วันอาทิตย์, มิถุนายน 16, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSรัฐบาลกับนโยบายพลังงาน 2 ขั้ว “ฉากหน้า-ฉากหลัง”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

รัฐบาลกับนโยบายพลังงาน 2 ขั้ว “ฉากหน้า-ฉากหลัง”

ในการสู้ศึกชิงตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ หลายฝ่ายประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ “โดนัล ทรัมพป์” และ “โจ ไบเดน” อาจต้องมาแข่งขันอีกครั้งในปีนี้ นโยบายภายใต้ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 ที่จะเข้าสาบานตนในเดือนม.ค.2568 อาจเป็นหน้าเดิม แต่ก็มีผลที่จะทำให้พลังงานโลกพลิกอีกครั้ง

ส่วนของ “ทรัมป์” ด้วยแนวคิดการสนับสนุนพลังงานสะอาดน้อยกว่าฟอสซิล จึงมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่า การใช้จ่ายโดยรวมเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนอาจลดลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่ง ขณะที่ความต้องการก๊าซธรรมชาติจะเพิ่ม 6% ภายในปีค.ศ.2030 ด้วยเหตุนี้จึงมีการประเมินว่าจากแนวคิดของทรัมป์อาจสุ่มเสี่ยงที่จะมีการปล่อยคาร์บอนเพิ่มอีก 1,000 ล้านตันภายในปี 2050 รวมไปถึงความสั่นคลอนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คาดว่าจำนวนรถ EV

ทั้งหมดบนถนนในสหรัฐฯในปี 2050 จะต่ำกว่าภายใต้นโยบายปัจจุบันของไบเดนถึง 50% จุดนี้ถือเป็นการเดิมพันเศรษฐกิจสหรัฐฯเลยทีเดียว เพราะในอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐได้มีการลงทุน EV มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ และจ้างงานชาวอเมริกัน 100,000 ตําแหน่ง และมีผลต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุน EV ในอนาคต

ส่วนกิจการ พลังงานภายใต้ “ไบเดน” นักวิเคราะห์ประเมินว่า มีแนวโน้มที่จะเห็นเขาเพิ่มนโยบาย สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเป็น 2 เท่า รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจนและพลังงานนิวเคลียร์ขั้นสูง ซึ่ง “ไบเดน” ประกาศที่จะ ตั้งศูนย์กลางไฮโดรเจนระดับภูมิภาค (Regional Clean Hydrogen Hubs) ใช้เงินกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลเพื่อสร้าง จำนวน 6-10 ศูนย์ทั่วประเทศ ถือเป็นโครงการภายใต้เป้าหมายด้านสภาพอากาศของไบเดนที่สำคัญ ซึ่งเขาได้ให้คํามั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลง 50-52% ภายในปี 2030

แต่ “ไบเดน” ก็ฉลาดพอ เพราะเขาอาจนำหน้าอย่างหวือหวาด้วยพลังงานสะอาด แต่เอาเข้าจริงแล้ว การลงทุนด้านฟอสซิลยังคงดำเนินต่อไป ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากข้อมูลของ สํานักงานสารสนเทศด้านพลังงาน สหรัฐฯ (EIA) พบว่าการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ รวมถึงคอนเดนเสท เฉลี่ยอยู่ที่ 12.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2566 ทําลายสถิติเดิมของสหรัฐฯ และทั่วโลกที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2562 การผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยรายเดือนทํา สถิติสูงสุดใหม่ในเดือนธันวาคม 2566 หรือมากกว่า 13.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สำหรับการลงทุนในตลาดมีการรวบรวม พบว่า ผลกําไรของบริษัทน้ำมันที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ 5 อันดับแรก ได้แก่ Exxon Mobil Corp., เชฟรอน คอร์ป, บีพี อิงค์, Shell Plc และ TotalEnergies SE พุ่งขึ้นเป็น 410,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 ปีแรก ของการบริหารงานของไบเดน หรือเพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในการดำรงตำแหน่งของทรัมป์

“ฉากหน้า” กับ “ฉากจริง” ต้องบาลานซ์เป็นเหมือนกันทุกรัฐบาลในทุกประเทศ ก็เทรนด์โลกที่บีบบังคับในเรื่อง “พลังงานสะอาด” และฐานเสียงของประชาชนที่มักจะไปด้วยกัน และประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานที่ต้องเล็งให้ดี ประเทศไทยดูเหมือนใน “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” กับยุค “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะไปสอดคล้องกันใน การสนับสนุนพลังงานสะอาด เพราะมี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ยึดเก้าอี้ “รัฐมนตรีพลังงาน” ทำให้นโยบายต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว

งานนี้เช่นกัน “ฉากหน้า” ของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” บอกว่า “ไม่สนกลุ่มนายทุน นายทุนตัวจริงคือประชาชน” แล้วก็เดินหน้าในการรื้อโครงสร้างพลังงาน ลบข้อกังขาเสียทีว่า “ทำไมราคาน้ำมันต้องอิงสิงคโปร์” “กำไรของโรงกลั่นกับผู้ค้าน้ำมันได้มากไหม” เพื่ออิงต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงๆ ซื้อน้ำมันดิบมาเท่าไหร่ ค่าการกลั่นและบริหารจัดการและ กำไรควรเป็นเท่าไหร่กัน

แต่สุดท้ายจะเคาะกันอย่างไร ก็ต้องบาลานซ์ระหว่างผลดีที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจริงๆ ในระยะยาวกับกำรี้กำไรของกิจการพลังงาน

แต่เอาเข้าจริง คุยกับกลุ่มปตท.จบ เพราะมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เช่นกัน ที่ก็มีกระทรวงการคลังถือหุ้นเช่นกัน ทำให้ตอนนี้มีคนมองกันว่า 6 โรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่เวลา อยู่ในเครือข่ายปตท.-บางจากฯ ไปแล้วเสีย 5 โรง หลังบางจากฯเข้าซื้อหุ้น เอสโซ่ (ประเทศไทย) ต่อจาก ExxonMobil เป็นที่เรียบร้อย

ในบรรดาโรงกลั่น 6 โรง ประกอบด้วย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่น 145,000 บาร์เรลต่อวัน, บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่น 215,000 บาร์เรลต่อวัน, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่น 275,000 บาร์เรลต่อวัน, บริษัท บางจากฯ กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน, บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กำลังการกลั่น 177,000 บาร์เรลต่อวัน, เหลือโรงกลั่นนอกกลุ่มเพียงโรงเดียวอย่าง บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) (SPRC) กำลังการกลั่น 175,000 บาร์เรลต่อวัน

เรามาจับตากันต่อไปว่าข้อสรุปเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร

…………………………………………..

คอลัมน์ : เข็มทิศพลังงาน

 โดย…“สัญญา สายัน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img