วันพฤหัสบดี, กันยายน 19, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS“สิงคโปร์”เดินเกมรุกซื้อ“ไฟฟ้าสีเขียว” ตรงจาก“สปป.ลาว”ผ่าน“อาเซียนกริด”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“สิงคโปร์”เดินเกมรุกซื้อ“ไฟฟ้าสีเขียว” ตรงจาก“สปป.ลาว”ผ่าน“อาเซียนกริด”

โลกเดือดจนความร้อนพุ่งปรี๊ดอย่างนี้ ทุกประเทศนิ่งดูดายเหมือนเก่าคงไม่ได้ ต่างขวนขวายมุ่ง “ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก” อย่างจริงจังในหลายกิจกรรมการผลิตและบริการ

มาตรการหนึ่งที่สำคัญคือ ลดการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล หันมาผลิตพลังงานหมุนเวียนกัน ซึ่งในโลกยุคดิจิทัลที่อะไรๆ ก็ไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป ประเทศไหนไม่มีทรัพยากร หรือลดการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลในประเทศตนเองไม่ได้ ก็ซื้อพลังงานหมุนเวียนมาใช้ ซื้อข้ามพรมแดนก็ทำได้ แม้พรมแดนไม่ติดกัน ก็ซื้อขายกันได้

แล้วแรงกดดันจากภาวะโลกเดือดแล้ว ก็เป็นผลให้นักลงทุนระดับโลก ต่างต้องการใช้ พลังงานสีเขียว ดังนั้นประเทศไหนมีทรัพยากร กฎเกณฑ์และมาตรการรับรองซื้อขายไฟฟ้าสีเขียว สามารถโชว์ผู้บริโภคที่ต้องการสนับสนุนสินค้ารักษ์โลกได้ ถือเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งในการเลือกลงทุนของนักลงทุนอุตสาหกรรม เพื่อแสดงความมุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนอันเป็นประโยชน์ทางการค้า

ดังนั้น การซื้อขายไฟฟ้าประเทศเพื่อนบ้านรอบไทยในยุคนี้ จึงมีนัยมากกว่าแค่ซื้อไฟฟ้าระหว่างกันเพื่อความสัมพันธ์ฉันมิตรประเทศ แต่หมายถึงประโยชน์ทางค้าการลงทุนของแต่ละประเทศเอง ประเทศไหนมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าสีเขียวได้เยอะ ย่อมเป็นเป้าหมายการลงทุน ที่สำคัญต้องมีระบบการรับรองซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวด้วย

CHANASAK CHUMNUMWAN

“สปป.ลาว” เป็นเป้าหมายสำคัญของหลายประเทศ จากศักยภาพใน การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ดังนัน “สปป.ลาว” จึงไม่อาจรอดพ้นสายตาของ “สิงคโปร์” ซึ่งทรัพยากรมีน้อยนิดไปได้

ทั้งนี้ “สิงคโปร์” พุ่งเป้าเจรจาขอซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจาก “สปป.ลาว” โดยตรง ผ่านโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (Lao PDR-Thailand-Malaysia-Singapore on Power Interconnection Project : LTMS-PIP) ตามแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศสมาชิกอาเซียนตามแผนอาเซียน กริด (ASEAN Power Grid : APG) ขณะเดียวกันก็มีแนวทางจะเดินสายไฟฟ้าใต้น้ำตรงจากสปป.ลาวมาขึ้นจ่อสิงคโปร์ด้วยเพื่อลดประเทศทางผ่าน   

ก่อนหน้านี้ “สิงคโปร์” นำร่องซื้อไฟฟ้าจาก “สปป.ลาว” ข้ามพรมแดนผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทยและมาเลเซีย กำหนดในปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 2 ปี เริ่มต้นโครงการในปี 2565 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2567 อย่างที่บอกตอนนี้ใครๆ ก็อยากได้ “ไฟฟ้าสีเขียว” เข้าระบบเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะ “สิงคโปร์” ที่ไม่มีทรัพยากร กำลังรุกหนักมีเป้าหมายซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากหลายประเทศนอกจาก “สปป.ลาว”

แต่ไหง “ไทย” จะอยู่เฉยได้ เพราะเราซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก “สปป.ลาว” มานานนักหนาภายใต้กรอบ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว 10,500 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมา การลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ของสปป.ลาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและขายให้ไทยนับเป็นการการันตีรายได้เข้าประเทศ สปป.ลาว ที่แน่นอนและมั่นคง แต่ยังไม่มีระบบการให้ใบรับรองไฟฟ้าสีเขียวกับไทย ดังนั้นการซื้อไฟฟ้าผ่านของสิงคโปร์จาก สปป.ลาวผ่านไทยในตอนนี้ จึงมีคำถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าไทยวางตำแหน่งเป็นแค่ทางผ่านและได้แค่ ค่าผ่านทาง (Wheeling Charge) เท่านั้นหรือไม่?

ก็ต้องเรียกได้ว่า ไทยเป็นความโดดเด่นของอาเซียน เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนนำพาไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญต่อเวทีโลกหลังเข้าร่วม COP26  

โดยเราส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง กอรปกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ และบรรยากาศการลงทุนในภาพรวมของบ้านเราเป็นที่ดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ มีการกำหนดอย่างจริงจังในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับใหม่ 2024 (พ.ศ.2567-2580) ที่เตรียมนำออกมารับฟังความเห็นในเร็วๆนี้ แผนนี้มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในช่วงปลายแผน จากตอนนี้เรามีสัดส่วนการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่ 11% และพลังน้ำ 4%

ล่าสุด ไทยเขย่าตลาด โดยประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนล็อตใหม่อีกในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 5,203 เมกะวัตต์ เริ่มทยอยเข้าระบบในปีหน้า แล้วยังออกกลไกให้ใบรับรองการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียวกับนักลงทุนแล้วด้วย โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สิทธิ์เป็นผู้ให้การรับรองในประเทศไทยตามมาตรฐาน I-REC หรือ The International Renewable Energy Certificate : REC โดยผู้ซื้อ REC สามารถอ้างสิทธิ์การเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน

ปัจจุบันได้จัดทำระบบในการซื้อขายไฟฟ้าสีเขียว โดย “กฟผ.” สามารถออก REC ใบรับรองสิทธิ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้นักลงทุนที่ต้องการ แล้วก็ออกอัตราซื้อขายมารองรับแล้ว มีให้เลือกด้วย 2 อัตรา แบ่งเป็น อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงที่มาของไฟฟ้า (UGT1) และ แบบเจาะจงที่มา (UGT2)

โดย UGT1 ซื้อได้จากสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตอยู่แล้ว อัตราค่าไฟฟ้าคิดจากค่าไฟฟ้าปกติที่คิดกับประชาชนทั่วไป บวกรวมค่าบริการส่วนเพิ่มอีก 0.0594 บาทต่อหน่วย 

ส่วน UGT2 ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโรงใหม่เท่านั้น อัตราค่าไฟฟ้า แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1.สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) พ.ศ. 2568-2570 อัตรา 4.56 บาทต่อหน่วย และกลุ่มที่ 2 สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ COD ระหว่าง 2571-2573 อัตรา 4.55 บาทต่อหน่วย หลายคนบอกว่าอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวของไทยถูกแสนถูก ดึงดูดนักลงทุนได้อย่างดี

ความคืบหน้าล่าสุด UGT1 อยู่ระหว่างเร่งรัดให้การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคประกาศอัตรารับซื้อไฟฟ้า ส่วน UGT2 ต้องรอให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนล็อตใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ที่เพิ่งประกาศรับซื้อเข้าระบบในปีหน้า ซึ่ง UGT2 กำลังเป็นที่จับตาของนักลงทุนรายใหญ่ข้ามชาติที่ต่างต้องการจับจองไฟฟ้าสีเขียวจากไทยที่สามารถรองรับ มาตรการ CBAM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรปได้อย่างดี

ดังนั้นด้วยความพร้อมของไทย ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า แผนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน และกฏเกณฑ์กลไกมาตรการที่ออกมารองรับเป็นสากล หลายภาคส่วนจึงมั่นใจว่า ไทยจะเป็นได้มากกว่าทางผ่าน แต่เป็น “ฮับพลังงานหมุนเวียน” ของอาเซียนอันเป็นเป้าหมายที่นักลงทุนเลือก

…………………………………………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

 โดย…“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img