วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSดัน“พ.ร.บ.เงินกู้5แสนล้าน”ปิดช่องโหว่ หวังใช้“กลไกรัฐสภา”ฟอกขาว“ปมร้อน”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ดัน“พ.ร.บ.เงินกู้5แสนล้าน”ปิดช่องโหว่ หวังใช้“กลไกรัฐสภา”ฟอกขาว“ปมร้อน”

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง รวมทั้ง พรรคเพื่อไทย (พท.) คงนึกไม่ถึงนโยบายที่เปรียบเสมือนเป็น “ธงนำ” พรรคแกนนำรัฐบาล ที่หวังจะมาผลักดันให้ได้คะแนนนิยม เพื่อนำมาใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะกลายเป็น “เป้า” ถูกถล่มจากฝ่ายต่างๆ ได้มากถึงเพียงนี้

ไม่ต้องพูดถึงท่าทีพรรคฝ่ายค้าน ทั้ง “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) และ “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) ซึ่งต่างก็ต้องค้นหา “จุดอ่อน” มาโจมตีฝ่ายบริหาร เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองคู่แข่งได้คะแนนนิยม แต่ “เพื่อไทย” ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ก็สร้างข้อสงสัย ให้กับสังคมไว้มากมายจริงๆ ทั้งเหตุผลในการแจกเงิน รูปแบบในการแจก ซึ่งในที่สุดหลังมีเสียงวิจารณ์มีข้อท้วงติง รัฐบาลก็ต้องยอมทำผิดเงื่อนไข ที่ได้ใช้หาเสียงไว้ ที่สำคัญการประกาศออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เคยประกาศจะไม่ใช้เงินกู้ ซึ่งขัดกับคำชี้แจงที่แจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. “เศรษฐา” ได้ออกมาแถลงถึงรายละเอียดและเงื่อนไข ของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท โดยสรุปว่า จะให้คนมีอายุ 16 ปีขึ้นไปเหมือนเดิม แต่เพิ่มหลักเกณฑ์ใหม่เข้ามาคือ ต้องรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน มีเงินฝากต่ำกว่า 500,000 บาท และขยายจากให้ใช้ภายในไม่เกินรัศมี 4 กิโลเมตรตามภูมิลำเนาในบัตรประชาชน เป็นภายในอำเภอ

ส่วน เงื่อนไขในการใช้ นั้น ประชาชนจะสามารถจะใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับบริการได้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม

ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้ ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอมได้ ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้

ก่อนหน้านั้น ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และช่วงแรกของการเป็นรัฐบาล นายกฯประกาศไว้ว่า คนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี จะได้ดิจิทัลวอลเล็ตทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน มีเงินเดือนเท่าไหร่ มีเงินฝากหรือไม่มีเงินฝากในธนาคารก็ได้หมด และจะให้ใช้ภายในรัศมีไม่เกิน 4 กิโลเมตร และให้ใช้ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

โดยการขับเคลื่อนนโยบายจะใช้ บล็อกเชน ไม่ใช่แอปพลิเคชัน เป๋าตัง พร้อมทั้งยืนยันหลายครั้ง เงินจะได้แน่ 1 ก.พ.2567 พร้อมกับแสดงความมั่นใจ จะสามารถหาแหล่งเงินงบประมาณมาทำนโยบายดังกล่าวได้ 560,000 ล้านบาท โดยจะไม่มีการกู้เงินมาทำ

แต่ก็มาเปลี่ยนให้เริ่มใช้ได้ในเดือนพ.ค.2567 โดยใช้ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากมีข่าวจะคิดค้นระบบใหม่ขึ้นมา เพื่อรองรับการแจกเงิน 10,000 บาท จนถูกวิจารณ์ว่า อาจมีใครเข้าไปหาผลประโยชน์ จากการทำระบบนี้ เพื่อรองรับโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท จนในที่สุดรัฐบาลก็ต้องหันมาใช้ ไปใช้บริการแอปพลิเคชันเดิม นอกจากนี้ ที่เคยให้ใช้ภายในไม่เกิน 6 เดือน ก็สิ้นสุดโครงการ ก็เปลี่ยนเป็นโครงการสิ้นสุดในเดือนเม.ย.2570 แต่ต้องใช้เงินครั้งแรกหลังได้สิทธิ์ใน 6 เดือน

หลังจากโครงการถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีเสียงวิจารณ์และตั้งคำถามตามมาทันที “ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล” สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า การออกพ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีท่าว่าจะผิดกฎหมายของมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ทางเพื่อไทยและรัฐบาล ทำไมถึงคิดจะเดินหน้าทำต่อ มีเหตุผลอะไร ทุกวันนี้ยังไม่ได้รับเหตุผลใดๆ กลับคืนมา เป็นแค่การขุดอดีต เพื่อสร้างความชอบธรรมบางอย่างว่า ตนเคยเห็นด้วย อยากให้ไล่เรียงมา ก็ไม่เคยซักค้าน เพียงแต่ถามถึงแหล่งที่มาเท่านั้นเอง ดังนั้นขอให้รัฐบาลช่วยตอบให้ตรงประเด็น

“ศิริกัญญา” กล่าวอีกว่า เรื่องนี้จะไม่ผิดกฎหมายได้อย่างไร ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่บอกหรือไม่ ว่าไม่ผิดกฎหมาย ทั้งหมดเป็นเรื่องง่ายๆ หากเปิดเผยรายงานการประชุมในชั้นอนุกรรมการ และกรรมการชุดใหญ่โครงการแจกเงินดิจิทัลฯมาว่าถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรก็จบสิ้นแล้ว

“ดิฉันกลายเป็นคนหน้าแตกไปแล้ว แต่จนขนาดนี้ยังไม่มีคำตอบใดๆ และวันนี้นายกฯอ้างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้เสนอให้ออกเงินกู้ด้วย ก็ต้องดูรายงานของคณะกรรมการชุดใหญ่ และต้องดูมติด้วยว่าลงคะแนนเสียงกันอย่างไร ถึงให้ออกพ.ร.บ.เงินกู้ เชื่อมั่นว่าธปท.ไม่น่าจะเสนอแนวนี้เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาก็ออกมาคัดค้านโดยตลอด” ศิริกัญญา กล่าว

ศิริกัญญา ตันสกุล

ขณะที่ “นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช” เลขาธิการนายกฯ กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อมาใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ระหว่างการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ผ่านมาว่า เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่า ไม่เห็นด้วย แล้วขอให้บันทึกการประชุม แต่พูดตอนท้ายการประชุมว่า มีหน้าที่ดูแลทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และปกป้องทุกคนในที่ประชุม โดยจะนำเรื่องไปหารือในคณะกรรมการกฤษฎีกา

“ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เราต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ส่วนเรื่องการกู้เงินนั้น นายกฯได้หารือผู้ว่าฯธปท. และผู้ว่าฯธปท.ให้ข้อคิดว่าเพื่อให้ถูกต้องตามพ.ร.บ.เงินตรา ต้องมีเงินมาสำรองโครงการ เราเลยแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมาวางไว้ให้เห็น แล้วเราค่อยๆ ใช้ และจากการที่นายกฯหารือกับผู้ว่าฯธปท.ก็ยังมีข้อเสนอเห็นด้วยกับการขอกู้ เพราะสะอาดดี โดยการขอกู้นั้นต้องดูว่ากฎหมายให้ช่องทางอะไรไว้บ้าง ที่สุดแล้วเราคิดว่าวิธีการนี้เหมาะสมที่สุด” เลขาธิการนายกฯระบุ

นั่นหมายความว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องไปหารือถึงแนวทางการผลักดันโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ เพื่อให้เป็นไปอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งต้องติดตามดู ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาล จะมีข้อเสนออย่างไร ทั้งรูปแบบและรายละเอียดของโครงการ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในอนาคต

คำนูณ สิทธิสมาน

ส่วน “คำนูณ สิทธิสมาน” สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับพ.ร.บ.กู้เงินแจกเงินดิจิทัล 10000 ‘กู้มาแจก’ ขัดกม.หรือไม่? โดยระบุว่า “การตราพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านมาแจกคนละหมื่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ผมเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 140 หากพ.ร.บ.นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 53 ประเด็นคือการตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 ของกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่ทำได้ทุกกรณี แต่มีเงื่อนไขกำกับไว้ให้ทำได้เฉพาะกรณีเท่านั้น”

“เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน”

ขอแตกออกเป็น 4 ประการ เร่งด่วน ต่อเนื่อง แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน ต้องบอกด้วยความเคารพว่า แทบจะไม่เข้าสักประการ จากนี้ไปก็รอความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

นอกจากต้องรอความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ความเคลื่อนไหวของ 2 องค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญ ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช. ) ก็รุกเข้ามาตรวจสอบ โครงการแจกเงินดิจิทัลฯ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และข้อเรียกร้องให้เข้าไปตรวจสอบว่า ดำเนินการถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่

“ประจักษ์ บุญยัง” ผู้ว่าการสตง. ได้ตั้ง คณะทำงานเพื่อหน้าที่ศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวของสตง. ได้มีการศึกษากรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดเตรียมความพร้อมของข้อมูล แต่ยังไม่ได้มีการเข้าไปทำอะไรได้ เพราะต้องรอให้รัฐบาล ประกาศความชัดเจน ในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตออกมาก่อน

โดยเฉพาะความชัดเจนเรื่อง แหล่งที่มาของเงิน และ กระบวนการทำนโยบาย แต่ที่ผ่านมา คณะทำงานชุดดังกล่าว ได้มีการติดตามข้อมูลโครงการดังกล่าวของรัฐบาล มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการประสานที่ปรึกษาจากภายนอก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อขอให้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องดิจิทัล วอลเล็ตด้วย

เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. มีการตั้ง คณะกรรมการเพื่อศึกษา และรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต โดยมี “สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการป.ป.ช.เป็นประธานกรรมการ

อีกทั้ง นักร้องขาประจำ ก็ไปยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระได้ตรวจสอบ เช่น “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรัฐบาลตราพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ประกอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2560 มาตรา 53 หรือไม่

โดย “ปิยะ ลือเดชกุล” ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องร้องเรียนไว้ พร้อมทั้งกล่าวว่า ขณะนี้มีคำร้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ผู้ตรวจฯ 5 เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้ตรวจฯ เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน ก็ต้องเร่งรัดการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้เร็วที่สุด แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า จะใช้เวลานานเท่าไหร่.

อย่างไรก็ตาม “พิชิต ชื่นบาน” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เขียนบทความกรณีที่มีการวิจารณ์ถึงการออกพ.ร.บ. เงินกู้ เพื่อใช้ในนโยบายแจกเงินดิจิทัลฯ ขัดต่อพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติ จะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น โดยยืนยันว่า รัฐบาลสามารถ ตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินได้ ซึ่งรัฐบาลเลือกกู้เงินโดยออกเป็นพ.ร.บ.แทนที่จะออกเป็นพ.ร.ก.นั้น มีเจตนาที่จะให้ผ่านการตรวจสอบ ถ่วงดุลตามกลไกของรัฐสภา

และเปิดโอกาสให้เสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบร่างพ.ร.บ.เงินกู้ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย เพื่อให้นโยบายนี้ได้กระทำบนพื้นฐานโดยสุจริต และมิได้ใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีเจตนาซ่อนเร้น หรือแอบแฝงเพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์แต่ประการใด

สอดคล้องกับ ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ออกมาระบุว่า พรรคเพื่อไทยได้แจ้งว่า รายละเอียดของพ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ที่จะนำเสนอเข้าสภาฯ จะบอกถึงเหตุผลและความจำเป็น และจะชี้แจงข้อสงสัยและข้อครหาต่างๆ ทั้งหมดได้แน่นอน

ดังนั้นคงต้องรอดู “รัฐบาลเศรษฐา” จะสามารถฝ่าวิกฤติ ผลักดันโครงการแจกเงินผ่านดิจิทัลฯออกมา ให้มีผลบังคับได้หรือไม่ โดยเฉพาะปมร้อนที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงอนาคตของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ที่หวังจะใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า

………………………………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย “แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img