วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 10, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“กกพ.”กับโจทย์และคำตอบที่ท้าทาย!! “สมดุล”และ“เป็นธรรม”ทำเอามันไม่ได้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กกพ.”กับโจทย์และคำตอบที่ท้าทาย!! “สมดุล”และ“เป็นธรรม”ทำเอามันไม่ได้

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชุดแรกได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 นับเนื่องในปีนี้ ก็เข้าปีที่ 16 แล้วสำหรับการมีอยู่ของ “กกพ.”

หลายคนจากหลายวงการ เดินผ่านเข้ามาในบทบาท “กกพ.” บางคนถูกจดจารึกเป็นประวัติศาสตร์อย่างภาคภูมิสมเกียรติศักดิ์ศรี บางคนมีเพื่อนมากขึ้น แต่บางคนอาจไม่มีใครจำได้ ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ในขณะนั้น

เรามาย้ำกันอีกทีว่า “กกพ.” ซึ่งมี สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ กกพ. เขาทำหน้าที่หลักๆ อะไร ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดให้ กกพ.มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ซึ่งกำหนดครอบคลุมให้ กกพ.กำกับดูแลในทุกมติ รวบคำภารกิจที่กกพ.ต้องทำตามกฎหมายได้ว่า “สมดุลและเป็นธรรม” ในทุกเรื่องและทุกฝ่าย ต้องดูแลทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงโรงไฟฟ้าต่างๆ ให้เติบโตไปด้วยกัน ไปจนถึงมิติการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสมดุลทรัพยากรธรรมชาติ

มี “กกพ.ท่านหนึ่ง” ที่เข้ามาเมื่อปลายปี 2564 ที่สังคมคาดหวังไม่น้อย ในฐานะเป็นนักข่าวมาเกือบตลอดชีวิตการทำงาน “วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา” เขาเข้ามาในสาขาคุ้มครองผู้บริโภค หลังจากดูทิศทางลมมา 2 ปีกว่าๆ ปี 2567 ได้ประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจว่า กำลังขับเคลื่อนในหลายเรื่องด้วยกัน เขาเล่าเสียงสะท้อนจากหลายเวทีว่า พูดกันแต่ “ค่าไฟแพง” “อยากให้ค่าไฟถูก”

“วรวิทย์” ระบุว่า กิจการพลังงานต้องสมดุลทั้ง 4 ขา ทั้ง ผู้ใช้พลังงาน ผู้ผลิต ผู้ได้รับผลกระทบจากการผลิต และ หน่วยงานของรัฐ 4 ส่วนนี้ต้องสมดุลต้องไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน”  โดย 1 ในภารกิจที่ “เขา” กำลังทำและจะทำ คือ ให้ผู้บริโภคมีความรู้อย่างแท้จริงในเรื่องพลังงานในทุกมิติ รวมไปถึงเศรษฐศาสตร์พลังงานด้วย ไม่ใช่พูดตามๆ กันว่าค่าไฟฟ้าแพงๆ เขามั่นใจในระบบไฟฟ้าของไทย หากเทียบประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงแล้ว เราอาจไม่ถูกที่สุด แต่เรามั่นคงสุดๆ

ตัวเลขค่าไฟฟ้าในอาเซียน (ข้อมูลปี 2565) ไล่ลำดับ สิงคโปร์ 7.88 บาท, ฟิลิปปินส์ 6.03 บาท, กัมพูชา 5.12 บาท, ไทย 4.14 บาท, มาเลเซีย 3.13 บาท, เวียดนาม 2.82 บาท, อินโดนิเซีย 2.62 บาท, เมียนมาร์ 2.19 บาท, บรูไน 1.57 บาท, สปป.ลาว  1.44 บาท

วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา

“วรวิทย์” บอกว่า ราคาค่าไฟของไทยอยู่ลำดับ 4 ส่วนคุณภาพเมื่อเทียบกับประเทศที่ค่าไฟฟ้าถูกกว่า ไทยมีคุณภาพมากกว่าแน่นอน ถือว่าไฟฟ้าตกดับน้อยมาก 

แต่ก็เพื่อให้สิ่งที่มั่นใจว่า “คุณภาพไฟฟ้าบ้านเราดี” จับต้องได้เป็นรูปธรรม กกพ.ได้ดึง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มาช่วย สร้างระบบการรายงานผลไฟฟ้าตกดับแบบเรียลไทม์ เพื่อบอกให้รู้ว่าไฟฟ้าตกดับที่ไหน ดับรวมกี่ครั้ง ดับนานแค่ไหน ขณะเดียวกันก็ให้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กกพ.ไปรวบรวมสถิติมาด้วยว่า เพื่อนบ้านเขาดับกันกี่ครั้ง ได้ตัวเลขมาแล้ว จะได้ถกเถียงกันบนข้อมูลกัน ซ้ำเข้าไปอีกให้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาศึกษาว่า ถ้าไฟตกดับแล้วเกิดความเสียหาย จะชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าตกดับเท่าไหร่และอย่างไร

ส่วน ค่าไฟแพง “วรวิทย์” ย้ำว่า ค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) มีทั้งบวกทั้งติดลบตลอดมา แล้วก็ไม่เคยเห็นราคาสินค้าขยับขึ้นลงตามราคาไฟฟ้า มีแต่ราคาสินค้าขึ้นอย่างเดียว แสดงให้เห็นว่า ค่าไฟไม่ได้มีอิทธิพล หรือมีผลต่อราคาสินค้าจริงๆ “เป็นแค่การพูดเพื่อให้มีข้ออ้าง” เขาถามกลับผู้ประกอบการว่า แบบนี้เรียกว่ารับผิดชอบต่อสังคมไหม?  

แต่ขณะเดียวกัน “วรวิทย์” อธิบายว่า กกพ.ก็กำลังรีดไขมันส่วนเกินต่างๆ ที่แฝงในค่าไฟฟ้าด้วย ตอนนี้โฟกัสไปที่ไฟส่องสว่างสาธารณะ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายของระบบ ตรงไหนสว่างเกิน ตรงไหนไฟไม่พอ ต้องมาดูกันอย่างละเอียด โดยบอกว่า มีไฟฟ้าสาธารณะบางจุด ถูกใช้อย่างทิ้งขว้างสว่างเกิน บางจุดก็ต้องเพิ่ม เพื่อความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุ โดยจะเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นติดตั้งมิเตอร์ไฟสาธารณะ เพื่อดูประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า

แล้วก็ค่าลงทุนของการไฟฟ้าที่อยู่ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน เขามองว่า มันดูจะไม่เป็นธรรมในบางเรื่อง อย่างการลงทุนโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งตรงไหนทำภูมิทัศน์สวยขึ้น ที่ดินแพงขึ้น ท้องถิ่นเก็บภาษีบำรุงท้องที่ได้มากขึ้น

“วรวิทย์” บอกว่า โดยคอนเซปต์แล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์ต้องมาช่วยกันลงทุน เพื่อตัดงบลงทุนออกจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าของ 2 การไฟฟ้าฯ ตอนนี้ท้องถิ่นมาช่วยลงทุนแล้ว แต่อีกครึ่ง 2 การไฟฟ้าฯต้องลงทุนเอง

ส่วนไขมันอีกตัวที่อยู่ในค่าไฟฟ้า คือ ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment : AP) ที่หลายฝ่ายเรียกร้องกันมานานว่า ควรตัดออก ค่า AP ชื่อนี้ จะมีอยู่ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของเอกชน (IPPs) นับจากวันเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้านั้นๆ โดยไฟฟ้าหน่วยแรก IPP จะได้รับค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าจาก กฟผ. สำหรับการจัดให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาเพื่อพร้อมจ่ายให้แก่ กฟผ. ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ครอบคลุม ต้นทุนการดำเนินงานและซ่อมบำรุงคงที่ (Fixed Operating and Maintenance Cost) การชำระเงินต้นและดอกเบี้ย (Debt Servicing Expenses) และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity) ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดย กฟผ. จะต้องชำระ AP ไม่ว่าจะมีการจ่ายไฟฟ้าจริงหรือไม่

ตรงนี้ “วรวิทย์” ย้ำถึงต้นสายของของ AP ว่า กฟผ.ลงทุนโรงไฟฟ้าเองไม่ได้ทั้งหมด ต้องให้เอกชนมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า แล้ว กฟผ.ทำหน้าที่สั่งปั่นไฟฟ้า สั่งแล้วต้องเดินเลย ตรงนี้ก็มีสูตรอยู่ว่าคิดอย่างไร ซึ่ง AP เราไม่ได้มีประเทศเดียว ทั่งโลกเขาก็มี 

“มีเหตุผลของการมี AP ระดับหนึ่ง แต่มันควรจะมีเยอะไหม ก็ต้องไปกํากับ ไปไล่บี้ ไปรีดเอา แต่ก็ต้องฟังนโยบายรัฐบาลด้วย ไม่ฟังไม่ได้ ส่วนนโยบายจะทําหรือเปล่า ผมไม่รู้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลนี้ฟังมาเต็มสองรูหูแล้ว เขาจะกล้าฝืนความรู้สึกชาวบ้านหรือไม่ ไม่กล้าจะไปยังไง ถ้าไม่มี AP และเอกชนไม่ลงทุนจะทํายังไง  กฟผ.ลงทุนได้ไหม ดังนั้นจะพูดเอามันให้ดูหล่ออย่างเดียวไม่ได้

มาถึงภารกิจใหญ่ในการ ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่ง “กกพ.” ตกเป็นเป้าสายตาของทุกๆฝ่าย เราให้ “กกพ.” ช่วยประเมินตัวเองหน่อยในเรื่องนี้ “วรวิทย์” ระบุว่า เรื่องนี้ต้องทําวันต่อวัน จะบอกว่าทำสมบูรณ์แล้ว เราก็จะประมาท หากบอกว่ายังแย่อยู่ เราก็จะเสียกําลังใจ ดังนั้นเรามีหน้าที่ทํา ก็ทำมันทุกวัน จนกว่าจะหมดวาระ เพราะเงินเดือนที่เราได้ เป็นเงินชาวบ้านทั้งนั้น เรากินเงินเดือนเขา ก็ต้องมีความละอายนะ ต้องค่อยๆ พัฒนาระบบและยกระดับไป จะทําเอามันไม่ได้ เพราะระบบของประเทศใหญ่ ไปขยับแรงๆ กระทบเยอะ ต้องค่อยๆ จี้ไปทีละจุด

“วรวิทย์” ตบท้ายเก๋ๆ ว่า “การรักษาการต่อสู้ ผมยังทําอยู่เสมอ ไม่ได้ต่อสู้กับใคร แต่ต่อสู้กับปัญหา”

………………………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“สายัญ สัญญา”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img