วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 2, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSฝ่าวิบากกรรม...“ยุบพรรค-ถูกตัดสิทธิ์” ตามลุ้น“พิธา-ก้าวไกล”รอดหรือร่วง?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ฝ่าวิบากกรรม…“ยุบพรรค-ถูกตัดสิทธิ์” ตามลุ้น“พิธา-ก้าวไกล”รอดหรือร่วง?

เพิ่งได้รับข่าวดีเพียงไม่กี่วัน หลังศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ลงมติด้วยคะแนน 8:1 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพสส.ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ จากกรณีถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ อยู่ในวันสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ 4 เม.ย.66

อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมูญเห็นว่า ไอทีวีไม่มีคลื่นความถี่ ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ และยังไม่มีแผนจะกลับมาทำสื่อ ณ วันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง สส. บริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ การถือหุ้นไอทีวีของผู้ถูกร้อง จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) สมาชิกภาพของ สส. ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ

แต่พอมาถึงวันที่ 31 ม.ค. “พิธา” และพรรคต้นสังกัด ก็ได้รับข่าวร้าย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของ “พิธา” ขณะเป็นหัวหน้าพรรค และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

และสั่งการให้ เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก ป.อาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

ซึ่งวิบากกรรมของพรรคสีส้มไม่จบแค่นี้ เพราะต่อมาบรรดานักร้อง ก็นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปขยายผล ทั้งร้องต่อ “กกต.” เพื่อให้วินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวของพรรคก้าวไกล เข้าข่ายถูกยุบพรรคหรือไม่ รวมทั้งนำเรื่องไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบว่า การกระทำของ 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่ยื่นเรื่องแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งบทลงโทษถึงขั้นตัดสิทธิ์ทางตลอดชีวิต

โดย “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร) และ “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การยื่นแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 กระทำโดยถูกต้องหรือไม่ ได้ไปยื่นเรื่องให้ “กกต.” ยุบพรรคก้าวไกล และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยระบุว่า ในฐานะผู้ร้องให้ตรวจสอบเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ก็เห็นว่าต้องทำภารกิจให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์

นอกจากนี้ “ธีรยุทธ” และ “สนธิญา สวัสดี” อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมายฯ ยื่นคำร้องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบจริยธรรม สส. 44 คน ของพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไข กฎหมายอาญา มาตรา 112 และหวังให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

อีกทั้งยังมี “มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ (ทศล.) ก็ไปยื่นหนังสือถึง “ผบ.ตร.” เพื่อขอให้นำคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณี “พิธาและพรรคก้าวไกล” ล้มล้างการปครอง อาจเข้าข่ายฐานความผิดข้อหาเป็นกบฏตาม ป.อาญา ม.113 (1)

เรียกว่า กระบวนเคลื่อนไหวให้ตรวจสอบ ถือว่าหนักหนาสาหัส และคาดเดาไม่ได้จริงๆ ว่าบทสรุปสุดท้ายจะจบอย่างไร แต่น้ำหนักส่วนใหญ่ออกไปในทางลบ มากกว่าบวก เนื่องจากมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสารตั้งต้น

อย่าลืมว่า ป.ป.ช.เคยมีมติว่า “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ และศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ “ปารีณา ไกรคุปต์” ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.โดยมิชอบ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” รุกป่าเขาใหญ่, “ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์” เสียบบัตรแทนกัน

สำหรับรายชื่อ 44 สส.ประกอบไปด้วย 1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ 2.พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ 3.ธีรัจชัย พันธุมาศ สส.บัญชีรายชื่อ 4.ญาณธิชา บัวเผื่อน สส.จันทบุรี 5.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ, 6.กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี สส.บัญชีรายชื่อ 7.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ 8.พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ 9.นิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ 10.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. 11.ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม.

12.ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ 13.ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก 14.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สส.บัญชีรายชื่อ 15.ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สส.บัญชีรายชื่อ 16.ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ 17.ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ 18.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.กทม. 19.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อ 20.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา สส.นครปฐม 21.วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ 22.คำพอง เทพาคำ สส.บัญชีรายชื่อ

23.สมเกียรติ ถนอมสินธุ์ สส.กทม. 24.ทองแดง เบ็ญจะปัก สส.สมุทรสาคร 25.จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา 26.จรัส คุ้มไข่น้ำ สส.ชลบุรี 27.สุเทพ อู่อ้น สส.บัญชีรายชื่อ 28.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ 29.อภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ 30.องค์การ ชัยบุตร สส.บัญชีรายชื่อ 31.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ สส.บัญชีรายชื่อ 32.ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ สส.บัญชีรายชื่อ 33.ศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด

34.มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ 35.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ 36.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ 37.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ 38.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ 39.ทวีศักดิ์ ทักษิณ สส.บัญชีรายชื่อ 40.สมชาย ฝั่งชลจิตร สส.บัญชีรายชื่อ 41.สมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล สส.บัญชีรายชื่อ 42.วุฒินันท์ บุญชู สส.สมุทรปราการ 43.รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ และ 44.สุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อ

โดยแกนนำคนสำคัญของพรรค ที่มีอาจมีปัญหาในด้านกฎหมาย หากผลการวินิจฉัยของป.ป.ช. ออกมาในทางลบ เช่น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-ธีรัจชัย พันธุมาศ-ศิริกัญญา ตันสกุล-วิโรจน์ ลักขณาอดิศร-เบญจา แสงจันทร์-รังสิมันต์ โรม” ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร และช่วยสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคมาตลอด ซึ่งหากบุคคลเหล่านี้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เท่ากับว่า พรรคก้าวไกลจะถูกลดทอนพลังไปพอสมควร แม้ว่ากระบวนการสร้างบุคลากรของพรรคสีส้ม จะสามารถสร้างสร้างนักการเมืองให้มีคุณภาพ แต่ก็อาจไม่เทียบเท่า แกนนำคนสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่โชว์ผลงานในช่วงที่ผ่านมา

ชัยธวัช  ตุลาธน

ขณะที่ท่าทีของแกนนำพรรคก้าวไกล “ชัยธวัช ตุลาธน” ในฐานะ ผู้นำพรรค ได้ปราศรัยตอนหนึ่งระหว่างเดินทางลงลงพื้นที่พบปะประชาชน พร้อมทั้งเช็คความพร้อมเลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่หมู่บ้านหลังโรงแรมจินเฮง ต.จันดี อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช

โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นเพราะ พื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลง ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะที่พื้นที่ทางการเมืองแบบเก่าของผู้มีอำนาจ มันหดแคบลงเรื่อยๆ จนเขาต้องออกคำวินิจฉัยเพื่อสร้างกำแพง เพื่อจะสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากนี้ เราต้องรวมตัวกันประกาศว่า เราไม่กลัวกำแพงนี้ และเราจะทำลายข้ามกำแพงนี้ไปด้วยกัน

“สถานการณ์ทำนองนี้ ปลายปี 2562-2563 เราเคยเจอมาแล้ว กับพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกยุบ สมาชิกพรรครู้สึกสิ้นหวังมืดมน วันนี้ข่าวตีบอกว่า ก้าวไกลจะถูกยุบ มีแต่คนบอกว่า ถ้ายิ่งยุบคราวหน้าก้าวไกลหรือชื่ออะไรไม่รู้ แม่ง แลนด์สไลด์แน่นอน นี่คือสถานการณ์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหวั่นไหว มีแต่พวกเขาที่ต้องกลัวพวกเรา กลัวกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น”

แม้ว่ามีท่าทีแข็งกร้าว และเชื่อว่า หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาใหม่ จะคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เกี่ยวกับการการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล หลังจากนั้น บนเว็บไซต์พรรค ที่มีข้อมูล ‘เลือกตั้ง 66’ ของพรรคก้าวไกว นโยบาย ‘แก้ไข มาตรา 112’ ซึ่งเคยปรากฏอยู่ในลิงก์ ได้หายไป และไม่ปรากฏข้อความอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไข มาตรา 112 ในเว็บไซต์นี้  

สะท้อนให้เห็น “พรรคสีส้ม” ก็วิตกกังวลมากพอสมควร ไม่กล้าท้าท้ายกระบวนการบวนตรวจสอบ เพราะหากเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของ “กกต.” และ “ป.ป.ช.” หากยังปรากฏนโยบายแก้ไขกฎหมายสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองสถาบัน อาจเพิ่มน้ำหนักในการตรวจสอบ ทำให้บทสรุปในการตรวจสอบ ยิ่งออกมาในทางลบ

แม้ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า จะออกมาวิจารณ์การกระทำดังกล่าวเป็นการ หงอ และ กลัวเกินเหตุ อีกทั้งยังเสนอให้แก้ไขกฎหมาย เพื่อลดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญไปเลย

นอกจากนี้ “ปิยบุตร” ยังระบุอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำบังคับสั่งห้ามแก้ 112 โดยเด็ดขาด ยังคงเสนอแก้ 112 ในประเด็นอื่นได้ เช่น ลดโทษจำคุก, ยกเลิกโทษขั้นต่ำจำคุก 3 ปี, แยกฐานความผิดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ออกจากกัน, กำหนดให้นายกรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการพิเศษ ทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษคดี 112 เป็นต้น

แต่ดูเหมือนคนในพรรคก้าวไกล ก็ยังไม่มีใครออกมารับลูก ด้วยเกรงว่า การผลักดันตามข้อเสนอดังกล่าว ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และอาจทำให้พรรคต้องเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม เพราะความพยายามผลักดันให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากทำให้พรรคถูกยื่นตรวจตรวจสอบจากองค์กรอิสระ และบทสรุปออกมาในทางเลวร้าย อีกทั้งพรรคก็ยังต้องมารับสภาพเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ทั้งๆ ที่ได้ที่นั่งสส.มากที่สุด แต่ไม่มีพรรคไหนยอมร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย อันเนื่องมาจากนโยบายแก้กฎหมายคุ้มครองสถาบัน

ขณะที่ “นพดล ปัทมะ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ. นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า หากในที่ประชุมมีการเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมว่าด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ตอนเลือกตั้งเราไม่มีที่จะแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งเป็นที่ชัดเจน โดยส่วนตัวตนมองว่า ต้องรอหารือกับทางพรรคเพื่อไทย แต่เราไม่มีนโยบายที่จะไปนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 ย้ำว่าเบื้องต้นเราต้องดูว่า ประเด็นใดที่นิรโทษกรรมแล้ว นำมาซึ่งความปรองดอง สมานฉันท์อย่างยั่งยืน และไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติมขึ้น 

ราเมศ รัตนะเชวง

ส่วน “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงถึงกรณีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.การนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับของพรรคก้าวไกลที่ถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการกำหนดความผิด อำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด บุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจากร่างพ.ร.บ.นี้ ซึ่งจะรวมคดีเกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการตั้งใจกระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากวาระที่ซ่อนเร้น และจะกลายเป็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ให้กับผู้ที่มีคดีทุจริตและคดีอาญาสำคัญๆที่เป็นความผิดต่อชีวิตความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และความผิดในทางแพ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ร้ายแรงดังกล่าว

“ราเมศ” กล่าวว่า นอกจากนี้ การที่บทบัญญัติในมาตรา 5 ของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งมีนักการเมืองผู้มีส่วนได้เสีย ผู้พิพากษา และตุลาการ ร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการนี้ จะทำให้ขัดต่อกระบวนการถ่วงดุลอำนาจ ระหว่างฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการ อีกทั้งจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด

เท่ากับว่า พรรคก้าวไกลถูกโดดเดี่ยว ไม่มีพรรคการเมืองไหนเห็นด้วยกับข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และนิรโทษกรรมให้กับพวกกระทำความผิดในข้อหาล่วงละเมิดสถาบัน 

อีกทั้งจากนี้ไป คงต้องลุ้นชะตากรรมพรรคสีส้มว่า บทสรุปการตรวจสอบของ “กกต.” และ “ป.ป.ช.” จะจบลงด้วยแนวทางอย่างไร แต่หลายคนเชื่อว่า ไม่เป็นคุณกับพรรคก้าวไกลแน่นอน แม้แกนนำพรรคจะมั่นใจว่า พรรคที่เข้ามาสานต่อจะ “แลนด์สไลด์” แต่อย่าลืมว่า การเมืองไทยมีตัวแปรและปัจจัยบางอย่าง…ที่หลายคนคาดไม่ถึง

…………..

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img