอย่างรวดเร็ว แถมคาดเดาจุดจบได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 และปัจจัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่อเนื่องมาถึงอิสราเอล-ฮามาส สร้างผลกระทบในวงกว้างและต่อเนื่องยาวนาน

ซ้ำร้ายยังต้องเจอกับหายนะทางธรรมชาติจากภาวะโลกร้อนที่มาเป็นระลอกในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการต้องรื้อโครงสร้างการบริหารงาน และปรับตัวยกใหญ่ โจทย์ยา คือ จะไปทิศทางไหน เพราะไม่เพียงให้อยู่รอด แต่ต้องเติบโตได้ด้วย

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ธุรกิจเคมีภัณฑ์สัญชาติไทย ที่เติบโตและผงาดในเวทีโลกอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 12 ปีกับสินทรัพย์ระดับ 7 แสนล้านบาทในวันนี้ มีบริษัทลูกและบริษัทร่วมทุนกว่า 34 บริษัท โรงงานผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใน 29 ประเทศทั่วโลก ยักษ์ใหญ่แบบนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเข้าสู่กระแสคลื่นความผันผวนเต็มๆ ความต้องการลด กำลังการผลิตท่วมตลาด แถมยังถูกแข่งขันจากทั่วโลก ใครมีต้นทุนต่ำกว่า “รอด”

GC จะรอดและเติบโตได้อย่างไร ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC เล่า GC ได้เริ่มต้นทำโครงการต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดค่าใช้จ่ายมาตลอด 4-5 ปี ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 รวมแล้วลดไปได้กว่า 30,000 ล้านบาท มาถึงปี 2566 ยังลดต่อ 6,000-7,000 ล้านบาท โครงการอ่อนไหวอย่างการลดคนก็ยังต้องทำ เพียงแต่ทำเป็นจังหวะๆเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนคนได้และไม่ใช้วิธีเอาคนออกตรงๆ หากใช้รูปแบบออก 3 รับ 1 ประหยัดไปได้ 8,000 ล้านบาท จากเป้าหมาย 5 ปี 12,000 ล้านบาท ส่วนอะไรที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักก็หาพันธมิตรมาร่วมลงทุน “ทำให้นาวาใหญ่ลำนี้เบาขึ้น”

ขณะเดียวกันก็ต้องมองโอกาสใหม่ๆ ไปด้วย รอวันที่อุตสาหกรรมนี้จะดีดกลับมาดี โดย GC นำเรื่องภาวะโลกร้อนมาเป็นผลบวกทางธุรกิจ เน้นขยายธุรกิจไปสู่ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon) รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง (High Value) หนีคู่แข่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำกำไรได้มากกว่า

ในส่วนของ ผลิตภัณฑ์ Low Carbon ทาง GC มอง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) คือ ขุมทรัพย์ไม่ใช่ผู้ร้าย สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตของอุตสาหกรรมอย่างดี ตอนนี้เร่งบูรณาการกับบริษัทในเครือปตท. พัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS เพื่อนำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกมาเป็น “กรีน” เป็นที่ต้องการของตลาดรักษ์โลกในวันหน้า อีกทางหนึ่งก็เข้าไปลงทุนในบริษัทอื่นๆ ด้วย เช่น  Econic Technologies (Econic) บริษัทสัญชาติอังกฤษ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตโพลิเมอร์

เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้ทั้งธุรกิจใหม่ และมีส่วนร่วมลดโลกร้อน GC จึงมั่นใจว่าแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 จะเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย

มีอีกหลายธุรกิจของ GC ที่จะสอดคล้องไปกับแผนการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างธุรกิจรีไซเคิล อาจเป็นธุรกิจน้องเล็กแต่จริงจัง ดร.คงกระพัน มองว่า การรีไซเคิลเป็นวิธีลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้ดีที่สุด ดังนั้น GC จึงมีแนวทางจะขยายกำลังการผลิตจากปัจจุบันผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 45,000 ตัน/ปี เป็นเม็ดพลาสติกชนิด PCR PET จำนวน 30,000 ตัน/ปี และ เม็ดพลาสติกชนิด PCR HDPE จำนวน 15,000 ตัน/ปี เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade ภายใต้แบรนด์ “InnoEco” ซึ่งผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขไทย สหรัฐ และยุโรปแล้ว การนำพลาสติกใช้แล้วในประเทศมาเป็นวัตถุดิบทั้งหมด ทำให้ขยะพลาสติกไร้ค่ากลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าอีกครั้ง แม้ราคาผลิตภัณฑ์ปลายทางอาจจะสูงขึ้น แต่ก็ได้รับการตอบรับจากตลาดกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการขยายกำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ชนิด (PLA) ในโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 มูลค่า 1,400 ล้านบาทก็เดินหน้าต่อ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทลูก โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 ด้วยกำลังผลิต 75,000 ตัน/ปี

สำหรับ ผลิตภัณฑ์ High Value ที่ GC จะพุ่งไปนั้น ถ้าจะให้เร็วก็หนีไม่พ้นซื้อกิจการเหมือนกับที่ GC ซื้อกิจการ Allnex ยักษ์ใหญ่จากเยอรมันด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์สารเคลือบผิว (Coating Resins) และสารเติมแต่งสำหรับงานอุตสาหกรรมเมื่อปี 2564 ที่ช่วยตอบโจทย์ทิศทาง ทั้ง High Value and Low Carbon ไปพร้อมกัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 600-780 กิโลตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เพียงแต่ในช่วงเวลาที่ยังมีปัจจัยท้าทายมากมายในตอนนี้ การซื้อกิจการขนาดใหญ่ระดับ 1.4 แสนล้านบาทอย่างนั้น GC จึงของพักไว้ก่อนชั่วคราว

แม้ว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ดร.คงกระพัน มองว่ายังต้องเซฟ การลงทุนของ GC ในปี 2567 เลยตั้งงบเบาะๆไว้ 22,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการปกติอย่างการซ่อมบำรุงเครื่องจักรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 15,000 ล้านบาท และลงทุนโครงการต่อเนื่องที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7,000 ล้านบาท แล้วก็ต้องติดตามปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยากต่างๆ ทั้งจากปัจจัยสงคราม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐ ว่าจะสามารถ Soft Landing หรือชะลอเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงขณะที่ไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้หรือไม่ ดังนั้น 1-2 ปีนี้ธุรกิจปิโตรเคมียังต้องเหนื่อยกันไปก่อน แม้ปริมาณการขายจะเติบโตแต่ก็ไม่มากนัก หรือเพิ่ม 10% จากปีนี้มีปริมาณการขายเม็ดพลาสติก 17 ล้านตัน ผลิตภัณฑ์ที่น่าจะมีมาร์จิ้น (margin) ดีขึ้นก็เป็นเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) ผลิตภัณฑ์กลุ่มอะโรเมติกส์ และกลุ่มเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (specialty)

ในระหว่างรอวันที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะรุ่งอีกครั้งนั้น กลยุทธ์ 3 Steps Plus ของ GC ก็เดินหน้าต่อ ทั้ง Step Change หรือยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ Step Out การแสวงหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่ หรือในต่างประเทศ จากธุรกิจ High Value and Low Carbon และ Step Up การสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ โดยมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero เพื่อรักษาระดับการเติบโต ขณะเดียวกันก็ได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในไทยและระดับโลก

#GC #ดีขึ้นเพื่อคุณดีขึ้นเพื่อโลก #เคมีที่เข้าถึงความสุข

#ChemistryforBetterLiving #GenSStandingForSustainability

………………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย “สายัน สัญญา”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img