วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘หมูเถื่อน’ปัญหาความมั่นคงต้องแก้ด่วน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘หมูเถื่อน’ปัญหาความมั่นคงต้องแก้ด่วน

เรื่องของ “หมู” ไม่ใช่เรื่องหมู ๆ อีกต่อไป เมื่อ กอ.รมน.ชี้ปัญหา “ภัยคุกคามแทรกซ้อน” มีหลายปัญหา รวมถึงเรื่องของ “หมูเถื่อน” เป็นท่อน้ำเลี้ยงในกลุ่มอิทธิพล ธุรกิจสีเทา  

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 25 พ.ย.66 เรื่องของหมูๆ ใครว่าไม่สำคัญ…สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาหมูเถื่อน ได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงจากการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มองว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายดำเนินการล่าช้า จึงสั่งการให้บูรการหน่วยเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากมีความเสียหายทางเศรษฐกิจหลักหมื่นล้าน หากไม่เร่งดำเนินการการ อาจมีการยักย้ายถ่ายเทเงินทุน ซึ่งทำให้การติดตามทรัพย์ของกลุ่มทุนผิดกฎหมาย กระทำได้อย่างยากลำบาก

@@@…….อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคง มองว่า “ปัญหาหมูเถื่อน” เป็นหนึ่งในประเด็นความมั่นคงที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่เกษตรกรจะทิ้งอาชีพ ซึ่งหมายถึง จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้ผลิต ผู้บริโภค และภาพรวมของประเทศไทย เพราะปัญหาหมูเถื่อนยืดเยื้อมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ที่สำคัญเนื้อหมูของไทยมีความปลอดภัยสูงมากทั้งมาตรฐานฟาร์ม และการบริหารจัดการ เพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนไทยได้บริโภคเนื้อหมู ปราศจากสารปนเปื้อน และสารเร่งเนื้อแดง และขอยืนยันว่าเกษตรกรตั้งใจผลิตเนื้อหมูคุณภาพปลอดภัย เพื่อความมั่นคงทางอาหารให้ ประเทศอย่างยั่งยืน

@@@…….หมูเถื่อน ส่งผลกระทบใน 2 มิติด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมหลักๆ คือ 1.ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทย และ 2.ความเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนกระทบต่อผู้บริโภค ..สำหรับผลกระทบกับอุตสาหกรรม หมูเถื่อนทำให้มีหมูราคาถูกจำนวนมากทะลักเข้าไทย บิดเบือนกลไกราคา ผู้เลี้ยงหมูไทยไม่สามารถขายสุกรได้ตามต้นทุนการเลี้ยงที่แท้จริง ได้รับความเสียหาย และมองไม่เห็นอนาคต รวมทั้งโอกาสในการทำกำไรจากการเลี้ยงได้ ไม่มีหลักประกันความมั่นคงในอาชีพที่จะเลี้ยงหมูอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หมูเถื่อนยังมีความเสี่ยงที่จะมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค ASF และเป็นพาหะของโรค ซึ่งคุมได้ยากมากและมีโอกาส กลับมาระบาดในไทย และสร้างปัญหาให้กับประเทศได้ 

@@@…….ในประเด็นหมูเถื่อนนี้ มั่นใจว่า กลุ่ม Shipping กลุ่มนายทุน และ กลุ่มห้องเย็น คือ ประเด็นตรวจสอบหลัก ฝ่ายความมั่นคงร่วมกับประชาคมข่าวกรองของประเทศ เร่งรวบรวมข่าวสารการข่าวกรอง สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่า ขบวนการหมูเถื่อนจะถูกถอนรากถอนโคนสิ้นซากอย่างถาวร ทั้งนี้ มาตรการการต่อเนื่องต่างๆ และการเฝ้าระวังด้านการข่าวยังคงเป็นความจำเป็น เพื่อป้องปราม และป้องกันการเข้ามาของนายทุนสีเทารายใหม่จากนี้ไปให้สำเร็จได้ในที่สุด 

@@@……ทั้งนี้ กอ.รมน. ได้ชี้ให้ตระหนักต่อเนื่องมาโดยตลอดว่า “ภัยคุกคามแทรกซ้อน” ทั้งยาเสพติด ขบวนการค้าของเถื่อน นำเข้าของผิดกฎหมาย หนีภาษี น้ำมันเถื่อน หมูเถื่อน การค้ามนุษย์ และสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ ที่เข้ามาในประเทศเป็นท่อน้ำเลี้ยงในกลุ่มอิทธิพล ธุรกิจทุนสีเทา ซึ่งรวมถึงเป็นแหล่งเงินทุนในสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่ จชต.มาพร้อมด้วย ดังนั้น ขบวนการค้าของเถื่อนเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นความมั่นคงที่ภาครัฐ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยเกี่ยวข้อง จะละเลยไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องเพราะพวกมันมักมีเกราะกำบังที่ดี กับแฝงตัวอยู่กับผู้ค้าปลีกรายย่อย แต่หน่วยบังคับใช้กฎหมายจะต้อง แสวงความร่วมมือกับหน่วยเกี่ยวข้อง และเร่งรัดมุ่งมั่นปราบปรามอย่างเด็ดขาดโดยเร็ว เพื่อให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้รับการประกัน ภาครัฐจะได้สามารถเดินหน้านโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ ได้อย่างมั่นใจให้สำเร็จได้ในที่สุด 

@@@…….ในการประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 24(ASEAN Chiefs of Armies Multilateral Meeting – 24thACAMM) ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่มีนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดฯ และการประชุมนายทหารประทวนอาวุโสกองทัพบก กลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 11(ASEAN Sergeant Majors Annual Meeting – 11th ASMAM) ภายใต้แนวคิดหลัก ความร่วมมือของกองทัพบก เพื่อส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียน (Armies collaboration to reinforce ASEAN Centrality) โดยมีผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา เข้าร่วมประชุม

@@@…….นายสุทิน ได้กล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน นับเป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายผู้นำทางการทหาร เพื่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาคมอาเซียน ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ และทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทาย ในหลายรูปแบบที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งการเสริมสร้างความมั่นคงร่วมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องอาศัยกองทัพเป็นผู้สนับสนุนภาครัฐในการดำเนินนโยบายและวางรากฐานสนับสนุนภารกิจต่าง ๆ อย่างเพียงพอโดยที่ผ่านมากองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียนได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งในยามปกติและภาวะวิกฤต และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของภูมิภาค” โดยหลังจากการประชุมแบบพหุภาคีเสร็จสิ้น พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ส่งมอบการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 25 ในปี 2567 ให้แก่กองทัพบกฟิลิปปินส์

@@@…….​นอกเหนือจากการประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน ยังมีการทดสอบยิงปืนทางยุทธวิธีกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 31 ที่ศูนย์การทหารราบ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงยังจัดให้มีการประชุมเเลกเปลี่ยนประสบการณ์นายทหารชั้นประทวนกลุ่มประเทศอาเซียน การประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งนี้ นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเป็นแนวทางในการยกระดับบทบาทของกองทัพบก ในด้านการต่างประเทศแล้ว ยังถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะนำพากองทัพบกไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ร่วมกับกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียนต่อไปด้วยการดำเนินการเพี่อกระชับความสัมพันธ์อันดี และเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับกองทัพบกในกลุ่มประเทศอาเซียน อันจะเป็นการนำไปสู่ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยั่งยืนต่อไป

@@@……สำหรับผลการประชุมแบบพหุภาคี พล.อ. เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารบกกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 24 และการประชุมนายทหารประทวนอาวุโสกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 11 ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความท้าทายและความซับซ้อนของปัญหาด้านความมั่นคงจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ทำให้จำเป็นต้องอาศัยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพบกกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะต้องส่งเสริมความร่วมมือทางทหาร และสนับสนุนการดำเนินการตามหลักการของความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพื่อรองรับกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ผ่านการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน การสร้างกลไกการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น และการพัฒนาแนวทางปฏิบัติภารกิจร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือตามแนวชายแดน นอกจากนั้น ยังรวมถึงความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เป็นความท้าทายข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามลำพัง เช่น ภัยพิบัติ ผู้ก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ โรคระบาด ความมั่นคงด้านไซเบอร์  และ ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

@@@……กองทัพเรือ….พล.ร.อ. อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ฝึกทหารใหม่ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามผลการดำเนินการของศูนย์ฝึกทหารใหม่ตามที่ได้มีการสั่งการเมื่อครั้งตรวจความพร้อมก่อนการเข้ารายงานตัวของทหารใหม่ผลัด 3/66 จำนวน 3,700 นาย เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยได้เน้นย้ำถึงเรื่อง การฝึกอบรมทหารใหม่ การดูแลสุขอนามัย และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการดูแลสวัดิการ อาหารการกิน ที่พักอาศัย โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้พบปะพูดคุยกับทหารใหม่ผลัดที่ 3/66 โดยได้สอบถามสภาพความเป็นอยู่ ความต้องการขั้นพื้นฐาน พร้อมเน้นย้ำว่าทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน โดยพลทหารทุกคนถือเป็นน้องคนเล็กของกองทัพเรือ ทั้งนี้ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ จะปลูกฝังความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ความเป็นทหาร และเป็นสุภาพบุรุษทหารเรือ ซึ่งจะสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต อีกทั้งกองทัพเรือจะไม่มีการลงโทษเกินขอบเขต กลั่นแกล้ง หรือทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ ศูนย์ฝึกทหารใหม่ จะคำนึงถึงมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยของทหารกองประจำการทุกนายเป็นสำคัญ กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

 ………………………………….

 คอลัมน์ :  “Military Key”

 โดย “รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img