วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“ตุ๊ด-กะเทย-เกย์” บวชได้หรือไม่!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ตุ๊ด-กะเทย-เกย์” บวชได้หรือไม่!!

หลายปีมานี้ มีคำถามจากสังคมเรื่องหนึ่งที่ว่า ทำไมสังคมสงฆ์ตอนนี้ บรรดาพวกตุ๊ด-กะเทย-เกย์ เข้ามาบวชกันเป็นจำนวนมาก การบวชนี้เป็นไปตามพุทธานุญาตหรือไม่ พระอุปัชฌาย์ยินยอมให้บวชได้อย่างไร จำเป็นหรือไม่ที่คณะสงฆ์โดยเฉพาะ “มหาเถรสมาคม” จะต้องออกระเบียบเรื่องการบวชของคนกลุ่มนี้อย่างชัดเจน ให้เป็นไปตาม “พระวินัย” เพื่อป้องกันความดีงามของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าจำพวก “พระเกย์-ตุ๊ด-กะเทย” เข้ามาสู่ “สังคมสงฆ์” เป็นจำนวนมาก บางรูปมีความประพฤติดี ช่วยกิจการคณะสงฆ์ได้มาก แต่มี “หลายรูป” มีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ ซึ่งล้วนกระทบต่อพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะกลุ่มตุ๊ด “พระหนุ่ม-เณรน้อย” มักแต่งหน้า ทาปาก ชโลมผิวพรรณด้วยน้ำหอมกลิ่นฉุดฉาด

“เปรียญสิบ” เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ไปร่วมกิจกรรมงานใหญ่ที่ “มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งหนึ่ง” กำลังสนทนากับ “พระคุณเจ้าระดับผู้บริหารรูปหนึ่ง” เห็นพระภิกษุ 2 รูปเดินเข้ามาแล้วยกมือไหว้ “ถอนสายบัว” พระคุณเจ้าที่ร่วมสนทนาด้วยรู้สึก “กระดากใจ” พอสมควรว่า วงการคณะสงฆ์ของเราไปไกลแล้ว โดยเฉพาะใน “มหาวิทยาลัยสงฆ์”

แม้แต่ในสังคม “พระระดับผู้ปกครอง” ก็มีหลายรูปที่ได้ยินข่าว “ไม่งาม” ตั้งสายตะวันออก สายต่างประเทศ และรวมถึงสายปกครองทางภาคเหนือ หรือแม้กระทั้งระดับกรรมการ “มหาเถรสมาคมบางรูป” ก็เลี้ยงคนกลุ่มนี้ไว้ “ข้างกาย” ซึ่งก็อาจมีคนถามต่อว่า แล้วใน “มหาเถรสมาคม” มีคนจำพวกนี้ปะปนอยู่ด้วยหรือไม่!!

“เปรียญสิบ” ได้ยินคณะสงฆ์นานาชาติพูดกันบ่อยครั้งว่า ทำไมมหาเถรสมาคมของประเทศไทย จึงปล่อยให้คนจำพวกนี้เข้ามาบวชได้ มีการคัดกรองหรือไม่ แล้วปล่อยให้พระประเภทนี้มีพฤติกรรม “เยี่ยงกายดังสตรี” ได้อย่างไร

“เปรียญสิบ” มิใช่พวกเชี่ยวชาญเรื่องพระวินัย เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องที่กำลังเขียนถึงนี้ ขอยกเอาคำโพสต์ของ “พระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท” พระที่ได้รับการยกย่องจากสื่อมวลชนว่า เสมือน “พระอุบาลี” มาเกิดใหม่ ทั้งที่นิพพานไปแล้ว ได้ตั้งคำถามว่า กะเทย…บวชได้หรือไม่?

ตอบว่า กะเทยที่บวชได้ก็มี บวชไม่ได้ก็มี (คือถึงบวชก็ไม่เป็นอันบวช) โดยกะเทยนั้น ในคัมภีร์ทางศาสนาเรียกว่า บัณเฑาะก์ (ปณฺฑก) ซึ่งแยกบัณเฑาะก์มี 5 จำพวก ได้แก่ หนึ่ง อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ผู้อมองคชาตของชายเหล่าอื่น ถูกน้ำอสุจิหลั่งรด ความกระวนกระวายจึงระงับไปได้[ด้วยการปล่อยน้ำอสุจิแม้ของตน สอง อุสูยบัณเฑาะก์ คือ ผู้เห็นอัชฌาจารของคนเหล่าอื่น เมื่อเกิดความริษยา ความกระวนกระวายย่อมระงับไปด้วยการปล่อยอสุจิ สาม โอปักกมิกบัณเฑาะก์ คือ ผู้ถูกตัดลูกอัณฑะทั้งหลายออกไปแล้ว สี่ ปักขบัณเฑาะก์ คือ ผู้เป็นบัณเฑาะก์เฉพาะตอนข้างแรม เพราะอานุภาพแห่งอกุศลวิบาก แต่ข้างขึ้น ความเร่าร้อนกระวนกระวายย่อมระงับไป และจำพวกที่ ห้า นปุงสกบัณเฑาะก์ คือ ผู้เกิดขึ้นโดยไม่มีภาวรูปตั้งแต่ในปฏิสนธิเลยทีเดียว

ในอรรถกถากุรุนที ท่านแก้ไว้ว่า “ในบัณเฑาะก์ 5 จำพวกนั้น อาสิตตบัณเฑาะก์และอุสูยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามการบรรพชาและอุปสมบท แต่อีก 3 จำพวกนอกนี้ห้าม แม้ในบัณเฑาะก์ 3 จำพวกนั้น สำหรับปักขบัณเฑาะก์ห้ามการบรรพชาใน ปักษ์ที่เขาเป็นบัณเฑาะก์เท่านั้น..”

ด้วยคำนี้ พึงทราบว่า ก็แม้ในปักข์ที่ไม่เป็นบัณเฑาะก์ ก็ได้เพียงแค่บรรพชา จะให้อุปสมบทแม้ในกาลนั้นก็ไม่ควร และเมื่อถึงปักข์ที่เป็นบัณเฑาะก์ ต้องให้สึก และพระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาบัณเฑาะก์ที่ห้ามการบรรพชานั้น จึงตรัสว่า “อนุปสัมบัน ไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้ว พึงให้สึก”

อาสิตตบัณเฑาะก์ อุสูยบัณเฑาะก์ และ ปักขบัณเฑาะก์ ทั้ง 3 จำพวกต่างมีปุริสภาวะ (ภาวะบุรุษ) และลักษณะเหมือนบุรุษ โดยเป็นอเหตุกปฏิสนธิ แต่ที่พลอยถูกเรียกว่า “บัณเฑาะก์” ไปด้วย เพราะพวกเขามีกิเลสกลุ้มรุมมาก เหมือนนปุงสกบัณเฑาะก์

บรรดาบัณเฑาะก์ 3 จำพวกเหล่านั้น อาสิตตบัณเฑาะก์ และ อุสูยบัณเฑาะก์ สามารถอดทนกิเลสที่รุมเร้า ไม่ยอมล่วงละเมิดสิกขาบทได้ โดยอาศัยโยนิโสมนสิการเป็นต้น ดังนั้น จึงทรงอนุญาตให้บรรพชาได้

สำหรับ ปักขบัณเฑาะก์ ในช่วงข้างแรม ย่อมถูกความเร่าร้อนด้วยกิเลสท่วมทับอย่างหนัก เหมือนกับคนบ้า พอล่วงละเมิดเสร็จแล้วเท่านั้น จึงจะบรรเทาความเร่าร้อนลงได้ ดังนั้นในช่วงข้างแรมนั้น พระองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้บรรพชา ส่วน โอปักกมิกบัณเฑาะก์ เป็นสเหตุกปฏิสนธิหรืออเหตุกปฏิสนธิก็ได้ โดยมีคำอธิบายดังต่อไปนี้

“ก็เมื่ออัณฑะทั้งสองยังอยู่ แม้นิมิตจะถูกตัดออกไปแล้ว ก็หาได้เป็นบัณเฑาะก์ไม่ ถึงภิกษุจะเป็นผู้ไม่ได้อาพาธเลย ตัดองคชาตออกไป ก็เป็นเพียงอาบัติถุลลัจจัยเท่านั้น ไม่เป็นบัณเฑาะก์ แต่เมื่ออัณฑะทั้งสองถูกตัดออกไปแล้ว แม้องคชาตก็ไม่เป็นสภาพควรแก่การงานเพราะราคะได้ (คือไม่สามารถจะใช้เสพเมถุนได้อีก) ปุริสภาวะย่อมหายไป ลักษณะของบุรุษมีหนวดเป็นต้นก็ดี การอุปสมบทก็ดี ย่อมหายไป ย่อมมีความเร่าร้อนด้วยกิเลสอันมีกำลังมากจนห้ามการล่วงละเมิดได้ยาก เหมือนนปุงสกบัณเฑาะก์ เพราะเหตุนั้น บุคคลเช่นนี้ แม้เป็นผู้อุปสมบทแล้ว ก็พึงให้สึกเสีย..”

สรุปว่า กะเทยจะบวชได้ คือบวชแล้วสำเร็จเป็นพระหรือไม่ ก็ต้องดูว่าเป็นกะเทยประเภทไหน ถ้าเป็นกะเทยประเภทที่อมองคชาตชายอื่น หรือประเภทที่เมื่อดูคนมีเพศสัมพันธ์กันแล้วเกิดความริษยาแล้วจึงคลายกำหนัด อย่างนี้บวชได้ (คือถ้าบวชก็สำเร็จเป็นพระ) แต่ถ้าเป็นประเภทที่ถูกตัดลูกอัณฑะออกไปเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ประเภทที่ไม่มีภาวรูปก็ดี ประเภทที่เป็นกะเทยตอนข้างแรมก็ดี อย่างนี้บวชไม่ได้ (ถึงอุปัชฌาย์ไม่รู้ ให้บวช การบวชก็ไม่สำเร็จ)

แม้พระบรมศาสนาจะมี “พระเมตตา” เป็นที่ตั้ง แต่พระองค์ก็ทรงวางหลักเกณฑ์รายละเอียด การรับคนประเภทคนเหล่านี้เข้ามาสู่สังคมสงฆ์ ประเภทไหนสมควรบวชได้ บวชไม่ได้ และเมื่อแม้บวชมาแล้วก็ไม่ได้เป็นพระภิกษุ “พึงให้สึกเสีย”

“เปรียญสิบ” ยกตัวอย่างการอธิบายความของ “พระมหาภาคภูมิ สีลานนฺโท” ไว้เพื่อเป็น “สารตั้งต้น” ให้กับคณะสงฆ์ ได้ขบคิดหาแนวทางป้องกัน “สังคมสงฆ์” ส่วนใหญ่ จัดระเบียบคนกลุ่มนี้ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งปัญหาคนกลุ่มนี้นับวัน ยิ่งมีปัญหามาก แต่มันเป็น “มุมมืด” ในวัดในสังคมคณะสงฆ์ และปัญหาเหล่านี้หาก “มหาเถรสมาคม” ไม่ยึด “พระวินัย” เป็นที่ตั้ง ไปให้ความสำคัญกับ “สิทธิในการบวช” ไปให้ความสำคัญกับกฎหมายมากกว่าพระวินัย ปล่อยปะละเลย เป็นสนิมที่เกิดจากเนื้อใน..ระวังจะพังทั้งยวง!!

…………………………………….

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย…“เปรียญสิบ”: riwpaalueng@gmail.com

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img