วันพุธ, พฤษภาคม 1, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS“พิธา”คืนสภา-ลุย“สร้างกระแส”ฝ่ามรสุม! หวังนำ“ก้าวไกล”ยึด“อำนาจรัฐ”เบ็ดเสร็จ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พิธา”คืนสภา-ลุย“สร้างกระแส”ฝ่ามรสุม! หวังนำ“ก้าวไกล”ยึด“อำนาจรัฐ”เบ็ดเสร็จ

ถ้าไม่มีข่าวใหญ่  เจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลัง กับหลายหน่วยงานตามรวบ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน   และพวก ข่มขู่เรียกรับเงินจาก “นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ “ อธิบดีกรมการข้าว แลกกับการยุติเรื่องร้องเรียน  เชื่อว่า การแถลงข่าวของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ที่แถลง แผนทำงานพรรคก้่าวไกล ปี 2567 หรือ MFP’s Strategic Roadmap ต้องถือเป็นข่าวระดับพาดหัวแน่ๆ

ในแง่ทางการเมือง ก็ถือเป็นข่าวใหญ่อยู่ดี เพราะตามดูความนิยมต่อตัวบุคคล และพรรคต้นสังกัก ซึ่งผลสำรวจ “นิด้าโพล” ก็ยังมาเป็นอันดับ 1 อยู่ดี อีกทั้งยังมีสส.มากที่สุดในสภาฯ ดังนั้นความเคลื่อนไหวของ “พิธา” จึงยังอยู่ในสายตาของประชาชนและกองเชียร์  

สิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำความนิยมของเครื่องจักรสีส้ม เมื่อวันที่ 25ม.ค.67 เฟซบุ๊กแฟนเพจ “กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง” โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรายละเอียดการจัดเงินอุดหนุนกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง โดยคำนวณจาก 1.) เงินบริจาคภาษีเงินได้บุคคลประจำปีที่ประชาชนกรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 2.) ค่าบำรุงพรรคการเมืองที่ได้รับจัดสรรในปี 2567 3.) คะแนนเสียงเลือกตั้ง สส.ในปี 2566 และ 4.) จำนวนสาขาพรรคการเมือง ปี 2565

พรรคก้าวไกลได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 30,145,874.86 บาทในปี 2566 พรรคก้าวไกลได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 47,454,254.82 บาท โดยล่าสุด ปี 2567 พรรคก้าวไกลได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 เป็นเงิน 52,491,850.67 บาท

ส่วนหนึ่งที่กระแสความนิยมยังคงอยู่ อาจเป็นเพราะ บรรดากองเชียร์รู้สึกเห็นใจ เพราะแม้จะได้เสียงมากที่สุดในสภาฯ แต่กลับต้องมาอยู่ตกในสภาพเป็น แกนนำพรรคฝ่ายค้าน บรรดาเพื่อนต่างพรรค ต่างหันหลังไปจับมือกับพรรคต่างขั้ว ในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ “พรรคสีส้ม” กลายเป็นสภาพเป็น “เทวดาตกสวรรค์” ต้องมารับทำหน้าที่ในการตรวจสอบ แม้ว่าในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 บรรดา สส.พรรคก้าวไกล จะทำหน้าที่ได้ดี แต่คงไม่มีใครอยากเล่นบทฝ่ายค้านตลอดไป

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าการทำงานขอพรรคก้าวไกลจะมีการวางแผนงาน เตรียมปรับรูปแบบ เพื่อหวังสร้างคะแนนนิยมให้มากที่สุด เพราะคอการเมืองคาดว่า ถ้าพรรคสีส้มจะได้เป็นแกนนำรัฐบาล ต้องได้เสียงสส.เกินครึ่ง (250 สส.) เท่านั้น  เนื่องจากแนวทางและนโยบายของพรรคการเมืองนี้ ทำให้บรรดาผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และกลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เห็นด้วย และอีกหลายเรื่องที่เปรียบเสมือน พลิกรูปแบบในการบริหารประเทศ ทั้งเรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสถาบัน และการปฏิรูปกองทัพ ทำให้พรรคก้าวไกลต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

ขณะที่ “พิธา” แถลงถึงแผนทำงานพรรค้าวไกล ปี 2567 ระบุว่า มีเป้าหมายสำคัญ 6 เป้าหมาย ได้แก่

1.การทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ผ่านการปฏิรูปทหาร การแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.)

2.การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ผ่านการยกระดับสวัสดิการ และขนส่งสาธารณะ 

3.การหยุดแช่แข็งชนบทไทย ผ่านการสนับสนุนทางการเกษตร

4.การปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ ผ่านการกระจายอำนาจ

5.ปฏิรูประบบราชการ การเรียนรู้ทันโลก ผ่านการตัดอำนาจนิยมในสถานศึกษา

6.เสริมสร้างทักษะผู้เรียน และการเติบโตแบบมีคุณภาพ ผ่านการสร้างงาน และสนับสนุน SMEs  

ทั้งนี้ วิธีการดำเนินการสู่เป้าหมายนั้น จะดำเนินการผ่านการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค และเสนอร่างกฎหมายเพิ่มเติม รวมจำนวนทั้งสิ้น 47 ฉบับ สนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอกับการดำเนินงาน และกำหนดแผนปฏิบัติการ รวมถึงพิจารณาความพร้อมของบุคลากร เพื่อให้เป้าหมายสัมฤทธิ์ผล  

ส่วนการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคนั้น ขณะนี้มีร่างกฎหมายของพรรค ที่สภาฯกำลังพิจารณา ทั้งการสมรสเท่าเทียม การแก้ปัญหาฝุ่นพิษ และกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ ครม.ขอนำไปพิจารณา 60 วัน ส่วนร่างกฎหมายที่บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมแล้ว และรอการพิจารณาจำนวน 17 ฉบับ อาทิ ร่างแก้ไขรธน. กฎหมายโคนม และผลิตภัณฑ์นม กฎหมายรับรองเพศ และคำนำหน้านามบุคคล และร่างกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เป็นต้น

และยังมี ร่างข้อบังคับ 1 ฉบับที่ถูกสภาฯปัดตกไปแล้ว ได้แก่ ร่างข้อบังคับการประชุมสภาก้าวหน้า นอกจากนั้นยังมีร่างกฎหมายที่รอนายกรัฐมนตรีรับรอง ร่างกฎหมายที่กำหลังรับฟังความเห็นอยู่ โดยยืนยันว่า นโยบายการสมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้าการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นโฉนด และการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ เป็นนโยบายเรือธงของพรรคก้าวไกล ที่จะเสนอเป็นร่างกฎหมาย เพื่อให้เป้าหมายประสบความสำเร็จ 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ส่วนหมุดหมายสำคัญของการทำงานในปี 2567 นั้น “พิธา” กล่าวว่า จะมีการกำหนด KPI และตัวชี้วัด เพื่อประเมินประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ในสัดส่วนของพรรค และสส.ของพรรค ในช่วงเดือนก.พ. จากนั้นในเดือนเม.ย. พรรคจะพิจารณาในการเปิดอภิปรายรัฐบาลว่า จะเป็นในรูปแบบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรืออภิปรายทั่วไป ก่อนจะมีการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนเดียวกัน เพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างองค์กร จากนั้นในช่วงกลางปีจะมีการเตรียมการเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 2568 และปลายปี 2567 นี้ พรรคจะพิจารณาการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเชื่อว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป น่าจะพอเห็นภาพ  

ส่วนหัวข้อในการอภิปราย “พิธา” กล่าวว่า เน้นไปที่ 3 หัวข้อใหญ่คือ 1.ความล้มเหลวในการบริหาร 2.การประพฤติมิชอบ คอรัปชั่น และ 3.การทำงานช้า น้อย หรือสายเกินไป ไม่ตรงกับความท้าทายของศักยภาพประเทศ ตอนนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้พูด แต่ทีมงานหลังบ้านกำลังทำข้อมูล เพิ่มขึ้นทุกอาทิตย์ ในส่วน กมธ.ก็สามารถเรียกข้อมูลเพิ่มเติมได้ “สัญญากับพี่น้องประชาชน ว่าจะไม่ทำให้ผิดหวัง” 

ในขณะที่ปมร้อน เกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล จะยังผลักดันอยู่อีกหรือไม่ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า คงต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน 

ส่วนกระบวนการตรวจสอบของพรรค หลายฝ่ายมองว่าอ่อนแอ หลังพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องของ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ “พิธา” กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เราทำงานตรงไปตรงมา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ได้ตั้งกระทู้ถามในสภาฯ ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่เรื่องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องความสะใจ แต่ระบบที่ควรมีความเสมอภาคกัน

“ต้องยอมรับว่า นายทักษิณโดนกลั่นแกล้งทางการเมืองแบบ 2 มาตรฐานเช่นกัน ไม่ได้หมายความว่า 2 มาตรฐานที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ จะไปล้มล้าง 2 มาตรฐานในอดีต ไม่ควรเกิดขึ้น ควรเป็นมาตรฐานเดียวทั้งก่อนและหลัง อย่างไรเราติดตามตลอด จะใช้กลไกทั้งในและนอกสภาฯ ติดตามเรื่องนี้” พิธา กล่าว 

การแถลงข่าวของ “พิธา” เกิดขึ้น ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพ สส. ตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) กรณีการถือหุ้นสื่อไอทีวี ด้วยมติของตุลาการศาลรธน. 8:1 เสียง อย่างไรก็ตาม วันที่ 31 ม.ค. “พิธาและพรรคก้าวไกล” ยังต้องมาลุ้นในคำร้อง ที่ระบุว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112  ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ แต่คำร้องของผู้ร้องไม่ได้เสนอให้ยุบพรรค 

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครอง เชื่อว่า น่าจะเป็นสารตั้งต้น ให้มีคนนำเรื่องไปร้อง เพื่อขยายผลต่อไปแน่ๆ

อย่างไรก็ตาม “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ไม่เห็นด้วยกับการแถลงการณ์แผนการพรรคก้าวไกลในปี 2567 โดยระบุว่า “ผมเข้าใจดีว่า ทีมงานของพรรคต้องการจัดแถลงการณ์นี้ขึ้นมา เพื่อต้อนรับการกลับมาของ “พิธา” แต่เมื่อผมเห็นเนื้อหาทั้งหมดแล้ว ผมเห็นว่า… ผิดพลาด โดยเฉพาะ แผนเสนอร่าง พ.ร.บ.47 ฉบับ โดยไม่มีร่างแก้ไข 112”

ปิยบุตร แสงกนกกุล

ทั้งยังระบุว่า กรณีนี้ ส่งผลอย่างไร 1.ย้ำความคิดว่า เราต้องยอมรับให้อำนาจศาลรธน.ขึ้นมาอยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ การเสนอร่างกฎหมาย ต้องฟังว่าศาลรัฐธรรมนูญว่าอย่างไร 2.การไม่เสนอ และพูดว่าไม่เสนอ เพราะรอศาลรธน. เสมือนกับส่งสัญญาณ “หมอบ” ก่อนคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค.นี้ 3.หากพรรคก้าวไกลคิดแบบเฉลียวเจ้าเล่ห์ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องแถลงในวันนี้ อดใจรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 31 ม.ค.นี้ก่อนก็ได้ เผื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะหาทางลงให้พรรคก้าวไกล ด้วยการตีกรอบการแก้มาตรา 112 ไว้ ต่อไป พรรคก้าวไกลก็พูดตอบประชาชนโหวตเตอร์ได้ว่า แก้มาตรา 112 ไม่ได้ เพราะแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญบอกไว้

“ผมไม่ได้ไร้เดียงสา ถึงขนาดว่าจะต้องแก้ 112 ให้ได้ จะต้องทำเรื่องนี้อย่างเดียว โดยไม่ต้องทำเรื่องอื่น ผมตระหนักดีถึงการรุก รอ ถอย แต่ผมเห็นว่า การเคลื่อนตลอดสัปดาห์นี้ไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค. ที่ศาลจะตัดสิน ที่ทำๆ กันนั้น ไม่ได้คิดประเมิน รุก ถอย บริหารจัดการความคาดหวังคนเลือก แต่มุ่งไปในทิศทาง “หมอบ” เสียมากกว่า ด้วยคิดว่าจะช่วยทำให้รักษาพรรคได้ แล้วพอเป็นแบบนี้ ก็เข้าทางฝ่ายตรงข้ามที่เขารอ “เอาคืน” จากการที่พวกเขาถูกหาว่าตระบัดสัตย์” ปิยบุตร ระบุ

อย่างไรก็ตาม การที่ “พิธา” ไม่กล้าตอบถึงแนวทางการขับเคลื่อนไหว ถึงการแก้ไขกฎหมายอาญาตรา 112 อาจไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็น หลังกลับเข้ามาทำงานในสภาฯเป็นวันแรก จากการที่ต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ไป เป็นเวลากว่า 6 เดือน อีกทั้งมาตราดังกล่าวยังถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากชี้แจงอะไรไป  และถูกตีความว่าต้องการผลักดันแก้ไขเรื่องนี้ จะกลายเป็นประเด็นร้อน ทำให้พรรคก้าวไกลถูกต่อต้านจากคนบางกลุ่ม หลังต้องตกอยู่ในสถานะพรรคฝ่ายค้าน เมื่อไม่มีพรรคการเมืองไหนยอมจับมือจัดตั้งรัฐบาลด้วย เพราะมีแนวทางแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

แต่การออกมาแถลงแผนการทำงานของพรรค ทั้งที่ “พิธา” ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค พอจะคาดหมายได้ว่า ในการประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลในเดือนเม.ย.67 “พิธา” คงหวนกลับมารับหน้าที่หัวหน้าพรรคอีกแน่ เพราะ “ชัยธวัช” ผู้นำพรรคคนปัจจุบัน เหมาะทำงานอยู่เบื้องหลังและเป็นฝ่ายวางแผนมากกว่า ส่วน “พิธา” มีความเหมาะสมในการรับบท “แม่ทัพ” อีกทั้งยังเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยสร้างความนิยมให้พรรคได้เป็นอย่างดี

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น คงต้องมารอลุ้นว่า จะผ่านวิบากกรรมเกี่ยวนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค.หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะต้องเผชิญอุปสรรคและขวากหนามมากขนาดไหน  บรรดาด้อมส้มและกองเชียร์ คงยังพร้อมเป็นกองหนุนเครื่องจักรสีส้ม เพื่อผลักดัน “พิธา” ให้มีโอกาสก้าวขึ้นไปรับตำแหน่งนายกฯ แม้ต้องเผชิญแรงกดดันและอุปสรรคมากแค่ไหนก็ตาม

…………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img