วันจันทร์, พฤษภาคม 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSตั้งสำรองน้ำมันยุทธศาสตร์ฉบับ‘พีรพันธุ์’ ต้องลุ้น!!! เป็นจริงได้ไหมและแบบไหน?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตั้งสำรองน้ำมันยุทธศาสตร์ฉบับ‘พีรพันธุ์’ ต้องลุ้น!!! เป็นจริงได้ไหมและแบบไหน?

51 ปี…เราทำอะไรกันอยู่ ? เป็นคำถามทำนองติติงที่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่โยนมายังคนทำหน้าที่กำกับดูแลพลังงานในช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมา ที่ริไปใช้กลไก “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้ผันผวนตามพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 จนกองทุนฯใช้เงินติดลบปาเข้าไป 109,186 ล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 5 พ.ค.67)

“รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” สโลแกนของเขา สร้างความไม่พอใจสะสมให้คนทำงานมาเรื่อยๆ แต่ “พีรพันธุ์” ไม่สนไม่แคร์ เพราะเป้าหมายของเขาต้องการสร้างประวัติศาสตร์แบบปั๊มหน้าผากได้ว่า นี่คือ “ผลงานข้า” แต่เพียงผู้เดียวตามแบบฉบับ

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ตอนนี้กำลังให้ กรมธุรกิจพลังงาน ศึกษา การสร้างระบบสำรองน้ำมันทางด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) ขั้นต่ำตามมาตรฐาน 90 วันที่รัฐเป็นเจ้าของ 100% ให้มีตัวเนื้อน้ำมันเยิ้มๆหลายๆถังให้ดูได้ สามารถยืนชี้ลงโซเชียลเบื้องหลังเป็นคลังน้ำมันเต็มไปหมดสร้างความฮือฮา

เขามีการบ้านที่จะให้ SPR เป็นกลไกรักษาระดับราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันฯ ด้วยวิธีการเปลี่ยนจากการเก็บเป็นเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เป็นตัวเนื้อน้ำมันแทน จึงไม่ต้องไปหาตังแสนล้าน มาซื้อน้ำมันมาเก็บด้วยเวลาราคาน้ำมันแพงต้องการรักษาระดับราคาน้ำมันจะปล่อย SPR ออกมาใช้

เขาเปรียบกับการแทรกแซงราคาผลไม้ อีกผลงานของเขาเช่นกันในช่วงเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ตอนผลไม้ราคาตกก็ไปกว้านซื้อไปป้อนเรือนจำ ราคาจะลงมาเองแบบง่ายๆ เขาบอกหลายๆ ประเทศทั่วโลกมีระบบกฎหมาย SPR กันทั้งนั้น แต่ไทยกลับไม่มีเป็นไปได้อย่างไร?

แต่เอาเข้าจริงแล้ว การศึกษาเรื่อง SPR ของไทยมีมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ 2555 หลังเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก ทำให้อิหร่านขู่จะปิดช่องแคบฮอร์มุสหลายครั้ง เพราะเป็นเส้นทางหลักลำเลียงน้ำมันจากตะวันออกกลาง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขนส่งน้ำมันของโลก ตอนนั้นทำเอาราคาน้ำมันพุ่งเอา-พุ่งเอา แต่จากการศึกษาไปศึกษามาก็พบว่า สงคราม และการปิดช่องแคบเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้นไม่กินเวลายาวนาน  

ผลการศึกษาจึงจบด้วยการให้สำรองน้ำมันทางการค้าตามระบบเดิมที่ใช้กันอยู่ เพราะเป็นสำรองที่เพียงพอแล้วเมื่อเทียบกับการลงทุนหลักแสนล้านบาททั้งค่าซื้อน้ำมันและโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และการบริหารจัดการที่บอกได้เลยว่าต้องใช้องคาพยพชุดใหญ่

ตอนนั้นก็มีการศึกษา SPR ของสหรัฐฯเปรียบเทียบ ซึ่ง SPR ในความหมายของสหรัฐฯ ให้ถือเป็นแหล่งน้ำมันดิบฉุกเฉินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อลดผลกระทบในการจัดหาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเพื่อดําเนินการตาม “พันธกรณีโครงการพลังงานระหว่างประเทศ” โดยสต็อกน้ำมันของรัฐบาลกลาง จะถูกเก็บไว้ในถ้ำเกลือใต้ดิน ขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า Salt Cavern จำนวน 4 แห่งตามแนวชายฝั่งของอ่าวเม็กซิโก ขนาดความจุ 714 ล้านบาร์เรล มีน้ำมันจากหลายแหล่งเก็บไว้แยกกัน เพราะคุณภาพของแต่ละแหล่งแตกต่างกันรองรับเทคโนโลยีของแต่ละโรงกลั่นที่ไม่เหมือนกัน

น้ำมัน SPR สามารถนำออกไปใช้ได้ โดยเป็นระบบการขายออกไปแบบให้โรงกลั่นน้ำมัน มาประมูลซื้อโดยการอนุมัติของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อพบว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในพ.ร.บ.นโยบายและการอนุรักษ์พลังงาน (EPCA) ที่ผ่านมามีการขายอยู่ 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2554 เป็นน้ำมันดิบ  30 ล้านบาร์เรล เพื่อชดเชยการหยุดชะงักของแหล่งน้ำมัน อันเนื่องมาจากความไม่สงบในลิเบียที่ทำให้อุปทานพลังงาน หยุดชะงักอย่างรุนแรง โดยสหรัฐไม่ได้ทำคนเดียวแต่ประสานงานกับพันธมิตรประเทศอื่นสมาชิกสํานักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ปล่อยปิโตรเลียมทั้งหมด 60 ล้านบาร์เรล

นอกจากนี้ SPR ยังสามารถแลกเปลี่ยนน้ำมันกับหน่วยงานที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า SPR ต้องได้รับน้ำมันมากกว่าที่ปล่อยออกมาในท้ายที่สุด ยกเว้นเกิดหยุดชะงักของปริมาณน้ำมันฉุกเฉินในระยะสั้น

สำหรับ SPR Distribution Systems จะเชื่อมต่อกับศูนย์กลางโรงกลั่นในพื้นที่ ซึ่งเป็นสถานที่จัดเก็บ SPR ทั้ง 4 แห่งใต้ดิน ผ่านทางท่อของ SPR เอง รวมถึงท่อส่งและเทอร์มินัลเอกชน ต่อไปยังโรงกลั่นในพื้นที่อื่นๆ และ SPR ยังเชื่อมต่อกับท่าเทียบเรือทางทะเล 3 แห่งที่มีความสามารถในการกระจายสินค้าทางทะเล

สำหรับประเทศไทยที่ “พีรพันธุ์” จะทำเป็นการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ 90 วันนั้น เทียบว่าไทยใช้วันละ 1 ล้านบาร์เรล อย่างที่บอกว่าสำรองตรงนี้ จะใช้เมื่อมีเหตุ ดังนั้นน้ำมันจำนวนนี้เรียกว่า “เก็บทิ้งลืม” เพื่อใช้ยามฉุกเฉินตามระบบ SPR นานๆ ใช้ที หากเก็บ 1 ปีคูณด้วย 365 คูณราคาน้ำมันเฉลี่ย 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เราใช้เงิน 3 แสนล้านบาทในการซื้อน้ำมันมาเก็บ ใช้เงินที่ไหนตัดไป เพราะ “พีรพันธุ์” บอกแล้วว่า ให้ผู้ค้ามาตรา 7 เป็นคนซื้อเนื้อน้ำมันมาเก็บเข้าคลัง แทนเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ

แต่มีโจทย์ที่ต้องตอบเวลาที่จะปฏิบัติคือ รัฐต้องหาพื้นที่เหมาะสม และลงทุนสร้างคลังในการจัดเก็บหลายคลัง รองรับน้ำมันดิบจากหลายแหล่ง เพราะโรงกลั่นมีเทคโนโลยีแตกต่างกัน ใช้น้ำมันไม่เหมือนกัน และต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ซึ่งต้องไม่ไกลโรงกลั่นน้ำมันไม่ไกลท่าเทียบเรือขนส่งน้ำมัน

ในทาง การบริหารซื้อน้ำมันดิบ ก็อีกเรื่องสำคัญมาก จะซื้อจากแหล่งน้ำมันดิบที่ไหนบ้าง และเท่าไหร่ ซื้อตอนไหน บอกว่าซื้อตอนถูก ซื้อตอนที่ถูกที่สุดได้หรือไม่? หากซื้อแพงกว่าตอนขาย ใครรับผิดชอบ? และเมื่อต้องเอาออกมาใช้เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมัน ขายตอนไหน และจะขายให้โรงกลั่นน้ำมันแบบไหน ประมูลขายไหม? ดังนั้นการบริหารงาน หาผู้ชำนาญและความกล้ารับผิดรับชอบกับการทำสัญญาซื้อขายน้ำมันต้องมีความพร้อมสุดๆ

สำคัญไปกว่านั้น คือ SPR ของไทยสามารถดึงให้ราคาน้ำมันในตลาดบ้านเรา ลดลงได้จริงหรือไม่ แค่ไหน นานไหม เพราะเราเป็นตลาดเล็กๆ น้ำมันจาก SPR ก็ส่วนหนึ่งที่เอาออกมาใช้ระยะสั้นๆ ยังไงก็ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมาใช้…เหล่านี้เป็นคำถามที่ไม่ได้คำตอบในวันนี้หรือพรุ่งนี้ หรือเราอาจจะเห็นได้แค่ผลการศึกษาก็เป็นได้

มาดู ระบบการสำรองน้ำมัน ในบ้านเราปัจจุบัน ข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงานระบุว่า เป็นการสำรองโดยภาคเอกชน วัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และคุ้มครองให้ประชาชนมีน้ำมันเชื้อเพลิงใช้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดแคลน การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่หนึ่งแสนตันขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ห้าหมื่นตันขึ้นไป เรียกว่าผู้ค้ามาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543

การกำหนดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมาย จะอ้างอิงจากปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และคำนึงถึงระยะเวลาในการจัดหาน้ำมันดิบรวมระยะเวลาในการขนส่งจากแหล่งจัดหาหลัก (แหล่งตะวันออกกลาง) มายังประเทศไทย เพื่อให้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา

ซึ่งในปี 2566 ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีหน้าที่สำรองน้ำมันดิบในอัตรา 5% และน้ำมันสำเร็จรูปในอัตรา 1% ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งปีหรือคิดเป็นอัตราสำรองเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ 22 วัน โดยจะต้องเก็บไว้ในสถานที่ที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้เป็นสถานที่เก็บสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายประจำปี

…………………………………………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

 โดย…“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img