วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSทำได้ไหม? หากไทยจะฟื้นแผนพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์...อีกครั้ง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทำได้ไหม? หากไทยจะฟื้นแผนพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์…อีกครั้ง

ช่วงนี้จะเห็นการเคลื่อนไหวบ่อยของรัฐบาลฝรั่งเศสและนักลงทุนของเขา ตอนนี้มาตั้งฐานการผลิตในไทยมากกว่า 300 บริษัทแล้ว และยังมีความร่วมมือกับนักลงทุนไทยในหลายกิจการทั้งมาทำในไทยและพาไปลงทุนที่ฝรั่งเศสรวมถึงธุรกิจพลังงาน

การเยือนฝรั่งเศสของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่ได้ไปพบปะ เอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr.Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส บอกเราได้ถึง ความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะ นิวเคลียร์ จากโปรแกรมการเดินทางไปยังสำนักงานใหญ่ Electricite de France (EDF) ของนายกรัฐมนตรี เพื่อไปอัพเดทการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการบรรจุพลังงานนิวเคลียร์เข้าไปในแผนพลังงานของไทย

แต่ “เศรษฐา” ได้กล่าวแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “การไป EDF เป็นการไปรับฟังแนวทางจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายที่จะศึกษาความเป็นไปได้ เรียนรู้แนวทาง ความคิด และวิสัยทัศน์ด้านพลังงานของประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ไทยมีแนวความคิดที่กว้างขวาง เท่าทันทุกการเปลี่ยนแปลงในโลก และที่สำคัญมีความมั่นคงด้านพลังงาน”

“เขา” ยังให้เหตุผลไว้ว่า “บริษัทระดับโลกที่จะมาลงทุนในเมืองไทย ถามตลอดว่าพลังงานสะอาดมีให้เขาหรือไม่ เราบอกได้ว่าเรามีพลังงานสะอาดเยอะ แต่ไม่ใช่ว่าจะไปเอาพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ แต่พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาดที่ถูกที่สุด”

โดยตอนนี้โยนลูกให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไปคุยในรายละเอียดกับ EDF ต่อ เพื่อวางรากฐานโครงการ แต่ลึกๆ “เศรษฐา” ก็กลัวการต่อต้านเหมือนกัน ก็เลยติ่งแบบเซฟๆ ไว้ว่า “จะทำหรือไม่ ความปลอดภัยของประชาชนสำคัญที่สุด”

“เศรษฐา” พยายามยกมุมข้อดีว่า “นิวเคลียร์จะมาช่วยสร้างอนาคตให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย” สอดคล้องกับแนวทางของนายเอ็มมานูเอล ที่แถลงไว้ที่เมืองเบลฟอร์ต เมื่อวันที่ 10 ก.พ.65 ถึงแผนการเข้าสู่ยุคสมัยของพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้งของฝรั่งเศส แม้ว่าตอนนี้ฝรั่งเศสจะมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์กว่า 70% ถือว่าสูงสุดในโลกแล้วก็ตาม

ในฐานะ ฝรั่งเศสเป็นเจ้าของเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ นายเอ็มมานูเอลก็เลยตีกรอบว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นสายเขียว หรือ พลังงานสะอาด ไม่ใช่ผู้ร้ายแต่เป็นฮีโร่ ที่จะมาทำให้ฝรั่งเศสไปถึงเป้าหมาย carbon neutral ในปีพ.ศ.2593 และยังทำให้ฝรั่งเศสมีอิสระทางด้านเชื้อเพลิง ลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างชาติ การจูงใจที่สำคัญที่จะทำให้คนในประเทศของเขาคล้อยตามมี 2 เรื่องหลักก็คือ นิวเคลียร์ต้องมาทำหน้าที่ backup พลังงานหมุนเวียนที่ฝรั่งเศสต้องทำให้มีสัดส่วนมากขึ้น เพื่อได้ชื่อว่ารักษ์โลกจริงๆ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะเพิ่ม 10 เท่าเป็นมากกว่า 100 กิกะวัตต์ ส่วน พลังงานลมนอกชายฝั่ง จะได้รับการพัฒนาประมาณ 40 กิกะวัตต์ ทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายในปีพ.ศ.2593 มากกว่าไปกว่านั้น คือให้เหตุผลว่า นิวเคลียร์จะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอด สามารถรักษาระดับการจ้างงานได้ต่อไป

เขาประกาศว่า จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์โรงใหม่ 25 กิกะวัตต์ในปี 2593 ดำเนินการโดย EDF เริ่มก่อสร้างแน่นอนในปี 2571 เดินเครื่องโรงแรกในปี 2578 โดยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของฝรั่งเศสจะเป็นเตารุ่นใหม่ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แบบน้ำอัดความดัน (European Pressurized Water Reactor : EPR) ล็อตแรก 6 เครื่อง คาดว่าจะต้องใช้เงินถึง 50,000 ล้านยูโร และล็อตต่อมาจะทำอีก 8 เครื่อง เป็น EPR2 ปรับปรุงจากโรงไฟฟ้าโอลกิลัวโต 3 ของฟินแลนด์ที่ใช้เทคโนโลยี EPR ของฝรั่งเศส ขนาด 1.6 กิกะวัตต์

เอาเข้าจริงแล้ว โรงไฟฟ้าโอลกิลัวโต 3 ก็ไม่ใช่จะราบรื่น ล่าช้าไปถึง 12 ปี จากปัญหาทางเทคโนโลยีจนกลายเป็นประเด็นฟ้องร้อง เพิ่งเริ่มเดินเครื่องไปเมื่อปี 2565 มีการระบุว่า โครงการนี้ใช้เงินลงทุนบานปลายถึง 11,000 ล้านยูโร คิดเป็น 4.2 แสนล้านบาท ที่ฟินแลนด์ตัดสินใจทำ เพราะต้องการลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซีย สวีเดน และนอร์เวย์ เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งล่าสุดของฟินแลนด์ในรอบกว่า 4 ทศวรรษ และเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ของยุโรปในรอบ 15 ปี

นอกจากเทคโนโลยี EPR แล้วฝรั่งเศสจะเปิดตัว เครื่องปฏิกรณ์แบบแยกส่วนขนาดเล็ก (Small Modular Reactors : SMR) ในช่วงนี้ด้วย รวมถึงเครื่องปฏิกรณ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่จะออกมาอีกเรื่อยๆ แล้วก็พลันไปให้นึกถึงบ้านเรา ที่มีการเปิดทางไว้ก่อนแล้วระยะหนึ่งถึงข้อดีของเครื่องปฏิกรณ์ขนาดเล็กแบบ SMR

อันเนื่องจากหลายฝ่ายมองว่า เทคโนโลยีนี้จะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็นไปได้ในไทย ตามรายงานของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อธิบายเทคโนโลยีนี้ไว้ว่า เป็นเทคโนโลยีที่มีขนาดเล็ก กําลังการผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ต่อโมดูลผลิตและประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผู้ผลิต ขนย้ายไปติดตั้งที่สถานที่ตั้งได้ง่าย ลดระยะเวลาการก่อสร้างได้กว่าครึ่ง และมีต้นทุนค่าก่อสร้างต่ำกว่า สามารถระบายความร้อนโดยหลักธรรมชาติ เช่น แรงโน้มถ่วง การถ่ายเทความร้อน จึงไม่จําเป็นต้องใช้ไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่ในการควบคุม ทําให้โรงไฟฟ้าไม่เกิดความเสียหายแม้ไม่มีกระแสไฟฟ้าในระบบ และออกแบบให้เครื่องปฏิกรณ์อยู่ใต้ดินลดความเสี่ยงเมื่อเกิดภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น แผ่นดินไหว พายุ สึนามิ

แม้จะมีข้อดี แต่ใช่ว่าการขนทัพมาตั้งฐานการผลิตในไทย หรือการแลกเปลี่ยนเรื่องใดก็ตามของนักลงทุนฝรั่งเศส หรือความคล่องแคล่วของรัฐบาลนี้ จะทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยเกิดได้ง่ายขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มา

เพราะอย่างไรเสีย ภาพจำจากความเสียหายใหญ่ของอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็มาตอกย้ำชาวโลกเป็นระยะๆ เหตุล่าสุดเมื่อ 13 ปีก่อนในปี 2554 ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ หมายเลข I จากคลื่นสึนามิที่สร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ จนทำให้เครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องในจำนวน 6 เครื่องขาดสารหล่อเย็น และความร้อนที่สูงทำให้เกิดการหลอมละลาย และปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา เป็นภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ภัยพิบัติเชอร์โนบิลเมื่อปี 2529

ราวกับว่า หากเกิดอุบัติเหตุกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ครั้งใด ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่ต่อเนื่องยาวนานจะไม่น้อยลงไปจากอดีต แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ล้ำเพียงใดก็ตาม ทำให้ภาพลักษณ์ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่สามารถฉุดขึ้นได้ง่ายๆ และคำถามที่ยังคาใจก็ยังไม่ถูกลบล้างไปจนถึงตอนนี้ ถึงข้อกังวลที่สุดเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นั่นก็คือ กากนิวเคลียร์ (Radioactive Waste)

………………………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย.. “สัญญา สายัณ”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img