วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘โซลาร์ลอยน้ำไฮบริด’ต้องมา ตอบโจทย์เพิ่มประสิทธิภาพ‘พลังงานหมุนเวียน’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘โซลาร์ลอยน้ำไฮบริด’ต้องมา ตอบโจทย์เพิ่มประสิทธิภาพ‘พลังงานหมุนเวียน’

การรับฟังความเห็น ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ 2024 จะเกิดขึ้นในปลายเดือนเม.ย.2567 ซึ่งหนึ่งในสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่เราจะมุ่งเป้าให้มีในช่วงปลายแผน ก็คือ การเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ส่วน ก๊าซธรรมชาติลดลงเหลือ ประมาณ 30-40% เพื่อให้ไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ.2065

ในสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน มี “โซลาร์เซลล์” นำเข้าระบบเป็นอย่างมีนัย ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ หรือ “โซลาร์ลอยน้ำ” ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สัดส่วนแน่ๆ ที่ใส่ไปในแผนแล้ว คือ 2,725 เมกะวัตต์ จาก 16 โครงการในพื้นที่ 9 เขื่อน จากศักยภาพทั้งหมด 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการพิจารณาเข้าระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศต่อไป

ยุคนี้การผลิตพลังงานต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด “โซลาร์ลอยน้ำ” ของกฟผ.ก็เหมือนกัน ก็เมื่อพื้นที่บนผิวน้ำของแต่ละเขื่อนมีเป็นพันไร่ สามารถนำมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ปั่นไฟเข้าระบบ ทำงานร่วมกันกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำจากเขื่อน มีการติดตั้งแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) เข้าไปในระบบผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริด เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพในช่วงการสับเปลี่ยนระหว่างพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ระบบสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำก็ไม่สูงเกินไปราว 2 บาทต่อหน่วย สูงกว่าการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเล็กน้อย

เมื่อ “โซลาร์ลอยน้ำ” ต้องเข้าระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศแล้ว แถมมีศักยภาพถึง 10,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องไปดูกันสักหน่อย กับ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่เขื่อนศรีนครินทร์มีโซลาร์ลอยน้ำด้วยกัน 3 ชุด ขนาดรวมกัน 720 เมกวัตต์ ชุดแรก 140 เมกะวัตต์ เริ่มก่อสร้างปีหน้า ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ 2569 เฉพาะชุดนี้กฟผ.ต้องใช้เงินลงทุนไปรวม 5,800 ล้านบาท ชุดสอง 280 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 2572 และ ชุดสาม 300 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 2575 ซึ่งกฟผ.เดินหน้าโครงการเต็มสูบ เพราะก่อนหน้านี้มีการติดตั้งและผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำไปแล้วที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ และเขื่อนอุบลรัตน์ 24 เมกะวัตต์

ชาญณรงค์  จันทมงคล

“ชาญณรงค์  จันทมงคล” ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ เล่าว่า จากโครงการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำขนาดใหญ่ที่เขื่อนสิรินธร ขนาด 45 เมกะวัตต์ พบว่าได้ผลดีเป็นต้นแบบให้ประชาชนเห็นภาพ ว่าโซลาร์ลอยน้ำทำงานอย่างไร และไม่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เพิ่มศักยภาพในการทำประมงให้กับชาวบ้าน และทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งยังดึงดูดการท่องเที่ยวได้อย่างดีทำให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นสร้างงานสร้างรายได้

“และเขื่อนไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก แต่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำในอ่างเพื่อการอุปโภคบริโภคช่วงฤดูแล้ง รักษาระบบนิเวศช่วงฤดูแล้ง สำรองน้ำไว้สำหรับใช้ในชวงต้นฤดูฝน เพื่อการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อย่างเขื่อนศรีนครินทร์เองก็ส่งน้ำมาให้คนกรุงเทพได้ใช้ผลิตน้ำประปาด้วย ทำงานร่วมกับเขื่อนอื่นๆทั้งเขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนแม่กลอง และเขื่อนท่าทุ่งนา เอนกประสงค์จริงๆสำหรับเขื่อนศรีนครินทร์ เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกาญจนบุรีด้วย จำนวนนักท่องเที่ยว 1-1.2 ล้านคนต่อปี” ชาญณรงค์ ระบุ

“กฟผ.” เองนอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ยังทำหน้าที่สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง น้ำในเขื่อนน้อย น้ำเพื่อการบริโภคอุปโภคน้อย ที่เขื่อนศรีนครินทร์ก็เลยมี “ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ (ราชานุรักษ์)” ที่กำลังจะปั้นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานของประเทศไทยและของโลก แล้วก็สร้าง บ้านครินทร์ (KARIN) ที่พักประหยัดพลังงานริมเขื่อน เป็นต้นแบบนวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงานแห่งอนาคต มีการรวบรวมเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานที่ทันสมัยและบริการพลังงานสีเขียวแบบครบวงจร (Smart Energy Solutions) มาไว้ที่บ้านนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจให้ได้มาทดลองบริหารจัดการพลังงานด้วยตัวเองผ่านประสบการณ์จริง โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ไว้เสร็จสรรพรองรับเทรนด์การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยกันเองในอนาคต

วีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู

“วีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โฆษกกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ถือว่า “กฟผ.” มีการปรับตัวเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตอบโจทย์คาร์บอนเป็นศูนย์ เน้นการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง พร้อมสำหรับขับเคลื่อนองค์กรสู่ผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจรตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่หลากหลาย เพราะเทรนด์พลังงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทิศทางพลังงานโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น  ในส่วนของโซลาร์ลอยน้ำที่กฟผ.ระบุว่ามีศักยภาพถึง 10,000 เมกะวัตต์ ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าจะเข้าระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศได้ทั้งหมดหรือไม่ เพราะการทำโครงการโซลาร์ลอยน้ำต้องมีการขอใช้พื้นที่ ซึ่งเกี่ยวกันกับหน่วยงานอื่นๆ

ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าปีนี้ “วีรพัฒน์” บอกว่า ตลอด 3 เดือนของปี 2567 การใช้ไฟฟ้าสูงกว่าปีที่ผ่านมา ในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปีนี้น่าจะแตะ 35,000 เมกะวัตต์แน่นอน และปีต่อไปก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นแผน PDP  จึงต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ ใน 3 ด้านไปพร้อมกัน คือ 1.ความมั่นคงทางพลังงาน 2.ราคาพลังงานที่เข้าถึงได้ และ 3.ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงการใช้ไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนในการใช้พลังงานอย่างประหยัด เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนด้านพลังงาน และสามารถมีพลังงานใช้ได้ตลอดไป

………………………………….

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

โดย..“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img