วันอาทิตย์, พฤษภาคม 5, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา“เศรษฐา”ปัดตกพ.ร.บ.ยุบกอ.รมน. ไม่ลงนามรับรองก.ม.“พรรคก้าวไกล”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา“เศรษฐา”ปัดตกพ.ร.บ.ยุบกอ.รมน. ไม่ลงนามรับรองก.ม.“พรรคก้าวไกล”

ย้อนไปตั้งแต่การจัดตั้งรัฐบาล ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี และนั่งควบรมว.คลัง ซึ่งมี พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำรัฐบาล ใครตามข่าวการเมือง ก็คงรู้ว่า ก่อนที่ฝ่ายบริหารชุดนี้จะจัดตั้งขึ้นได้ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เทคะแนนเสียงให้ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยอย่างท่วมท้น เป็นเพราะมี “บิ๊กดีล” เกิดขึ้น เพื่อต้องการสกัดไม่ให้ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล   

เนื่องจากพรรคก้าวไกลสนับสนุนให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีไว้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสถาบัน อีกทั้งพรรคสีส้มยังสนับสนุนการเคลื่อนไหวม็อบชูสามนิ้ว และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน จึงไม่ใช้เรื่องแปลกที่ท่าทีของ “ผู้นำรัฐบาล” จะให้เกียรติ “ผู้นำกองทัพ” พยายามดึงเหล่าทัพต่างๆ เข้ามาช่วยผลักดันนโยบายรัฐบาล

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ออกมาแถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหมถึงการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบาย 6 ด้านว่า เป็นเจตนาของตน หลังจากที่เข้ามาทำงานประมาณเดือนกว่า นโยบายต่างๆ ก็ได้มอบไปแล้ว ทุกคนก็ขับเคลื่อนไป และก็ทำมาได้ดี

“ถือว่าออกสตาร์ทดี แต่เพื่อเร่งให้แรงไม่ตกปลายไม่แผ่ว ก็เลยตั้งคณะกรรมการชุดนี้ดันต่อ บางนโยบายมีรายละเอียดมาก ต้องตัดสินใจร่วมกันกับหลายหน่วยงาน จึงนำหน่วยงานต่างๆมาอยู่ในคณะนี้คุยครั้งเดียวจบทำเป็น workshop เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และจะสรุปผลงานทุก 6 เดือนโดยรอบนี้ จะแถลงผลงานก่อนสิ้นปี ซึ่งจะมีรูปแบบ  อาจจะเป็นอีเวนท์ สำหรับว่างานนโยบายต่างๆที่มอบหม่ายไปถึงไหน ขณะนี้กำลังคิดรูปแบบอยู่” สุทิน กล่าวและว่า สำหรับหัวหน้าคณะทำงานทั้ง 6 ด้านประกอบด้วย

1.คณะทำงานขับเคลื่อนปรับปรุงโครงสร้างหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ มี “พล.อ.สถิธชนก สังขจันทร์” ปลัดกลาโหม เป็นหน้าคณะทำงาน 

2.คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนา ตรวจเลือกทหารกองประจำการและฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มี “พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์” ผบ.ทบ. เป็นคณะทำงาน

3.คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสวัสดิการและกำลังพล มี “พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี” ผบ.ทสส. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน 

4.คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มี “พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี” ผบ.ทสส. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

5.คณะกรรมการการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม มี “พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์” ผบ.ทบ. เป็นคณะทำงาน

6.คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มี “พล.อ.สถิธชนก สังขจันทร์” ปลัดกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะทำงานส่วนอำนาจหน้าที่ต่างๆ

นั่นหมายความว่า การปรับเปลี่ยนต่างๆ ในกองทัพ จะเป็นไปตามข้อเสนอของคณะทำงาน ซึ่งมีผบ.เหล่าทัพเป็นหัวหน้า ฝ่ายการเมืองไม่ได้เข้าไปล้วงลูกหรือแทรกแซง ซึ่งจะส่งผลทำให้เหล่าทัพต่างๆ ไม่รู้สึกอึดอัด และพร้อมให้การสนับสนุน

อย่าลืมว่า ทีมงานของสุทิน ประกอบด้วย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม และ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม ซึ่งทั้งพล.อ.ณัฐพล และพล.อ.สมศักดิ์ คือ 2 อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในยุคของ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญ ในการร่วมกันแก้ปัญหา การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 31 ต.ค. “เศรษฐา” ได้แถลงภายหลังการประชุมชี้แจงมอบนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ว่าเป็นการประชุมร่วมกับ กอ.รมน. ครั้งแรก ซึ่งหลังจากได้พูดคุยกับกองทัพแล้วอยากเพิ่มบทบาทในหลายมิติ วางรากฐาน สร้างความพร้อมให้กับประเทศไทย เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับประชาชน รวมถึงความมั่นคงในชีวิตนี้ หมายถึงความมั่นคงที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน


โดยประเด็นแรกคือ ต้องช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดภัยพิบัติ ระดมสรรพกำลัง รวมถึงทรัพยากรและเครื่องมือของกองทัพ ร่วมกับส่วนราชการเพื่อช่วยเหลือประชาชน

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ และมองว่ากองทัพมีความปรารถนาดี ซึ่งมีการพูดคุยตั้งแต่วันแรกๆ ที่ตนเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ คือ การแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาที่ดินทำกิน โดยนำที่ดินของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็น มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับประชาชน

โดยเฉพาะที่ดินทำการเกษตร ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อสร้างรายได้ สร้างโอกาสและความเข้มแข็งด้านสังคมของประเทศ พร้อมขอชื่นชมกองทัพได้นำนโยบายการนำที่ดิน ที่ดูแลภายใต้กองทัพมาดำเนินการผ่าน โครงการหนองวัวซอโมเดล มีเนื้อที่ 9,276 ไร่ มีกำหนดส่งมอบให้กับประชาชนในวันที่ 25 ธ.ค.66 นี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่ ให้กับประชาชนจากกองทัพไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนที่ดีที่กองทัพไทย จะได้ร่วมมือในการพัฒนาประเทศและขยายไปในพื้นที่ต่างๆ

นายกฯยังยืนยันว่า การหารือกันวันนี้ ไม่มีเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับการยุบ “กอ.รมน.” เลย ซึ่งได้พูดคุยกับผบ.ทบ. ว่า ที่มาที่ไปเรื่องนี้คืออะไร วันนี้บริบทการทำงานของ กอ.รมน. ก็เริ่มเปลี่ยนไป การคุยกันเป็นเรื่องการพัฒนา และการลดช่องว่างระหว่าง กองทัพ กับ ประชาชนให้ลดน้อยลง เช่น โครงการมอบที่ดินให้กับประชาชนที่หนองวัวซอ ก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นด้วย พร้อมขอให้ดูด้วยว่า การมอบที่ดินไปแล้วหากไม่มีแหล่งน้ำ ก็ต้องดู เรื่องระบบชลประทาน ด้วย เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ อีกทั้งยังมีเรื่องของปัญหาภัยแล้งด้วย

“ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการยุบ กอ.รมน. ไม่ได้อยู่ในความคิดของรัฐบาลนี้ ไม่ได้อยู่ในความตั้งใจ และไม่ได้อยู่ในนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ แม้แต่น้อย” เศรษฐา กล่าว
  

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลเดินเกมล่ารายชื่อประชาชนเสนอร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน.นั้น นายกฯ กล่าวว่า หากฟังที่แถลงวันนี้ หน่วยงานรัฐที่ทำงานรวดเร็ว พูดกันอย่างผู้ใหญ่ๆ ทานข้าวกับผบ.เหล่าทัพ ไปขอไปเรื่องเดียว ขอไปแป๊บเดียว เดือนครึ่งก็ออกมาแล้ว เราพูดด้วยผลงานดีกว่า อย่าไปพูดเรื่องวาทกรรม เรื่องอื่นก็เป็นให้เรื่องของพรรคนั้นๆไป ให้เขาเข้าไปเข็นเข้าสู่สภาเองก็แล้วกัน ทางฝ่ายกองทัพ ฝ่ายหน่วยงานรัฐ และการเมืองที่เกี่ยวข้องเราทำงานอย่างเดียวให้ประชาชนตัดสินใจ

ถ้าย้อนไปในช่วงพรรคก้าวไกลยังจับมือกับเพื่อไทย เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประกอบด้วย 8 พรรคการเมือง ซึ่งมีข้อตกลงร่วม ที่ทั้งสองพรรคเห็นพ้องต้องกันคือ การปฏิรูปกองทัพ  และเสนอให้ ยุบ กอ.รมน. แต่พอเพื่อไทยมาเป็นแกนนำรัฐบาล ก็ก็ไม่ได้นำข้อเสนอดังกล่าวมาสานต่อ แถมยังให้กองทัพเป็นฝ่ายถือธงนำในการปฏิรูปหน่วยงานด้วย  แตกต่างจากพรรคก้าวไกล ที่จะใช้ข้อเสนอของฝ่ายการเมือง เป็นผู้นำในการปฏิรูปกองทัพ

สำหรับ “กอ.รมน.” มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

(2) อำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและ ดำเนินการต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อครม.ให้ความเห็นชอบแล้วให้หน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามแผนและแนวทางนั้น

(3) อำนวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานตาม (2) ในการนี้ครม.จะมอบหมายให้ กอ.รมน. มีอำนาจในการกำกับการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ ตามที่ครม.กำหนดด้วยก็ได้

(4) เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนัก ในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อยของสังคม    

(5) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือตามที่ ครม. สมช. หรือนายกฯมอบหมาย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตามโครงสร้างกอ.รมน. มีนายกฯ เป็น ผอ. รมน. และมี ผบ.ทบ. เป็น รองผอ.รมน. แต่มักมีเสียงวิจารณ์บทบาทอำนาจของกอ.รมน. มีการใช้อำนาจรัฐซ้อนรัฐ อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพ ฝ่ายการเมือง เข้าไปตรวจสอบไม่ได้ โดยเฉพาะในการเข้าไปมีบทบาท ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน “รังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวจับตานโยบาย (Policy Watch) กรณี ข้อเสนอยุบ กอ.รมน. พร้อมข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เปิดทางให้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลได้รับการพิจารณาในสภา โดยกล่าวว่า พรรคก้าวไกลขอยืนยันในข้อเสนอ ว่าด้วยการยุบ กอ.รมน. และความเห็นว่า กอ.รมน. ที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็นองค์กรที่ล้าสมัยและไม่มีความเหมาะสมที่จะต้องมีต่อไป

ดังนั้น การยกเลิก กอ.รมน. ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่ด้านความมั่นคง เพราะความมั่นคงในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากยุคสงครามเย็นมาก มีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่เรื่องของความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร สุขภาพ อาชญากรข้ามชาติ ภัยยาเสพติด เป็นต้น ซึ่ง กอ.รมน. ไม่มีความเหมาะสม ที่จะมาทำหน้าที่รับมือภัยความมั่นคงเหล่านั้น 

รังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กอ.รมน. ยังมีบทบาทในการสร้างความแตกแยกในสังคม ผ่านการสร้างภาพให้คนเห็นต่างทางการเมือง เป็นศัตรูของประเทศ มีการใช้งบประมาณไปในภารกิจเพื่อเป้าหมายในการจัดการผู้เห็นต่างเหล่านั้น ซึ่งผลที่ได้คือความแตกแยกของสังคม ในแง่โครงสร้าง กอ.รมน. เป็นแนวคิดทหารนำการเมือง ผอ.รมน. แม้จะเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้ที่เป็นรอง ผอ.รมน. ก็คือ ผบ.ทบ,. เลขาธิการ กอ.รมน. ก็เป็น เสธ.ทบ. เฉพาะ 2 ตำแหน่งนี้ ถ้าไปดูหนังสือย้อนหลัง ก็จะเห็นว่ามีบทบาทในการลงนามหลายเรื่อง ที่มีลักษณะไปสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด  

“นี่คือโครงสร้างที่ทำให้กองทัพสามารถแทรกซึมไปยังส่วนต่างๆ ของระบบราชการ แล้วเอาวิธีคิดความมั่นคงแบบการทหารเป็นตัวนำ ไปสั่งการระบบราชการได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะทำให้วิธีคิดด้านความมั่นคงจะถูกจำกัดอยู่แต่ในแบบของกองทัพเท่านั้น” รังสิมันต์ กล่าว 

รังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า แม้ครั้งหนึ่งพรรคก้าวไกลจะเคยมีข้อตกลงกับอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่าการยุบ กอ.รมน. จะเป็นหนึ่งในพันธสัญญา ที่รัฐบาลจะต้องทำให้ได้ แต่เสียดายที่วันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯที่ได้เป็น ผอ.รมน. แล้ว กลับไม่สนใจศึกษากรณีการยกเลิก กอ.รมน. ให้รอบด้านอีกต่อไป แต่แม้รัฐบาลจะไม่ให้ความสำคัญแล้ว พรรคก้าวไกลยังคงยืนยัน ที่จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป และจะนำเสนอเข้าสู่สภาให้ได้ ซึ่งในฐานะที่เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงิน จะต้องได้รับการรับรองจากนายกฯถึงจะเข้าสู่สภาได้ พรรคก้าวไกลจึงขอเรียกร้องให้นายกฯรับรองให้สภา ได้มาอภิปรายพูดคุยกัน  

“ถ้ามีเหตุผลในการยืนยันว่า กอ.รมน.ควรคงอยู่ ก็ควรมาคุยในสภาฯ ให้ร่างมีโอกาสเข้าสู่สภาฯ เพื่ออย่างน้อยให้ได้มีการนำเสนอต่อสภาญ ต่อสังคม และต่อประชาชน ให้ได้รับรู้ทั้งแง่มุมที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการมี กอ.รมน. ต่อไป” รังสิมันต์ กล่าว

คงต้องจับตาดูว่า “เศรษฐา” จะลงนามให้การรับรองร่างพ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.ของพรรคก้าวไกลให้เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯหรือไม่ หลังเคยให้สัมภาษณ์ระบุว่า ให้เขาไปเข็นเข้าสู่สภาฯเองก็แล้วกัน”  

ซึ่งอาจตีความได้ว่า ให้พรรคก้าวไกลหาช่องทางผลักดัน กฎหมายเข้าสู่สภาฯเอง โดยนายกฯจะไม่ลงนามรับรอง

นั่นหมายความว่า ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลคงต้องแท้งอีก 1 ฉบับ หลังจากก่อนหน้านี้ หลายญัตติต้องถูกคว่ำ โดยเสียงข้างมาก

เมื่อถึงวันนั้นสัมพันธ์ของ “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคก้าวไกล” แกนนำพรรคฝ่ายค้าน คงยากจะบรรจบกันได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว

………………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย….“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img