วันอาทิตย์, เมษายน 28, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘ของขวัญปีใหม่’ลดค่าไฟฟ้า-น้ำมันดีเซล เมื่อถึงเวลาต้องถูกเรียกคืน..แค่เมื่อไหร่?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ของขวัญปีใหม่’ลดค่าไฟฟ้า-น้ำมันดีเซล เมื่อถึงเวลาต้องถูกเรียกคืน..แค่เมื่อไหร่?

เป็นธรรมเนียมไปแล้วในทางการเมือง ที่ต้อง มอบของขวัญปีใหม่ด้วยการลดค่าไฟฟ้าและน้ำมัน รัฐบาลไหนก็ต้องทำเหมือนๆ กัน ยุค “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ประกาศแล้วก่อนปีใหม่ให้ ค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ไม่ให้เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย และจะมีการดูราคาก๊าซธรรมชาติในวันที่ 1 มกราคม 2567 ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะได้รับส่วนลดเพิ่ม 21 สตางค์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17.77 ล้านครัวเรือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิม คือ 3.99 บาทต่อหน่วย

พร้อมกับ ประกาศตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2567 ส่วน ราคาก๊าซหุงต้มก็ตรึงไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2567 เช่นกัน

มาดูเบื้องหลังของการลดราคาค่าไฟฟ้าที่จะปรากฏหน้าบิลค่าไฟบ้านเรือนงวดเดือน มกราคม-เมษายน 2567  ซึ่งลดลงจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศ 4.68 บาทต่อหน่วย ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย และเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยสำหรับ 17.7 ล้านครัวเรือน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 48 สตางค์ กับ 68 สตางค์ ใครรับภาระ หลายหมื่นล้านบาท? เพราะทุกๆ การอุดหนุน 1 สตางค์ ต้องใช้เงิน 600 ล้านบาท

ทำยังไงไม่พ้น 2 รัฐวิสาหกิจ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต่อไป สะสมเป็นเงินคงค้าง (Accumulated Factor : AF) ตั้งแต่งวดแรกเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564  รวมๆก็ประมาณ 138,000 ล้านบาท ซึ่ง “พีระพันธุ์” ทราบดีว่า เป็นการแบกที่สาหัสอยู่ เพราะกฟผ.ต้องแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง โดยไม่เห็นทิศทางว่าจะได้คืนหมดเมื่อใด แล้วดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น 2 เด้งอีกล่ะ ทั้งดอกเบี้ยจากการกู้ยืม และดอกเบี้ยจากการที่ กฟผ.ตึ๋งค่าเชื้อเพลิงกับ ปตท.อีก เลยต้องตั้งคณะกรรมการมาดูภาระนี้อย่างจริงจัง

ส่วน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ปรับลดค่าก๊าซที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้า ซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็นไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู และเลื่อนการรับชำระค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ขายให้ กฟผ.ออกไปก่อนราว 9,000 ล้านบาท โชคดีได้อานิสงส์จากการส่วนลดค่าก๊าซฯจำนวน 4,300 ล้านบาทมาช่วย ซึ่งได้จากการขาดส่งก๊าซฯในอ่าวไทยของผู้ผลิต (Shortfall) แหล่งเอราวัณ แปลง G1/61 ที่ไม่เป็นไปตามแผนในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 ที่ผลิตได้ 400 ​ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน จากสัญญา 800​ ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวัน

ส่วนการลดค่าไฟฟ้าให้ “กลุ่มเปราะบาง” ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย ที่ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 487.50 ล้านบาทต่อเดือน รวม 4 เดือน ประมาณ 1,950 ล้านบาท เป็นการนำงบกลางมาใช้ในการบริหารจัดการ

นั่นหมายถึงว่า การลดค่าไฟฟ้าเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน สุดท้ายประชาชนก็ต้องคืนเขาไปในปีหน้า หากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงลดลง เราก็จะไม่ได้รับอานิสงส์นั่น เพราะเราได้ไปแล้ว ให้เราดีใจกันไปก่อนแล้ว เรียกว่าให้ของขวัญมาแล้ว ค่ำคืนหนึ่งก็จะถูกเรียกคืนไป

เหมือนกับราคาน้ำมัน การตรึงน้ำมันดีเซลเบื้องหลังมาจากกระทรวงพลังงาน ต้องคุยกับกระทรวงการคลังในการบริหารจัดการด้านราคา โดยใช้กลไกของภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วย ซึ่งจนถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2566 ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบรวมแล้ว 78,680 ล้านบาท ติดลบจากน้ำมัน 32,569 ล้านบาท และก๊าซหุงต้ม 46,111 ล้านบาท ราคานี้เขาก็เอาคืนเช่นกันไปในโครงสร้างราคาน้ำมันเมื่อราคาพลังงานปีหน้าลดลง

มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น จริงๆ อย่างที่บอกว่า สุดท้ายประชาชนก็ต้องคืนของขวัญกลับไป

ส่วนในระยะยาวต้องดูกันต่อไปว่า การปรับโครงสร้างราคาพลังงานในยุค “พีระพันธุ์” จะรีดไขมันอะไรออกมาได้บ้าง ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดตรงไหนอย่างไร ที่ว่าไม่อุ้มกลุ่มทุนนั้น จะเป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งไม่เฉพาะการนำตัวเลขของหน่วยงานต่างๆ มากางดูแล้วใส่ลงไปในสูตรต้นทุนค่าไฟแบบเดิมอีกต่อไป แต่หมายถึงการพิจารณาให้ลึกและรอบถึงการบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ

เพราะในค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย

1.ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ทั้งค่าเชื้อเพลิง รวมทั้งค่ารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2.ต้นทุนค่าระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ต้นทุนระบบจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ และการชำระหนี้คืน กฟผ. ที่แบกรับค่าไฟฟ้าอยู่ก็มาบวกกับต้นทุนในส่วนนี้

3.เงินลงทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า และค่าบำรุงรักษา หรือ ค่าพร้อมจ่า ( Availability Payment : AP) ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนต้องจ่ายให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน โดยเฉพาะ IPP ทุกโรง ไม่ว่าจะจ่ายไฟเข้าระบบหรือไม่ก็ต้องจ่าย ซึ่งค่า AP คิดมาจาก เงินลงทุนที่สะท้อนต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการผลิตและบำรุงรักษา และต้นทุนค่าเชื่อมโรงไฟฟ้ากับระบบส่งของ กฟผ. อัตราค่า AP ที่อยู่ในโครงสร้างค่าไฟฟ้านั้นมีการเรียกร้องกันมานานให้ปรับเสียทีแต่ติดที่สัญญาที่กับโรงไฟฟ้าเอกชนไปแล้วตลอดอายุโรงไฟฟ้าเลยทีเดียว งานนี้หาก “พีระพันธุ์” แตะและทำสำเร็จ ต้องปรับมือรัวๆ

รวมไปถึง โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เราต้องพึ่งพามากขึ้น เพราะก๊าซเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทย เมื่อก๊าซในอ่าว และประเทศเพื่อนบ้านลดน้อยลง ก็ต้องนำเข้า ซึ่งราคานำเข้า LNG สวิงขึ้นลงตามราคาพลังงานตลาดโลก ทำอย่างไรที่จะบริหารสัญญาซื้อขายระยะสั้นและยาวอย่างสมดุล

ต้องรอดู…เพื่อวัดฝีมือ“รมว.พลังงาน” ที่ชื่อ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” กันต่อไป

………………………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“สายัญ สัญญา”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img