วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSยุติรุนแรงด้วยสันติสุขที่“จชต.”เป็นไปได้
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ยุติรุนแรงด้วยสันติสุขที่“จชต.”เป็นไปได้

“บิ๊กทิน” เผย นายกฯมอบ 5 แนวทางการทำงานของศรชล เพื่อดำเนินการป้องกัน รักษา และเพิ่มพูนผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในทุกมิติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 9 มี.ค.67 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ กิจกรรมที่แสดงถึงความมุ่งมั่นพยายามแก้ปัญหา และนำความสงบสุขมาสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การจัดเสวนาสาธารณะเปิดตัวโครงการ สานเสวนาประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ในหัวข้อ “ก้าวให้พ้นกับดักประวัติศาสตร์กับความขัดแย้งชายแดนใต้” โดยมี “จาตุรนต์ ฉายแสง” เป็นประธาน ณ ห้องประชุม Co-Working อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 4 มี.ค.67 ที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหาจุดร่วมทางประวัติศาสตร์ ที่จะนําไปสู่การยอมรับ และอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน 

@@@…….โดยภาพรวมเป็นการกล่าวถึงประเด็นต่างๆ ได้แก่ การส่งเสริมให้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ที่มีเนื้อหาหลากหลาย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการเคารพอัตลักษณ์ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยอมรับความแตกต่าง สามารถลดความขัดแย้งลงได้, การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต้องออกแบบจากคน ข้างล่าง ซึ่งที่ผ่านมาเยาวชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง และการพูดคุยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) อาจมีผลกระทบต่อผู้ที่กล่าวถึง ซึ่งมองว่า ประวัติศาสตร์ต้องสามารถนํามาถกเถียงกันได้ และส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างการยอมรับ และการอยู่ท่ามกลางความหลากหลายและแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก หรือการเคารพ ในสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้จะสามารถนําไปบรรจุในหนังสือวิชาอะไรก็ตาม เพื่อให้เด็กๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ รวมทั้ง การจัดการเสวนาในหัวข้อ “ประชาขนออกแบบสันติภาพ : การรับฟังความคิดเห็นและ ข้อเสนอแนะของประชาชนต่อการสร้างสันติภาพใน จชต./ปาตานี” ณ ห้องประชุมซาลัคม.ราชภัฏยะลา ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดผ่านเพจฯ ในวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค.67 นี้ 

@@@…….นอกจากนั้น ในพื้นที่ จชต.เอง ก็มีกิจกรรมพบปะหารือแนวทางการขับเคลื่อนรอมฎอนสันติสุข และส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 ณ ห้องประชุมหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ค่ายกัลยาณิวัฒนา ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พล.ต. เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส จัดกิจกรรมพบปะเพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนรอมฎอนสันติสุข และส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมประจำปี ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ดี ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา กับพี่น้องประชาชนไทยมุสลิม และไทยพุทธในพื้นที่ พร้อมทั้งเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจการปฏิบัติงาน ก่อนเข้าเดือนรอมฎอนที่จะนำความรู้ ทางด้านศาสนา วิถีชีวิตและหลักการปฏิบัติต่างๆ ในเรื่องข้อห้าม ข้อจำกัดตามประเพณีวัฒนธรรม เกี่ยวกับเดือนรอมฎอน และการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ นำไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ และเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และลดเงื่อนไขในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ อันนำไปสู่การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลหนุนเสริมกระบวนการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี อย่างยั่งยืนตลอดไป 

@@@…….ทั้งนี้ พล.ต.เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส กล่าวว่า การพบปะสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ เป็นตามนโยบายของ พล.ท.ศานติ  ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปฏิบัติศาสนกิจอันดีงามของพี่น้องมุสลิม ที่ปฏิบัติตนด้วยการแสดงความเคารพภักดี และเชื่อฟังอัลลอฮฺ ซึ่งในเดือนรอมฎอนมีความสำคัญสำหรับพี่น้องชาวไทยมุสลิมเป็นอย่างยิ่ง เพื่อต้องการให้เราทำทานมากขึ้น สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคัมภีร์กุรอ่านให้มากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นเดือนที่จูงใจให้ผู้ศรัทธาทำความดีทั้งปวงกว่าเดือนอื่นๆ หัวใจจะจดจ่ออยู่กับการแสดงความเคารพภักดี หมั่นทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ หน่วยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนให้พี่น้องมุสลิมประกอบศาสนกิจอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี พร้อมที่จะส่งเสริม สนับสนุน การปฏิบัติศาสนกิจอันดีงามของพี่น้องไทยมุสลิมด้วยจิตใจที่เมตตา และเข้าใจต่อการปฏิบัติตนในห้วงเดือนรอมฎอนร่วมกันสร้างสันติสุข ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการนี้ได้มอบอินทผาลัม และสิ่งของเครื่องบริโภค ให้แก่ผู้นำศาสนา เพื่อนำไปมอบให้แก่พี่น้องมุสลิมไว้ใช้การละศีลอด (เปิดปอซอ) ในช่วงเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445  ต่อไป 

@@@…….อย่างไรก็ตาม จากกิจกรรมการเสวนาก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอนทั้งหลายเหล่านี้ ได้หยิบยกประเด็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพื้นที่ จชต.มาเสวนา เพื่อหาหนทางในการเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับในอัตลักษณ์ในความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยส่งต่อไปยังเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและป้องกันการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง คาดว่า กิจกรรมทั้งหลายเป็นต้นเหล่านี้ จะทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย และจะเกิดผลลัพธ์ดี หากมีการนําแนวคิดไปถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ให้มีกระบวนการคิดด้วยเหตุและผล เปิดรับความความคิดเห็นที่แตกต่าง และไม่ด่วนตัดสินใจ หรือรับรู้ด้วยความรู้สึก อีกทั้งการสร้างกระบวนการความคิดด้วยเหตุและผลที่สามารถพิสูจน์ได้จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถป้องกัน การชักจูงเข้าเป็นแนวร่วมของผู้ไม่หวังดีได้ และเนื่องจากเป็นการพูดคุยรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลากหลายกลุ่ม พร้อม ทําความเข้าใจในประเด็นปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความร่วมมือจากภาคประชาชน คาดหมายได้ว่า ข้อไขต่างๆ ที่ได้รับจากกิจกรรมเหล่านี้ ผนวกกับความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนคนในพื้นที่ รวมทั้งการดำเนินการอย่างจริงจังของภาครัฐ และฝ่ายความมั่นคง อันจะเป็นหนทางยุติความรุนแรงด้วยความสันติสุข โดยสอดคล้องกับบริบททางสังคม อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหน่วยงานความมั่นคง จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวในการเสวนาที่กล่าวถึงนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้สำเร็จในที่สุด

@@@…….นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ปฏิบัติภารกิจแทน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี/ผอ.ศรชล.ในการมอบนโยบาย/แนวทางการปฏิบัติงานให้กับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) โดยมี พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร./รอง ผอ.ศรชล. และ หน่วยงานความมั่นคงทั้งภายในและนอกประเทศทึ่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานดังกล่าว โดยนายสุทินได้เยี่ยมชมนิทรรศการ และรับชมวีดิทัศน์การปฏิบัติงานของ ศรชล. จากนั้นได้กล่าวว่า ผลประโยชน์ของชาติทางทะเลนับเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ประมาณ 24 ล้านล้านบาทต่อปีที่มาจากกิจกรรมต่างๆ อาทิ การท่องเที่ยว การพาณิชยนาวี และการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล โดย ศรชล. ที่หน่วยงานหลักจะต้องดำเนินการป้องกัน รักษา และเพิ่มพูนผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในทุกมิติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งรักษาไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย สิทธิอธิปไตย และสิทธิหน้าที่อื่นใดให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ 

@@@……ดังนั้น นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศรชล.จึงได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานต่างๆ ไว้ดังนี้ 1)ให้ขับเคลื่อนการบูรณาการฐานข้อมูลด้านความมั่นคงทางทะเล (Maritime Data Driven Joint Inter-Agency Task Forces) เพื่อให้มีกลไกตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล (Maritime Domain Awareness: MDA) เชื่อมโยงกับหน่วยงานทางทะเลทั้งในประเทศและต่างประเทศ 2) ยกระดับความพร้อมในการค้นหาและช่วยเหลือประชาชน/ผู้ประสบภัยทางทะเล (Maritime Search and Rescue) ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากลตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) กำหนด ตลอดจนให้มีการจัดหาเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยทางทะเล และมีเรือพร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง 3) พัฒนาประสิทธิภาพการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวในการส่งกลับผู้เจ็บป่วยสายแพทย์ในทะเล (MEDEVAC at Sea) ให้มึความรวดเร็วและทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการรับกลุ่มเรือท่องเที่ยวและเรือสำราญขนาดใหญ่ตั้งแต่เข้าน่านน้ำไทยจนถึงจุดจอดเรือเพื่อส่งเสริมและเพิ่มความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวทางทะเล 

@@@……4) ให้บูรณาการหน่วยงานทางทะเลและหน่วยงานความมั่นคงทั้งในประเทศและต่างประเทศในการสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล (Maritime Interdiction at Sea) ในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานด้านการ บังคับใช้กฎหมายในทะเลให้เป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และมีความร่วมมือ กับประเทศในภูมิภาคเพื่อให้ร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเดียวกัน 5) ให้ขับเคลื่อนสมุทราภิบาล (Maritime Good Governance) ในการสร้างความตระหนักรู้ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายทะเล ชุมชน และเกาะแก่ง เพื่อให้เป็นหุ้นส่วนการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (Martime National Interest Strategic Parthership) ให้ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการใช้ทะเลอย่างยุติธรรม รักษาไว้ให้ยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน (SDG14) 

@@@……การฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์เข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการ…..พล.ท.ธงชัย รอดย้อย รองเสนาธิการทหารบก พร้อมด้วย พล.ต. แมทธิว ดับเบิ้ลยู แมคฟาร์เลน รองแม่ทัพน้อยที่ 1 กองทัพบกสหรัฐอเมริกา และคณะเข้าร่วมรับชมการปฏิบัติการฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) ในส่วนของการกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ (Strategic Airborne Operation : SAO) โดยมีกำลังพลจำนวนทั้งสิ้น 243 นาย เป็นกำลังพลจากกองทัพไทย จำนวน 126 นาย และกองทัพสหรัฐอเมริกา จำนวน 117 นาย ทำการกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ (Strategic Airborne Operation : SAO) โดยใช้เครื่องบินแบบ C-17 กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบินตรงจาก อลาสก้า สหรัฐอเมริกา จำนวน 2 ลำ และบินจากสนามบินอู่ตะเภา จำนวน 2 ลำโดยทั้ง 2 ขบวนบิน ได้ร่วมขบวนบินบริเวณจังหวัดนครราชสีมา รวมเป็นขบวนบิน จำนวน 4 ลำ เพื่อบินตรงเข้าสู่เขตส่งลง ทองนิ่ม บ้านดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ทำการส่งลงยุทโธปกรณ์หนัก (สิ่งอุปกรณ์) จำนวน 1 ชุด และส่งลงกำลังพล 243 นาย ในการกระโดดร่ม แบบสายดึงประจำที่ ด้วยร่มบุคคลโดดทางยุทธวิธี แบบ T-11 สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกในส่วนของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ทักษะยุทธวิธีทางทหาร แล้ว ยังเป็นการพัฒนาเทคนิคขั้นตอนการปฏิบัติ และการวางแผนในการปฏิบัติการร่วม/ผสม ร่วมกันทั้งการปฏิบัติร่วมกับอากาศยาน หรือในภูมิประเทศที่แตกต่างออกไป เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับกำลังพลของกองทัพไทย และกองทัพมิตรประเทศ อีกด้วย 

@@@……ที่ท่าเรือจุกเสม็ด….พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมเรือลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบกของกองทัพสหรัฐอเมริกา USS Somerset ( LPD : Landing Platform Dock ) โดยมี พ.อ.เคิร์ท เลฟเลอร์ (Kurtis A. Leffler) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย/หัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (JUSMAGTHAI) และ นาวาเอกหญิง มิเชล ซี.แบรนต์ (Michel C. Brandt) ผู้บังคับการเรือ USS Somerset ให้การต้อนรับ ซึ่งการตรวจเยี่ยมฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับชมขีดความสามารถของเรือ USS Somerset โดยเรือลำนี้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอเมริกาและถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการหลายรูปแบบ ทั้งการระบายพล การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การปฏิบัติการโพ้นทะเล สนับสนุนภารกิจทางทหารด้านกิจการพลเรือน การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติในต่างประเทศ การขนส่งลำเลียงและเป็นเรือบัญชาการ โดยมีหน่วยนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกา ประจำการอยู่บนเรือ พร้อมยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ 

@@@……การเยี่ยมชมเรือในครั้งนี้ ทางกองทัพสหรัฐอเมริกา เปิดโอกาสให้นักเรียนเตรียมทหาร ชั้นปีที่ 1 เหล่าทหารเรือ และผู้เข้าเยี่ยมชมจากกองทัพไทย ได้เข้ารับชมเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเดินเรือ การติดต่อสื่อสาร การควบคุมอำนวยการโดยใช้เทคโนโลยีทางทหารที่มีความทันสมัยของเรือ ลักษณะการปฏิบัติการของกำลังพลในเรือ โครงสร้างการบังคับบัญชาในส่วนต่าง ๆ ของเรือ โดยเฉพาะในส่วนของกำลังพลของเรือและกำลังรบยกพลขึ้นบกที่ไปกับเรือ ตลอดจนรับทราบความเป็นอยู่ของกำลังพล (การบริการด้านอาหาร การพักอาศัย การสันทนาการ) และขนบธรรมเนียมประเพณีของทหารเรือสหรัฐอเมริกา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบ การณ์ร่วมกันระหว่างทั้งสองกองทัพ โดย “ซัมเมอร์เซ็ต” ซึ่งถูกนำมาตั้งชื่อเรือ USS Somerset มาจากจุดที่เครื่องบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์เที่ยวบินที่ 93 ตกในแถบรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องบินพาณิชย์ที่สูญเสียจากเหตุวินาศกรรม 911 โดยผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดได้ช่วยกันขัดขวางผู้ก่อการร้ายเพื่อไม่ให้นำเครื่องบินไปชนอาคารสำคัญด้วยการเบี่ยงจุดตกไปยังเหมืองถ่านหินซัมเมอร์เซ็ตเคาน์ตี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 40 คน จึงนับเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเรือเพื่อระลึกถึงเหล่าผู้กล้าที่สละชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยชิ้นส่วนของเครื่องบินดังกล่าวได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเรือด้วย 

@@@……สำหรับเรือ USS Somerset ของกองทัพสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาเดินทางหนึ่งเดือนครึ่งจากสหรัฐอเมริกาในการนำกำลังพลเข้าร่วมการฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 ระหว่างวันที่ 27 ก.พ. ถึงวันที่ 8 มี.ค. 2567 เป็นเรือรบที่มีสมรรถนะสูง มีขนาดความยาวประมาณ 200 เมตร กว้างประมาณ 30 เมตร ความสูงเทียบได้กับอาคาร 7 ชั้น ระวางขับน้ำ 25,000 tons กินน้ำลึก 7 เมตร สามารถทำความเร็วได้ประมาณ 22 น๊อต บรรทุกยานเบาะอากาศ (Landing Craft Air Cushion : LCAC) ได้ 2 ลำ เพื่อใช้ในการลำเลียงยุทโธปกรณ์และกำลังพล โดยสามารถบรรทุกกำลังพลได้สูงสุดถึง 800 นาย มีอาวุธประจำเรือประกอบด้วย ปืนขนาด 30 มม. ใช้สำหรับป้องกั้นตัวเองจากภัยผิวน้ำ จรวดป้องกันภัยทางอากาศระยะประชิด โดยมีอากาศยานประจำเรือ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์แบบ CH-46 Sea Knight จำนวน 4 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ MV-22 จำนวน 2 ลำ โดยมี นาวาเอกหญิง มิเชล ซี.แบรนต์ เป็นผู้บังคับการเรือ และกำลังพลบางส่วนของเรือเป็นสตรี ซึ่งนับได้ว่ากองทัพสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมบทบาทของสตรี และความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งกองทัพไทยก็ได้มีการพัฒนาและส่งเสริมบทบาทของสตรีที่สำคัญได้แก่ การเพิ่มจำนวนทหารหญิงในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพในกรอบของสหประชาชาติ

@@@……ที่กองบัญชาการกองทัพบก…. พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก/ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกเป็นประธานร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานภาคี เปิดโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง ประจำปี ๒๕๖๗“ โดยเป็นการบูรณาการร่วมในการบรรเทาปัญหาภัยแล้งที่มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งทุกหน่วยงานได้นำศักยภาพของทรัพยากร กำลังพล เครื่องมือและยุทโธปกรณ์ร่วมกันดูแลพี่น้องประชาชนเพื่อให้มีน้ำสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับสภาวะภัยแล้งโดยปีนี้เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่เดือนม.ค. และจะต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ก.ย. 2567 หรือจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลายสำหรับพิธีเปิดได้ทำพิธีพร้อมกันทั้งส่วนกลาง ณ กองบัญชาการกองทัพบก และส่วนภูมิภาค ได้แก่ กองทัพภาคที่ 2 ที่ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา, กองทัพภาคที่ 3 ที่ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก และกองทัพภาคที่ 4 ที่ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช 

@@@……ในส่วนของกองทัพบกโดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกได้มอบหมายให้หน่วยทหารในทุกพื้นที่ สำรวจความต้องการของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค เพื่อให้ความช่วยเหลือ นำกำลังพลและรถยนต์บรรทุกน้ำของกองทัพบก ลงพื้นที่ไปแจกจ่ายน้ำตามแหล่งน้ำสำรองของชุมชนต่างๆ อาทิ วัด, สถานีอนามัย และศาสนสถาน ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการแจกจ่ายน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคให้กับพี่น้องประชาชน จำนวน 32,832,000 ลิตร รวมถึงการแจกจ่ายถังบรรจุน้ำ จำนวน 100 ใบ ครอบคลุมพื้นที่ 58 จังหวัด ทั้งนี้ กองทัพบกพร้อมนำศักยภาพของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ลงพื้นที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รับมือและคลี่คลายปัญหาภัยแล้ง สามารถประกอบชีวิตได้ตามปกติสุขซึ่งหากชุมชนหรือประชาชนในพื้นที่ใดที่ได้รับความเดือดร้อนและต้องการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สามารถติดต่อได้หน่วยทหารใกล้บ้าน หรือศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพภาค ได้แก่ ภาคกลาง โทร. 02-2977648 -9, 02-280-3977 ภาคอีสาน โทร. 044-245946 ภาคเหนือ โทร. 055-242859 และภาคใต้ โทร. 075-383405

@@@…..กองทัพเรือ….พล.ร.อ. อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว แสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ และผู้บังคับบัญชาในกองอำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 ให้การต้อนรับ โดยผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบโอวาทให้กับกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึก และชมการการสาธิตการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งมีการประกอบกำลังจากหน่วยกำลังรบ และหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ ในกองทัพเรือมาเข้าร่วมการปฏิบัติการสาธิตฯ โดยเป็นการปฏิบัติการต่อต้านกำลังรบยกพลขึ้นบก กำลังปฏิบัติการพิเศษ และอาวุธจากเรือผิวน้ำและอากาศยาน 

@@@…..นอกจากนั้น ยังมีการสาธิตการป้องกันพื้นที่สำคัญบนฝั่ง ด้วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งอีกด้วย กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงความพร้อมของหน่วยต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ โดยเป็นการฝึก ในสถานการณ์ปกติจนถึงขั้นการป้องกันประเทศ การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย.66 – 1 ส.ค.67 โดยมีกำลังทางเรือประเภทต่าง ๆ เข้าร่วมการฝึก ได้แก่ เรือผิวน้ำ จำนวน 20 ลำ เครื่องบิน จำนวน 4 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 6 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ จำนวน 2 ระบบ กำลังจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กำลังจากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง กำลังจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ตลอดจนหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ มีกำลังพลเข้าร่วมการฝึกรวมทั้งสิ้น 4,500 นาย มีพื้นที่การฝึกทั้งในทะเลและบนบก 

@@@…..นอกจากนั้น ยังมีการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การยิงอาวุธประจำหน่วยและการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงของกำลังภาคพื้นดิน ทั้งกำลังจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รวมทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศที่ได้จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย ในขณะเดียวกัน ได้มีการฝึกด้านการส่งกำลังบำรุง (Logistics Exercise: LOGEX) เพื่อทดสอบขีดความสามรถด้านการส่งกำลังบำรุงและการปฏิบัติของหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ พร้อมกันไปด้วย และที่สำคัญ คือ การฝึกในครั้งนี้ ได้มีการเชิญ ศรชล. กองทัพบก และกองทัพอากาศ จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในหัวข้อการฝึกต่าง ๆ เช่น กำลังของ ศรชล. ในการฝึกป้องกันพื้นที่สำคัญ กำลังของกองทัพอากาศในการฝึกป้องกันภัยทางอากาศให้กับกองเรือและการโจมตีเรือในทะเล กำลังของกองทัพบกในการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง เป็นต้น 

@@@…..ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2567 นั้น นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจะได้รับความรู้ ความชำนาญเพิ่มขึ้นจากการฝึกแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังทางเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับ ศรชล. และเหล่าทัพ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขีดความสามารถของกำลังทางเรือที่เตรียมไว้สำหรับการทำสงคราม ยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติได้อีกด้วย. 

 ………………………………….

 คอลัมน์ : “Military Key”

 โดย ..“รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img