วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSลงทุนขนาดใหญ่เขตทับซ้อนใต้เกาะกูด “ฝ่ายความมั่นคง”ชี้ขณะนี้อาจไม่เหมาะ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ลงทุนขนาดใหญ่เขตทับซ้อนใต้เกาะกูด “ฝ่ายความมั่นคง”ชี้ขณะนี้อาจไม่เหมาะ

ทหารยุค “บิ๊กทิน” เร่งปรับปรุงโครงสร้างการจัดส่วนราชการของ นขต.กลาโหม และเหล่าทัพ 700 อัตรา ช่วยลดงบประมาณ 34 ล้านกว่าบาท  

@@@…….สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันทุกวันเสาร์กับคอลัมน์ “Military Key” ทางเว็บไซต์ https:// thekey.news ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 23 มี.ค.67 ช่วงที่ผ่านมาประเด็นความมั่นคง และ พื้นที่ทับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด ยังเป็นประเด็นร้อนแรงจนถึงปัจจุบัน การปักปันพรมแดนทางทะเลก็ยังค้างอยู่แบบเดิม เนื่องจากกัมพูชาไม่ยอมอะไรเลยท่าเดียวมาก่อนหน้านี้ แต่เมื่อพื้นที่ตรงนี้มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องแล้ว กลับยิ่งเจรจากันยากขึ้น เพราะตามกฎหมายทะเล พื้นที่ทะเลต้องเป็นตามที่ประเทศไทยขีดไว้ ซึ่งกัมพูชาก็ยังไม่ยอม และขีดหักผ่าเกาะกูดทั้งๆ ที่กัมพูชาก็รู้กฎหมายทางทะเลดีแต่ดื้อตาใสจะเอาให้ได้ โดยไม่มีมาตรฐานกฎหมายสากลใดๆ รองรับ 

@@@…….จนกระทั่ง ปี 2543 สองฝ่ายได้เคยทำ “เอ็มโอยู” ร่วมกัน โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ตอนในการแก้ไขปัญหา คือ พื้นที่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ กำหนดให้การทำการแบ่งเขตทางทะเล และพื้นที่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ลงมากำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน โดยมีการตั้งกรรมาธิการเทคนิคร่วมไทยกัมพูชา มี รมว.ต่างประเทศเป็นประธานฝ่ายไทย พร้อมตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ในการจัดทำพื้นที่ร่วม และการเจรจาแบ่งเขตทางทะเลพื้นที่ ตอนบนเหนือละติจูด 11 องศาเหนือด้วย อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 48 บริษัทเชพรอน สหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทย และกัมพูชาให้สำรวจพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตร ได้ประเมินมูลค่าก๊าซธรรมชาติไว้ 3.5 ล้านล้านบาท และน้ำมัน 1.5 ล้านล้านบาท โดยกองทัพเรือยังต้องดูแลความปลอดภัย 2 ฐานขุดเจาะนางนวลนี้อยู่ ทำให้กัมพูชาเริ่มพูดจากับเรา ยากขึ้นไปอีก 

@@@…….รอง ผบ.ทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ยังไม่มีการขุดเจาะสำรวจ ท่าทีของกัมพูชาดีมาก และคุยกันรู้เรื่อง แต่เมื่อมีการสำรวจรู้ถึงผลประโยชน์แล้ว ท่าทีก็เปลี่ยนไปและคุยกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งในการเจรจาตอนแรกไทยเห็นว่าบริเวณนั้นอยู่ในเขตของไทย แต่เมื่อเกิดเขตทับซ้อนขึ้นจึงต้องมีการเจรจา ก็เลยเสนอว่าต้องแบ่งให้ไทย 60 กัมพูชา 40 แต่กัมพูชาต่อรองให้เหลือ 50:50 ซึ่งไทยก็นิ่งเฉย เพราะช่วงนั้นกัมพูชามีปัญหาภายในเกี่ยวกับเขมรแดง พอถึงช่วงนี้แหล่งพลังงานของไทยเริ่มร่อยหรอ จึงเริ่มคิดที่จะมีการเจรจาอีกครั้ง เพื่อหาพลังงานทดแทน จึงได้เริ่มคุยกับกัมพูชาใหม่ แต่ปรากฏว่ากัมพูชาอ้างเรื่องสิทธิในทะเล และขอแบ่ง 90% ให้ไทยแค่ 10% อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาในช่วงนี้คิดว่า นายกฯของไทยอาจจะเจรจามาที่ 50:50 ซึ่งหากกัมพูชายอมน่าจะแบ่งผลประโยชน์กันได้ แต่เชื่อว่าเขตแดนบนบก มีผลกับหลักเขตทางทะเล และทะเลอาณาเขตมาพร้อมด้วย ทั้งนี้กัมพูชาจะลากเส้นเขตจากเกาะกูดไปยังหลักเขตที่ 73 โดยยอมให้พื้นที่บนบกของเกาะกูดเป็นของไทย แต่ในทางทะเลพวกเขากลับให้เป็นของเขา เพราะฉะนั้น ปัญหาเขตแดนจริงๆ จึงมิใช่เรื่องของเกาะกูด แต่เป็นเรื่องของทะเลอาณาเขต และเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่ทับซ้อนกันนั้น ต่างมองไปคนละมุมที่แตกต่างกัน และปัจจุบันยังคงตกลงกันไม่ได้ 

@@@…….ทั้งนี้ หากผนวกเรื่อง ความมั่นคงทางพลังงาน มาพร้อมด้วยแล้ว ฝ่ายความมั่นคง มองว่า ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล Volatility of Fossil Fuel Prices หมายความว่า รายได้อาจผันผวนในแต่ละปี แต่สิ่งสำคัญ คือ น้ำมัน และก๊าซ Oil & Gas จะมีกำไรลดน้อยลง และกลายเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเมื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ศูนย์สุทธิเร่งตัวขึ้น Energy Net Zero Transitions Accelerate โดยทั่วไปราคา และผลผลิต จะลดลง และความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ค้างอยู่ก็สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในภาคส่วนกลางน้ำ Midstream Sector ซึ่งรวมถึงโรงกลั่น Refineries และโรงงานแยกแก๊สสำหรับก๊าซธรรมชาติเหลว Facilities for Liquefied Natural Gas

@@@…….คาดกันว่า หากบริษัทน้ำมัน และก๊าซ Oil & Gas Companies ไม่ปรับตัวเพื่อเข้าร่วมในกระบวนเปลี่ยนผ่านสู่ศูนย์สุทธิ Net Zero Transition แล้ว อาจส่งผลให้มีบริษัทฯหลายร้อยบริษัททั่วโลก ต้องล้มละลายลง และหากราคาพลังงานหมุนเวียน Renewables ลดลงไปมากกว่านี้อีก จะมีบริษัทฯในธุรกิจน้ำมัน และก๊าซ Oil & Gas Companies ล้มลงมากกว่านี้อีกอย่างมากเช่นกัน ทั้งนี้ อ้างอิงข้อมูลในรายงานล่าสุดของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ International Energy Agency : IEA พบว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคพลังงาน Structural Changes in the Energy Sector กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วพอที่จะทำให้ความต้องการน้ำมัน และก๊าซ ไปถึงจุดสูงสุดได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้ หรือภายในช่วง 5 ปีจากนี้ไป และจะเริ่มลดลงด้วยความเร่ง ตามกรอบนโยบายพลังงานในประชาคมโลกปัจจุบัน ซึ่งหมายถึง การลงทุนขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติใต้เปลือกโลกใต้ก้นทะเล ด้วยเงินจำนวนมหาศาลนั้น จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงอย่างยิ่ง อาจไม่คุ้มค่า และต้องเผชิญกับการล้มละลายขนานใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน และราคาพลังงานหมุนเวียนรูปแบบกระจายแยกย่อย ลดลงเรื่อย ๆ มากกว่านี้อีกใน 2-3 ปีข้างหน้าตามที่มีการคาดหมายไว้ 

@@@…….ดังนั้น แทนที่จะลงทุนกับพลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนทางใต้ของเกาะกูด ซึ่งขอบเขตทะเลอาณาเขต รวมทั้งเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย และเขมร ยังตกลงกันไม่ได้ ฝ่ายความมั่นคงจึงมองว่า มันสายไปแล้ว ไทยควรจะขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่นี้มาใช้ประโยชน์ได้ ตั้งแต่เมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว เงินลงทุนจำนวนมาศาล สมควรนำไปใช้เพื่อพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน จะเหมาะสมกว่า สอดคล้องกับยุคสมัยมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้ ความเป็นอิสระทางพลังงานของชาติ และความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตของไทยก็จะได้รับการประกัน 

@@@…….ฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่า การเจรจากับเขมรเกี่ยวกับทะเลอาณาเขตนั้น ไม่ได้จบลงหรือยอมกันง่ายๆ แน่นอน ดังนั้น นอกจากฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายทหารจะเตรียมกำลังให้พร้อมไว้แล้วนั้นก็ตาม แต่ฝ่ายความมั่นคงก็คาดหวังว่า รัฐบาล ฝ่ายการเมือง และฝ่ายบริหารของไทย จะพิจารณาในประเด็นเหล่านี้ให้รอบคอบ รอบด้าน ทั้งนี้ การตัดสินตกลงใจการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ด้านใต้ของเกาะกูด อาจมิได้เป็นความจำเป็นยิ่งยวดทางเศรษฐกิจอย่างที่คิดไว้มากนัก ทั้งยังอ่อนไหวด้านความมั่นคงด้านการป้องกันประเทศ และความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งสวนกระแสโลกที่กำลังมุ่งพยายามยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากใต้เปลือกโลก และใต้ก้นทะเลในอนาคตจากนี้ไป ทั้งนี้เพื่อให้ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของไทย จะยังคงได้รับการประกันต่อเนื่องต่อไปได้ในที่สุด 

@@@…….ในการประชุมสภากลาโหม ที่มีนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้รับทราบแผนการปรับปรุงโครงสร้างการจัดส่วนราชการของ นขต.กลาโหมและเหล่าทัพในระยะเร่งด่วน (ปีงบประมาณ พ.ศ.2568 – 2570) ดังนี้ ปิดอัตรา : โดยไม่บรรจุกำลังพลในตำแหน่งและสามารถเปิดบรรจุเมื่อมีความจำเป็นทางด้านยุทธการ – หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม 700 กว่าอัตรา งบประมาณลดลง 34 ล้านกว่าบาท โดยระยะเวลาขึ้นอยู่กับแผนการบริหารจัดการกำลังพล  การควบรวมหน่วย : ที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม – ควบรวมสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการกำลังพลสำรอง กับ กองการสัสดี กรมสรรพกำลังกลาโหม – ปรับปรุงโครงสร้างกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ให้สอดคล้องกับ ศูนย์ไซเบอร์ทหาร และเพิ่มการตรวจรักษาด้านจิตเวช – แปรสภาพสำนักงานอาเซียน สำนักนโยบายและแผนกลาโหม เป็น สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศและอาเซียน กองบัญชาการกองทัพไทย – แปรสภาพศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง เป็น สำนักงานพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา – แปรสภาพศูนย์ไซเบอร์ทหาร เป็น หน่วยบัญชาการไซเบอร์ทหาร 

@@@…….กองทัพอากาศ  จัดตั้ง สำนักจัดหายุทโธปกรณ์ กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ และสำนักการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ โดยปรับเกลี่ยจาก สำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร – เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ – ควบรวมศูนย์ไซเบอร์กองทัพอากาศ กับ กรมเทคโนโลยีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ – จัดตั้งศูนย์การฝึกกองทัพอากาศน้ำพอง – โอนภารกิจการตรวจสอบมาตรฐานการบินของกรมจเรทหารอากาศ ให้ สำนักงานการบินกองทัพอากาศ – ปรับโครงสร้างกรมช่างทหารอากาศ, กรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ และกรมสรรพาวุธทหารอากาศรองรับสหวิทยาการ การยุบหน่วย : ที่หมดความจำเป็น – สำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศูนย์ประสานภารกิจทางทหาร สำนักนโยบายและแผนกลาโหม

@@@……กองทัพบก….พล.ท.อานุภาพ ศิริมณฑล เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก/โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก ประธานในการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ได้กล่าวขอบคุณผู้บังคับหน่วยและกำลังพลทุกนายในกองทัพบกที่ได้ร่วมปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น และได้ผลเป็นที่น่าพอใจโดยในการประชุมได้มีการมอบใบประกาศชมเชยให้กำลังพลที่ช่วยเหลือประชาชน, การมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรกำลังพล ประจำปี 2567 และการมอบรางวัลการทดสอบสมรรถภาพร่างกายให้กับผู้บังคับหน่วย ระดับกรมและระดับกองพันที่มีผลคะแนน 100% 

@@@……จากนั้นได้มีการรายงานสรุปผลการปฏิบัติงานตามวงรอบของกรมฝ่ายเสนาธิการและหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกให้ที่ประชุมได้รับทราบ จากนั้นที่ประชุมได้รับทราบข้อหารือประเด็นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การตรวจเลือกทหารกองประจำการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บัญชาการทหารบกให้ความสำคัญและได้มอบแนวทางในการพัฒนากระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวกับทหารกองประจำการทั้งระบบ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนทหารของหน่วยสัสดี, การคัดสรรและสร้างความพร้อมของคณะกรรมการตรวจเลือกทหารฯ, การดำเนินโครงการทหารออนไลน์, การมอบนโยบายการฝึกทหารใหม่ ตลอดจนการกำกับดูแลการฝึกผ่านกลไกศูนย์ติดตามและประเมินผลการฝึกทหารใหม่ (CCIR) รวมถึงมาตรการในการเปิดหน่วยฝึกให้ครอบครัวทหารใหม่ เข้าเยี่ยมชมสภาพความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิดโดยผู้บัญชาการทหารบกได้กำชับให้หน่วยที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลการตรวจเลือกทหารฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 – 12 เม.ย. นี้ ให้เป็นไปตามระเบียบ โปร่งใส และอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้ารับการตรวจเลือกฯ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจได้สมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการ ด้วยการประชาสัมพันธ์ชี้แจงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับให้กับผู้ที่มาตรวจเลือกและครอบครัวรับทราบอย่างทั่วถึง 

@@@……นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารบกยังได้มีความห่วงใยกำลังพลที่ปฏิบัติงานตามแนวชายแดนด้วยความตรากตรำและยากลำบากจึงได้สั่งการให้ดำเนินการปรับปรุงที่มั่นตรวจการณ์และระบบสาธารณูปโภคตลอดจนแจกจ่ายและจัดหาเครื่องมือยุทโธปกรณ์พิเศษให้กับฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ พร้อมเน้นย้ำการปฏิบัติงานของกองกำลังป้องกันชายแดนทุกภารกิจให้ยึดหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง สำหรับด้านสิทธิและสวัสดิการกำลังพล ผู้บัญชาการทหารบกได้รับทราบรายงานจากกรมส่งกำลังบำรุงทหารบกในการเตรียมการเสนอแผนก่อสร้างบ้านพักกำลังพลชั้นผู้น้อยของกองทัพบก ในพื้นที่ มทบ.24 จ.อุดรธานี และในพื้นที่ กทม. ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี รวมถึงติดตามความคืบหน้าโครงการที่อยู่อาศัยธนารักษ์สำหรับข้าราชการและลูกจ้างกองทัพบกในพื้นที่ กทม. ที่ดำเนินการโดยกรมสวัสดิการทหารบก ซึ่งโครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้กำลังพลชั้นผู้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่เหมาะสมและมีที่พักอาศัยอย่างมั่นคงหลังจากเกษียณอายุราชการ โดยกำลังพลกองทัพบกยังสามารถใช้สิทธิ์กู้เงินในการเช่าซื้อผ่านโครงการออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบกหรือ อทบ. ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษได้อีกด้วย 

@@@……กองทัพอากาศ เข้าร่วมการฝึกผสมโคปไทเกอร์ ประจำปี 2567 COPE TIGER 2024 การฝึกผสมโคปไทเกอร์ (Multi-Lateral Exercise Cope Tiger) ถือได้ว่าเป็นการฝึกผสมทางอากาศ ที่มีการสนธิกำลังทางอากาศใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการนำกำลังทางอากาศจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการฝึก มีการพัฒนารูปแบบการฝึกให้เข้ากับสถานการณ์การสู้รบในปัจจุบันให้ทันสมัย โดยมีการสมมติสถานการณ์เสมือนจริง ทั้งด้านการควบคุมและสั่งการ การฝึกยุทธวิธีการรบระหว่างเครื่องบินรบต่างแบบ การฝึกโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายภาคพื้นดินที่มีการต่อต้านจากกอาวุธของหน่วยต่อสู้อากาศยานภาคพื้น การฝึกด้านการข่าวกรองยุทธวิธีโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ และการให้การสนับสนุนของหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ สำหรับวัตถุประสงค์ในการฝึกครั้งนี้ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถใช้อากาศยานแบบผสม และเพิ่มทักษะของผู้เข้าร่วมการฝึก รวมไปถึงการดำเนินกลยุทธ์ โดยเฉพาะการวางแผนทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึกอีกด้วย การฝึกผสมฯ COPE TIGER มีจุดเริ่มต้นในปี พ.ศ.2526 ซึ่งเป็นการฝึกร่วมกับกองทัพอากาศสิงคโปร์ ภายใต้ชื่อรหัสการฝึก ‘AIR THAISING’ โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพมาตลอดการฝึก 

 ………………………………….

 คอลัมน์ : “Military Key”

 โดย.. “รหัสมอร์ส”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img