วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“อรรถพล”ประเมินตัวเองว่า“สอบผ่าน” ก่อนอำลาเก้าอี้ CEO ปตท. 13พ.ค.67
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“อรรถพล”ประเมินตัวเองว่า“สอบผ่าน” ก่อนอำลาเก้าอี้ CEO ปตท. 13พ.ค.67

“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คนที่ 10 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นี้ เขาประเมินตัวเองว่า “สอบผ่าน”

ที่เขามั่นใจอย่างนั้น เพราะตอนเข้ารับตำแหน่งในปี 2563 วิกฤติเศรษฐกิจหลังโควิด-19 กำลังโหมกระหน่ำไปทั่วโลก เกือบทุกธุรกิจต้องล้มลุกคลุกคลาน รวมถึงธุรกิจพลังงานด้วย จากภาวะซวนเซในตอนนั้น เขานำทัพองค์กรฝ่าวิกฤติ และทำให้ ปตท.กลับมายืนอยู่ได้อย่างมั่นคงในตอนนี้ ด้วยผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของยอดขาย จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิอยู่เพียง 37,766 ล้านบาท  

สำหรับ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ถือว่ามีส่วนสำคัญในการบุกเบิกการค้าปลีกน้ำมันของประเทศเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่เข้าทำงานปตท.เมื่อ 35 ปีก่อน ที่ปั๊มยังมีไม่ถึงพันแห่ง ตอนนี้มีกว่า 28,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งมีแบรนด์และไม่มีแบรนด์ เรียกได้ว่าตอนนี้ตลาดธุรกิจค้าปลีกน้ำมันแข่งขันกันเลือดสาดพอสมควร จนผู้ค้าน้ำมันหลายเจ้าต้องปิดกิจการไป

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

“อรรถพล” มองถอยหลังไปว่า ตลาดค้าปลีกน้ำมัน มีการเปลี่ยนผ่านมาตามลำดับ ปัจจุบันกลไกตลาดทำงานได้อย่างเต็มที่ มีการแข่งขันในธุรกิจ มีปั๊มมากหน้าหลายตา ไม่เฉพาะปตท.และแต่ละปั๊มก็มีการพัฒนาปรับปรุงภาพลักษณ์ เพื่อให้ความสะดวกกับผู้บริโภค มีแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ซึ่งเขาก็ทำได้ดี ส่วนแบรนด์ที่ไม่สามารถแข่งขันได้ก็ออกไปจากตลาด

“เป็นสัญญาณที่ทําให้เห็นได้ว่า กลไกการตลาดเสรีทํางานได้อย่างเต็มที่ หมายถึงมีการแข่งขันกัน ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์ นั่นหมายความว่า คนที่อาจจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันต้องออกจากตลาดไป คนที่มีความเข้มแข็ง คนที่มีประสิทธิภาพสูง ดูแลผู้บริโภคดีก็จะอยู่ในตลาดได้ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์หลักของตลาดเสรี สุดท้ายแล้วผลประโยชน์จะมาอยู่ที่ผู้บริโภค”

การแข่งขันทำให้ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันวันนี้ ไม่ใช่มีแค่เรื่องการเติมน้ำมันอีกต่อไป แต่คือ การดูแลผู้บริโภค ดูแลคนเดินทาง เข้าปั๊มได้มากกว่าการเติมน้ำมัน ผู้บริโภคเองมีความรู้มากขึ้น แล้วก็มีทางเลือกมากขึ้น ที่เขาจะเลือกเติมเนื้อน้ำมันกับปั๊มไหนก็ได้ แล้วแต่ความเชื่อมั่นของเขา สามารถเลือกเติมน้ำมันที่คิดว่าตรงกับความต้องการได้มากขึ้น ก็เพราะว่าตลาดมันเสรี เลือกเติมได้ตามใจชอบ ปั๊มก็มีเต็มไปหมดให้เลือก และแต่ละปั๊มก็อยากให้คนเลี้ยวเข้ามาใช้บริการในด้านต่างๆนอกจากเติมน้ำมัน

ส่วนความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับโครงสร้างราคาน้ำมัน “อรรถพล” บอกว่า คิดว่ามีความเข้าใจมากขึ้น หลายคนเข้าใจราคาน้ำมันมีโครงสร้างอย่างไร ในราคาน้ำมันแต่ละลิตร ไม่ได้มีเฉพาะตัวเนื้อน้ำมันอย่างเดียว มีภาษี มีการเก็บเงินกองทุน ส่วนตัวเนื้อน้ำมัน คนก็เข้าใจมากขึ้นว่าเราไปควบคุมอะไรไม่ได้ เพราะว่าทั้งโลกเป็นอย่างงั้น มีขึ้นมีลงตามตลาดโลก ราคาน้ำมันที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่ก็ขึ้นกับโครงสร้างตัวอื่นมากกว่า อย่างเรื่องการเก็บภาษีที่ต่างกัน การจัดเก็บเงินกองทุน รวมถึงตัวคุณภาพหรือว่าสเปคน้ำมันที่แต่ละประเทศกำหนดแตกต่างกันด้วย

สำหรับการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของพลังงานที่ไปเป็นอย่างรวดเร็วเกินคาด เขามีมุมมองว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น ความเสี่ยงที่สําคัญก็คือเรื่ององค์ความรู้ เราต้องรู้ให้ทัน ความเสี่ยงอีกอย่างคือเรื่อง “เวลา” เพราะเทคโนโลยีมาเร็วไปก็ไม่ใช่ว่าจะดี เนื่องจากต้นทุนยังสูง คนก็ยังไม่ใช่ การลงทุนก็มีความเสี่ยง อย่างไฮโดรเจนที่จะมาเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ จะเอามาเติมรถทุกคันก็ยังไม่ได้ แต่จะเอามาใช้ช้าเกินไปก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าจะตามชาวบ้านไม่ทัน เพราะฉะนั้นทุกครั้งในช่วงการเปลี่ยนผ่าน “เวลาที่เหมาะสมเป็นหัวใจที่สำคัญ” แม้แต่ยานยนต์ไฟฟ้า “อีวี” เอง ก็ยังไม่มีใครตอบได้ว่ามาแทนน้ำมันแล้วแน่ๆ ในตอนนี้ เพราะตลาดยังมีความไม่ชัดเจน สิ่งที่ทําได้คือ ต้องเกาะติดตลาดให้ใกล้ชิด และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องปรับตัวให้ทัน แต่บอกได้อย่างหนึ่งในการดูคร่าวๆของเวลาที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ ดูการตอบสนองของตลาดเป็นสำคัญ

“ในส่วนของอีวีแม้เปอร์เซ็นต์การเติบโตจะสูง แต่ว่าเติบโตจากฐานที่ต่ำ ดังนั้นจะมาบอกว่ามาแทนที่น้ำมันเลยในปีไหน ตอบเป๊ะๆยาก เพียงแต่ว่าต้องติดตามให้ได้ สำคัญ คือ เราต้องมีความสามารถทําได้ทั้งสองขา ขาเก่า คือ น้ำมัน ก็ต้องทําได้ดี ขาใหม่ คือ พลังงานใหม่ๆอย่างอีวี ก็ต้องปรับตัวให้ทัน แต่การเปลี่ยนผ่านพลังงานจะไม่ใช่เปลี่ยนข้ามคืน ไม่เหมือนเหมือนม้วนฟิล์ม ที่หายไปภายใน 1-2 ปี เพราะว่าตัวโครงสร้างพื้นฐานที่ลงไปแล้วมหาศาล และเข้าถึงทุกคนไปแล้ว ดังนั้นการจะเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเลยภายในชั่วข้ามคืนทํายาก แต่ถามว่าจะเปลี่ยนมั้ยในข้างหน้า แน่นอนมันต้องเปลี่ยน”

ตอนนี้ในระดับนโยบายมีความพยายามในการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน รวมถึงน้ำมันด้วย “อรรถพล” เดาไม่ได้ว่าหลังจากปรับโครงสร้างราคาน้ำมันแล้วจะเป็นอย่างไร แต่เขามั่นใจว่า ยังไงก็ต้องทำบนพื้นฐานของกฎหมาย ซึ่งอาจจะมีการปรับหรือไม่ในอนาคตก็ไม่รู้ได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเขามั่นใจว่า ยังคงคอนเซ็ปต์แข่งขันเสรี จึงไม่มีอะไรน่าห่วง ทุกคนพร้อมสู้บนกติกาเดียวกัน อย่างกรณีกระทรวงพลังงานให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน เราก็แจ้งได้ไม่มีปัญหาอะไร หรือจะมีกฎระเบียบใหม่ออกมาอย่างไรไม่เป็นไร ขอให้ 1.ชัดเจน 2.ปฏิบัติได้ 3.ปฏิบัติอยู่บนพื้นฐานเดียวกันภายใต้แข่งขันเสรีที่เป็นธรรม

การดูแลประชาชนกับตลาดเสรีจะบาลานซ์อย่างไร อย่างดีเซลที่อุดหนุนราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรมาหลายปีจนกองทุนน้ำมันติดลบไป เรื่องนี้รัฐต้องหาเงินมาอุดหนุนต่อไปไหม หรือปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อลดภาระ 105,662 ล้านบาท (ตัวเลข ณ 21 เม.ย.67) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มไปอีกเรื่อยๆหากยังอุดหนุนต่อไป “อรรถพล” มีมุมมองว่า จริงๆ การดูแลประชาชนดูแลได้ แต่ดีกรีการดูแลเป็นอย่างไรมีหลายทางเลือกให้เลือก อาจจะดูแลเฉพาะกลุ่มที่เขาเดือดร้อนจริงๆ ก็ได้

“ผมไม่ได้บอกว่า รัฐดูแลประชาชนไม่ได้ ยังไงก็ต้องดูแล แต่ว่าดูแลอย่างไรแค่ไหน กลุ่มไหนตรงนั้นมากกว่า รถยนต์หรูที่ใช้ดีเซลเป็นเชื้อเพลิง ต้องดูแลไหม?”

จบที่ตรงนี้กับบทสนทนาส่งท้าย แต่ไม่ท้ายที่สุดของ “อรรถพล” ส่วนหลังจากหมดวาระแล้ว เขาจะไปทำอาชีพไหนต่อไป “เขา” บอกว่า ต้องเป็นคนนอกวงการพลังงาน 2 ปีตามกฎหมาย ไม่อยู่วงการพลังงาน แล้วจะไปอยู่วงการไหน “เขา” ยังอุบไว้ ที่เราต้องติดตามต่อไป  

เพราะถือว่า “อรรถพล” เป็น CEO ปตท.ที่ริเริ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ตามวิสัยทัศน์ของเขา “Powering life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน และ “Life Science” ธุรกิจผลิตยาและสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ เป็นส่วนที่เขาจะเข้าไปสานต่อต่อยอดได้ทั้งนั้นในฐานะผู้บุกเบิกไว้

……………

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

 โดย…“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img