วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTS‘สันติภาพ’ต้องมากับ‘มั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน’
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘สันติภาพ’ต้องมากับ‘มั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน’

บ้านเมืองสงบ ทหารยังช่วยเหลือชาวบ้าน กองทัพบกเปิดพื้นที่ในค่ายทหารให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาตากให้แห้งเพิ่มปริมาณและคุณภาพของข้าวเปลือกก่อนนำไปขายยังโรงสี

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 9 ธ.ค.66 สถานการณ์ภายในของประเทศไทยทุกอย่างในเวลานี้ราบรื่น ไร้คลื่นลม ไร้ม็อบ ไร้การชุมนุม ไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ผู้นำรัฐบาล ทุกอย่างเงียบสงบเป็นเด็กดีภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย 

@@@…….แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเชิงบวก และเชิงลบของนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรณี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนัก นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย “ฉัตรชัย บางชวด” เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย มีเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม เป็นคณะพูดคุย และมีผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นเลขานุการร่วม ทำหน้าที่ในการดำเนินการพูดคุยสันติสุขฯ กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมทั้งประสานงาน และแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บนพื้นฐานของความจริงใจ สมัครใจ และให้เกียรติ เพื่อให้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับการแก้ไขจนเกิดความสงบ และสันติสุขอย่างยั่งยืน ประชาชนในพื้นที่มีความปลอดภัยทั้งในชีวิต และทรัพย์สิน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมพหุวัฒนธรรม 

@@@…….อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคงยืนยันว่า พูดคุยสันติสุขฯถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องต่อไป เพื่อมิให้สถานการณ์ความไม่สงบด้วยกำลังอาวุธสงครามกลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าสถานการณ์ในภาพรวมจะดูเสมือนมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม ทั้งนี้ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ของไทยที่เกิดมาเป็นเวลาหลายปีแล้วนั้น มีเหตุนานัปการมาจากศาสนา การเมือง วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ และปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งมีความซับซ้อนหลายประการ การศึกษาเกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ และการใช้ความรุนแรงสร้างความหวาดกลัวที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า เกือบทั้งหมดมีขบวนการก่อการร้ายเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งการก่อการร้ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษ โดยเท่าที่มีการศึกษาค้นคว้าและสืบสวนกันมา ขบวนการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น มีหลากหลายกลุ่ม อุดมการณ์ และการปฏิบัติการก็แตกต่างกันออกไป แต่เป้าหมายร่วมกัน ก็คือ “การแบ่งแยกดินแดนเป็นอิสระ จากการปกครองของไทย” และเพื่อมิให้ถูกแทรกแซงจากต่างชาติ หรือยกระดับไปเป็นปัญหาแบ่งแยกดินแดนในระดับนานาชาติ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในบางประเทศ นโยบายภาครัฐของไทย จึงใช้คำว่า “สถานการณ์การก่อความไม่สงบ” แทนที่จะใช้คำว่า “การก่อการร้าย” เพื่อให้มั่นใจว่า นี่คือ ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ นั่นเอง 

@@@…….ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงมองว่า แรงจูงใจจากประวัติความเป็นมาซึ่งขาดการเหลียวแล และไม่ได้รับความยุติธรรมมานานนับศตวรรษ นอกจากนั้นยังมีความแตกต่างด้าน เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ภาษา และอัตลักษณ์ระหว่างรัฐสยามกับรัฐปัตตานี รวมถึงการดำเนินนโยบายบางอย่างของรัฐที่ขัดต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่  รวมถึงปัญหาด้านพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ  ซึ่งมีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่รัฐบางคนก่อนหน้านี้ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ ข้อเสนอแนะทางยุทธศาสตร์ด้านนโยบายจากฝ่ายความมั่นคง ประการแรก ได้แก่ การแก้ปัญหานั้น ต้องเน้นที่การใช้ไม้อ่อนมากกว่าใช้ไม้แข็ง และใช้ Smart Power เป็นหลัก หมายถึงการประยุกต์ใช้ Hard Power และ Soft Power สลับกันไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์

@@@……ประการที่ 2 เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องพัฒนาระบบข่าวสารการข่าวกรองอย่างมีประสิทธิภาพ ประการที่ 3 การประชาสัมพันธ์ต่อกลุ่มเป้าหมาย ต้องยึดแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ประการที่ 4 เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยงาน ต้องทำงานร่วมกันไปในทิศทางเดียวกัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ใช้แนวทางสันติวิธี และมีความยุติธรรม โดยมีการประเมินผลของคนในพื้นที่ที่เข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุข การพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับรายได้ของผู้คน เพื่อสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน และ ประการสุดท้าย ควรใช้ต้นแบบการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤตที่ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์มาแล้ว นำมาประยุกต์เพื่อใช้งานให้เหมาะสมตามสถานการณ์ต่อเนื่องต่อไป หรือจนกว่าจะมั่นใจได้ว่า ความสงบเรียบร้อยจะได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างถาวรจากนี้ไป 

@@@…….ปัจจุบัน ถือว่าการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสภาวะแวดล้อมสำหรับการขับเคลื่อนในเรื่องอื่นๆ โดยอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในการปฏิบัติเพื่อควบคุมสถานการณ์ รองลงมา คือ การให้ความสำคัญกับการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุน และรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมเฉพาะของประชาชนในพื้นที่ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ และคุณภาพชีวิต เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว  หมายถึงสันติภาพนั้น มิใช่เพียงแค่การหยุดยิง แต่จากการสำรวจพบว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องการสันติภาพที่กินได้ เน้นเศรษฐกิจปากท้องเป็นสำคัญไม่แพ้กัน ผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 5,000 บาท และอาชีพหลักคือการรับจ้างทั่วไปเกือบ 30% และเป็นพื้นที่ยากจนที่สุดของประเทศไทย ดังนั้น กระบวนพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ จะต้องใช้กรอบการหารือครอบคลุมกว้างไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจ และอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้คนในพื้นที่ได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ฝ่ายความมั่นคงหวังอย่างยิ่งว่า สันติภาพ และความสงบสุขที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการพูดคุยสันติสุขนี้ จะต้องมาพร้อมกับความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประชาชนคนในพื้นที่ได้สำเร็จในที่สุดจากนี้ไป 

@@@…….ในการประชุมสภากลาโหม ที่มี “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม เป็นประธานพร้อมด้วยผบ.เหล่าทัพ หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้แจ้งเรื่องสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศมอบหมายให้ นายจำนง ไชยมงคล ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหมและมอบอำนาจให้ท่านบังคับบัญชาแทนนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่แต่วันที่ 21 พ.ย.66 เป็นต้นไปเพื่อให้การประชาสัมพันธ์ สื่อสาร การปฎิบัติราชการของ รมว.กลาโหม และคณะทำงานด้านโฆษก เกิดประสิทธิภาพและส่งผลดีต่อภารกิจของกระทรวงกลาโหม รมว.กลาโหมจึงได้ลงนามแต่งตั้ง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นโฆษกกระทรวงกลาโหม ฝ่ายการเมือง เพื่อทำหน้าที่ชี้แจงประเด็นเรื่องการเมือง ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับกองทัพก็ให้เป็นหน้าที่ของโฆษกกระทรวงกลาโหม ข้าราชการฝ่ายประจำโดยเหตุที่ต้องแบ่งหน้าที่ให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.66 เป็นต้นไป

@@@…….เรื่องการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อลดช่องว่างระหว่างทหารกับประชาชนขอให้ นขต. กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพร่วมกันขยายผลและประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะความคืบหน้าการช่วยเหลือประชาชนตามนโยบายและแผนงานอาทิ เช่น การแก้ปัญหาชายแดนใต้ แนวทางการทำงานกับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงของมาเลเซีย การปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดที่จะทะลักเข้ามาตามแนวชายแดน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ปัญหาที่ดินทำกินเพื่อการเกษตร ปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเตรียมเปิดค่ายบำบัด แก้ปัญหายาเสพติด ขอให้ นขต.กระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ และ กอ.รมน. บูรณาการให้ความร่วมมือสนับสนุนการเตรียมความพร้อมการดำเนินงานดูแลและส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (Quick win) พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์การปรับค่ายทหารใหม่ เป็นค่ายบำบัดยาเสพติด รวมถึงการเปิดศูนย์พักคอยของทบ.เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของทหารใหม่ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้มีโอกาสกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณค่าใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขและเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

@@@……กองบัญชาการกองทัพไทย….พล.อ.โดมศักดิ์ คำใสแสง รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล โดยมี พล.ท. ทนงศักดิ์ ตันนารัตน์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ให้การต้อนรับ ณ กองบัญชาการ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ในโอกาสนี้ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานและแนวทางการพัฒนาหน่วย พร้อมทั้งเยี่ยมชมการสาธิตยุทโธปกรณ์ (Static Display) และพบปะกำลังพล โดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล เป็นหน่วยหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายที่มีความพร้อมสูง มีความรวดเร็วในการสั่ง การและการปฏิบัติ เป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนอำนวยการในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย และจัดทำแผนเผชิญเหตุต่อด้านการก่อการร้าย ปฏิบัติงานร่วมกับหลายองค์กรและภาคส่วนต่างๆ ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่รัฐบาล ประชาชน อีกทั้งสร้างการยอมรับแก่มิตรประเทศ 

@@@……กองทัพบก….จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดประกอบกับปัจจุบันเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร ทำให้พื้นที่การเกษตรของประชาชนได้รับความเสียหาย ข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้มีความชื้นและไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการตากข้าวเปลือก จากปัญหาดังกล่าว พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก สั่งการให้หน่วยทหารในพื้นที่เข้าช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนทั้งการร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว,การเปิดพื้นที่ในค่ายทหารให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาตากให้แห้งเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของข้าวเปลือกก่อนนำไปจำหน่ายยังโรงสี และช่วยลดผลกระทบจากการที่เกษตรกรนำข้าวเปลือกไปตากบนท้องถนนซึ่งนอกจากจะกีดขวางการจราจรและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการสูญหายของข้าวเปลือก ตลอดจนหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพบก ยังได้ช่วยรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อนำมาประกอบเลี้ยงให้กับกำลังพลภายในหน่วยอีกด้วย 

@@@…….​โดยที่ผ่านมา มีหน่วยทหารเข้าช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ได้แก่ จ.สระแก้ว กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ ร่วมกับประชาชนหมู่บ้านหนองโกวิทย์ลงแขกเกี่ยวข้าวและนำผลผลิตไปสร้างเป็นธนาคารข้าว, จ.สุรินทร์ มณฑลทหารบกที่ 25 นำรถเกี่ยวข้าว รถลากจูงเทเลอร์ รถฟาร์มแทรกเตอร์ ช่วยเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต และ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 23 สนับสนุนพื้นที่หน่วยบริเวณโครงการทหารพันธุ์ดีตากข้าวให้กับเกษตรกร, จ.เลย กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 8 ช่วยเกษตรกรเก็บเกี่ยวและสีข้าวพร้อมกับขนย้าย, จ.พะเยา กองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 17 สนับสนุนลานสนามบินของหน่วยให้กับเกษตรกร เป็นต้น เกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อขอรับการช่วยเหลือผ่านหน่วยทหารในพื้นที่ หรือติดต่อศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกในพื้นที่ต่างๆ ประกอบด้วย กทม. และปริมณฑล โทร. 02 – 297 7648 – 9, ภาคกลาง โทร. 02 – 280 3977, ภาคอีสาน โทร. 044 – 245 946, ภาคเหนือ โทร. 055 – 242 859, ภาคใต้ โทร. 075- 383 405 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

@@@…….กองทัพเรือ….ที่ทำการหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน 182 นาวาเอก นฤมิต ศุขสมิติ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินตราด พร้อมด้วย นายพีระ เอี่ยมสุนทร ปลัดจังหวัดตราด นายพงษ์พีระ ประมาณพล ปลัดอำเภอคลองใหญ่ นาวาตรี สุริยัน สุนทรแต ผู้แทน รองผู้อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดตราด (ศรชล.จว.ตร.) นาวาเอก วศิน นาคมี ผู้แทน รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จังหวัดตราด (กอ.รมน.จังหวัด ตร.) พันตำรวจโท พันศักดิ์ มาศิริ สารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรคลองใหญ่ ร.ต.อ.พงศธร สระแก้ว ตำรวจน้ำคลองใหญ่ นายสุชิน พุ่มพวง สรรพสามิต พื้นที่ตราด เรือเอก กุลเชษฐ์ สืบสิริ ผู้แทน ผู้บังคับหมู่เรือลาดตระเวนชายแดนส่วนที่ 1 ร่วมแถลงข่าวการจับกุมตรวจยึดสินค้าที่มิได้เสียภาษี (บุหรี่) จำนวน 20,950 ซอง ตามข้อกล่าวหามีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษีและมีไว้ครอบครองซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษี ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ตามมาตรา 204 และมาตรา 203 เป็น บุหรี่ซิกาแรต ขนาดบรรจุ 20 มวน จำนวน 20,950 ซอง (41 หีบ 45 แท่ง) – คิดเป็นมูลค่าสินค้า จำนวน 314,250 บาท – คิดเป็นมูลค่าภาษี จำนวน 1,315,660 บาท – คิดเป็นมูลค่าค่าปรับ จำนวน 19,735,900 บาท 

@@@…….กองทัพอากาศ….พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรและเครื่องหมายแสดงความสามารถพิเศษในการทำหน้าที่สารสนเทศและสงครามอิเล็กทรอนิกส์กองทัพอากาศให้กับผู้บริหารระดับสูงของกองทัพอากาศที่ดำรงตำแหน่งและเคยดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารอากาศ ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ และผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพอากาศในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสงครามอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีผู้เข้ารับมอบประกาศนียบัตรและเครื่องหมายแสดงความสามารถพิเศษในการทำหน้าที่สารสนเทศและสงครามอิเล็กทรอนิกส์กองทัพอากาศ จำนวน 9 คน ดังนี้ 1. พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ 2. พล.อ.อ. ณรงค์ อินทชาติ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ 3. พล.อ.อ. เสกสรร คันธา เสนาธิการทหารอากาศ 4. พล.อ.ต. ณัฐพล เกี่ยวพันธ์งาม ผู้อำนวยการสำนักระบบบัญชาการและควบคุม กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ 5. นายศุภชัย บุรัสตระกูล 6. นายเกียรติศักดิ์ ไชยเสน 7. นายวีรจักร สัจจเทพ 8. นายสุภัค ลายเลิศ 9. นายอนุรักษ์ บัวสุวรรณ 

 ………………………………….

 คอลัมน์ : “Military Key”

 โดย… “รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img