วันจันทร์, พฤษภาคม 6, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSเรตติ้งตก-ไร้พลัง“ทักษิณ”สิ้นมนต์ขลัง เสี่ยงพา“น้องสาว”กลับ-เกิด“วิกฤติซ้ำ”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เรตติ้งตก-ไร้พลัง“ทักษิณ”สิ้นมนต์ขลัง เสี่ยงพา“น้องสาว”กลับ-เกิด“วิกฤติซ้ำ”

การเมืองไทยเป็นเรื่องคาดเดายากจริงๆ ดูจากความเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในช่วง “การพักโทษ” ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังเดินทางกลับประเทศไทย ใครต่อใครคิดว่า ด้วยอำนาจบารมีชายวัย 70 กว่าๆ เคยดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศถึง 2 สมัย จะยังมีพลังมีส่วนช่วยให้เครือข่ายได้เปรียบทางการเมือง

แม้จะจบชีวิตทางการเมืองด้วยการถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีคดีความที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกในหลายคดี แต่ด้วย “ดีลลับ” ในที่สุดสามารถเดินทางกลับมาพำนักที่บ้านเกิดได้ และบางคนเชื่อว่า ในอนาคตอาจมีส่วนช่วยให้ “พรรคเพื่อไทย” (พท.) กลับมาคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งครั้งที่่ผานมา ต้องพ่ายแพ้ต่อ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมือง พรรคเพื่อไทยก็พลิกกลับมาเป็นแกนนำรัฐบาล ส่งผลให้ “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯคนที่ 30

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีความหมายกับ “ทักษิณ” มาก เพราะหวังผลักดัน “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าเพื่อไทย เข้ารับตำแหน่งนายกฯให้ได้ หลังประสบความสำเร็จในการผลักดันบุคคลต่างๆ เข้ามาเป็น “ผู้นำประเทศ” อย่างต่อเนื่อง ทั้ง “สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และล่าสุดคือ “เศรษฐา ทวีสิน” รวมทั้งตัว “ทักษิณ” เอง จึงไม่แปลกที่อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (ทรท.) จะคาดหวังไว้ และเชื่อมั่นใน “อำนาจ” และ “บารมีตัวเอง”

เราจึงได้เห็นภาพ “อดีตนายกฯ” เริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น ทั้งเดินทางกลับไปบ้านเกิดจ.เชียงใหม่ 2 ครั้ง  หรือไปห้างดังกลางเมืองหลวง ซึ่งหลายคนเชื่อว่า ต้องการเช็คเรตติ้งและกระแสความนิยม ซึ่งการเดินทางกลับบ้านเกิดในครั้งแรก ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีพอสมควร แต่สิ่งที่จะเป็นการชี้ชัดว่า “อำนาจและบารมี” ยังมีเหมือนเดิมหรือไม่ คงต้องรอผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจะมีการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.) พรรคเพื่อไทยก็หวังจะส่งตัวแทน เพื่อรักษาฐานที่มั่น  หลังในการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะที่ผ่านมาประสบความล้มเหลว พ่ายแพ้ต่อพรรคก้าวไกลอย่างย่อยยับ เช่นเดียวกับ “พรรคสีส้ม” ก็หวังยึดสนามเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นเดียวกัน

ดังนั้น การช่วงชิงอำนาจทางการเมือง จึงมีความเข้มข้น และถูกจับตามองมากเป็นพิเศษ แต่ที่สังคมเริ่มจับสัญญาณได้คือ กระแสความนิยมของ “ทักษิณ” น่าจะไม่เหมือนเดิม  จาก ผลโพลสำรวจความนิยมของ 3 สำนัก ที่ข้อมูลออกมาตรงกัน “พรรคเพื่อไทย” มีคะแนนนิยมตามหลัง “พรรคก้าวไกล” มากพอสมควร

จนมีคำถามว่าชื่อ “ทักษิณ” เริ่มจะสิ้นมนต์ขลังหรือไม่ อะไรเป็นสาเหตุทำให้กระแสความนิยม “อดีตนายกฯ” ไม่ปังเหมือนเดิม

หรือการที่ “ทักษิณ” กลับมา ยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ได้รับการลดโทษจากจำคุก 8 ปีเหลือเพียงปีเดียว แต่ “อดีตนายกฯ” ไม่ได้เข้าเรือนจำเพียงซักวันเดียว ด้วยมีอาการป่วยนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึง กระบวนการยุติธรรม มีความเหลื่อมล้ำ มีการเลือกปฏิบัติ นำไปสู่การยื่นเรื่องให้ “องค์กรอิสระ” ตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ไล่เรียงตั้งแต่ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “จากบทบาททักษิณ ถึงฝันของนายกฯเศรษฐา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับบทบาทของทักษิณ ชินวัตร และความเป็นไปได้ ที่พรรคเพื่อไทยจะชนะในการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ ผลกระทบต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย จากความเคลื่อนไหวของทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลตำรวจ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.61 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย รองลงมา ร้อยละ 33.21 ระบุว่า ส่งผลกระทบในทางลบต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 19.54 ระบุว่า ส่งผลกระทบในทางบวกต่อคะแนนนิยม ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 6.64 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อคำกล่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคผู้นำในการเปลี่ยนแปลง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.47 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมา ร้อยละ 18.85 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 17.94 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 15.73 ระบุว่า เห็นด้วยมาก และร้อยละ 8.01 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจท้ายที่สุด เมื่อถามถึง ความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อไป พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 32.98 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย รองลงมา ร้อยละ 29.24 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ ร้อยละ 21.14 ระบุว่า ไม่ค่อยเป็นไปได้ ร้อยละ 12.82 ระบุว่า เป็นไปได้มาก และร้อยละ 3.82 ระบุว่า เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้าน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง “ก้าวไกล เพื่อไทย และอื่นๆ” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,154 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15-20 เม.ย.ที่ผ่านมา คะแนนนิยมของพรรคก้าวไกลมากกว่าคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยอยู่ประมาณ 1 เท่าตัว คือ ร้อยละ 37.2 ต่อร้อยละ 17.2 อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ที่สุดหรือร้อยละ 45.6 ไม่เลือกทั้งสองพรรค จะเลือกพรรคอื่น

ขณะที่ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือเรียกกันว่า “อีสานโพล” ได้เปิดเผยผลสำรวจ “ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสานไตรมาส 1/2567 และคาดการณ์ไตรมาส 2/2567” ผลปรากฏว่า คะแนนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยังเท่าเดิมที่ 33.0 คะแนน ไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม ไม่มีมาตรการด้านเศรษฐกิจใหม่ๆและใหญ่ๆ ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจครัวเรือนไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 31.8 แย่ลงเล็กน้อยเทียบกับไตรมาส 1/2567

คะแนนผลงานรัฐบาล “อีสานโพล” ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาล ไตรมาส 1/2567 พบว่า ได้เพียง 33.0 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนน ก็คือ “สอบตก” นั่นเอง เมื่อถามว่า ถ้าเลือกตั้งวันนี้จะลงคะแนนให้พรรคใด คำตอบจากชาวอีสานก็คือ อันดับ 1 พรรคก้าวไกล 47.4% เพิ่มขึ้นจาก 35.1% อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 40.7% ลดลงจาก 45.7% อันดับ 3 พรรคภูมิใจไทย 2.4% ลดลงจาก 4.7% เป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงการเลือกตั้งในภาคอีสานในอนาคตอันใกล้ จะเป็นการแข่งขันกันแค่ 2 พรรคคือ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย แต่ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบเสียก่อน คะแนนจะพลิกผันหรือเพิ่มขึ้น ต้องดูกันต่อไป

ภาคอีสานเคยเป็นฐานเสียง และฐานที่มั่นสำคัญของ “พรรคเพื่อไทย” วันนี้ถือว่าถูกพรรคคนรุ่นใหม่ พรรคสีส้ม-ก้าวไกล ตีแตกไปเรียบร้อยแล้ว

นั่นหมายความว่า การเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” ไม่ได้ช่วยคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยให้สูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะ “คนรุ่นใหม่” มีบทบาทมากขึ้นในการชี้นำทางการเมือง ซึ่งความสำเร็จในอดีตที่อดีตนายกฯทำไว้ อาจผ่านพ้นความทรงจำ สำหรับคนรุ่นนี้ไปแล้ว อีกทั้งโหวตเตอร์ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง “คนรุ่นใหม่” ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าพรรคแกนนำรัฐบาลไม่ปรับตัว ไม่เร่งสร้างผลงานให้เข้าตาประชาชน หนทางที่จะทำให้กลับมาเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดูจะเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ แม้จะไม่มีชื่อพรรคก้าวไกลอยู่ในสนามเลือกตั้ง แต่พรรคที่เข้ามาสืบสานอุดมการณ์ของเครื่องจักรสีส้ม ก็ดูจะเหนือกว่า “พรรคเพื่อไทย” อยู่ดี

มิหนำซ้ำในช่วงเดินทางกลับบ้านเกิด ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย “ทักษิณ” ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “นายกฯปู อวยพรสงกรานต์ก่อนที่ผมจะเดินทางมาเชียงใหม่ ก็เลยบอกเดี๋ยวปีหน้า เรามาทำบุญด้วยกัน สงกรานต์ปีหน้า นายกฯ ปูคงได้มีโอกาสมาทำบุญ” ได้นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะสถานภาพ “น้องปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย อยู่ในสถานภาพ “นักโทษหนีคดี” เนื่องจากศาลฎีกาฯตัดสินจำคุกในข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับนำข้าวเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ยังมีนักการเมือง  ข้าราชการและเอกชนหลายคน ที่ต้องถูกลงโทษให้จำคุก จากโครงการรัฐบาลในยุคนายกฯหญิง

คำถามคือ “คุณปู” จะเดินทางกลับมาด้วยวิธีการอย่างไร เพราะถ้ายึดตามรูปแบบ “ทักษิณโมเดล” ก็อาจไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากที่ผ่านมา “อดีตนายกฯหญิง” ไม่เคยปรากฏอาการป่วยให้สังคมได้เห็น ส่วนการพักโทษก็ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ เนื่องจาก “ยิ่งลักษณ์” เพิ่งอายุเพียง 56 ปี หรือจะใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือ “ระเบียบขังนอกคุก” ที่ทางกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ปรับปรุงใหม่และประกาศใช้เมื่อปลายปี 2566

อย่าลืมในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะนั้น “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารราชแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถือเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจาก “นายกฯหญิง” ดังนั้นถ้า “ยิ่งลักษณ์” จะเดินทางกลับประเทศไทยจริงๆ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรมในขณะนี้ คงหาช่องทางในการช่วยเหลืออย่างเต็มที่

สำหรับการกำหนด “คุณสมบัติ” ของผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกไป “ขังนอกคุก” ว่า 1.เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์ 2.ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง หรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล และคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำเห็นว่า ควรกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคลโดยให้คุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ และ 3.มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์ ซึ่ง “ยิ่งลักษณ์” ก็อาจจะเข้าเกณฑ์ แต่ต้องรับสถานะ “ผู้ต้องขัง” เสียก่อน

ด้าน “พ.ต.อ.ทวี” ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีนายทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศไทยว่า เรื่องนี้กรมราชทัณฑ์จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยจะไม่มีใครได้รับข้อยกเว้น ซึ่งใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ การกำหนดโทษเป็นเรื่องของศาล คนที่จะเข้าระบบราชทัณฑ์ได้ต้องมีหมายจากศาลมา ยืนยันการปฏิบัติของเราเป็นไปตามมาตรฐาน จะปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวไม่มีสองมาตรฐาน

เมื่อถามอีกว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะใช้โมเดลเหมือนนายทักษิณหรือไม่ ที่อยู่เรือนจำไม่นาน แล้วไปพักรักษาตัวต่อที่โรงพยาลบาล รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ไม่มีโมเดลใครทั้งนั้น

ขณะที่ “พิชิต ชื่นบาน” ที่ปรึกษาของนายกฯ กล่าวถึงกรณีกรณีเดียวกันว่า เมื่อถึงเวลาแล้ว จะมีกระบวนการเป็นไปตามกฎหมาย ถือว่าอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น

เมื่อถามว่า กระบวนการจะคล้ายกับนายทักษิณหรือไม่ เพราะนายทักษิณเคยพูดว่าของตนเอง ถูกยัดคดีเยอะ แต่ของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้นมีเพียงแค่คดีเดียว “พิชิต” กล่าวว่า คิดว่าโมเดลก็คล้ายๆ กัน

“ยืนยันว่า กรณีนี้ไม่มีสองมาตรฐาน รวมถึงที่ผ่านมา ก็ไม่มีสองมาตรฐาน คือมันเป็นเรื่องการบังคับโทษ การบริหารโทษ ไม่มีอะไรสองมาตรฐาน ผมถึงบอกว่า พอเราไม่เข้าใจ หรือบางทีมองไปแบบคนรัก คนชอบ แต่ที่ผ่านมาเรายึดหลักการบังคับโทษ บริหารโทษ กระบวนการยุติธรรม สิ้นสุดนับแต่ศาลออกใบแดงแจ้งโทษแล้ว เพราะฉะนั้นรูปแบบอะไรก็คล้ายๆกัน แต่เมื่อถึงเวลาแล้ว เมื่อท่านตัดสินใจอย่างไรก็อยู่ที่ท่าน กระบวนการไม่มีอะไรซับซ้อน” ที่ปรึกษาของนายกฯกล่าว

แต่มีอีกช่องทางหนึ่งคือ การล้างผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ไปใส่ไว้ใน “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ซึ่งก่อนหน้านั้นสภาฯได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ. ) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน  

ขณะที่ “นิกร จำนง” ประธานอนุฯกมธ.พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถลงความคืบหน้าการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า อนุฯกมธ.ได้ประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเสร็จประเด็นที่อนุฯกมธ.พิจารณาคือ 1.อยู่ในระยะเวลาปี 2548 ถึงปัจจุบันหรือไม่ 2.ฐานความผิด 25 ฐาน ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้อยู่ใน 25 ฐานความผิดนี้

จากนี้ต้องจับตาดู จะมี “ใคร” กล้าเสนอ ให้รวมคดีที่เกี่ยวข้องกับทุจริตไว้ในกระบวนการล้างผิดหรือไม่ เพราะนั่นหมายความว่า “ยิ่งลักษณ์” จะได้อานิสงส์ไปด้วย ซึ่งบางที “ผู้มีอำนาจ” จะมองว่า กระแสต่อต้านกระบวนการพักโทษ “ทักษิณ” ไม่แรงมากนัก มีคนออกมาร่วมกิจกรรมเพียงหลักร้อย แต่การเมืองไทยเป็นเรื่องคาดยาก กรณีดังกล่าวอาจเป็นฉนวนให้ “เกิดวิกฤติกับรัฐบาล”

อีกทั้งยังตอกย้ำให้สังคมเห็นว่า “รัฐบาลเศรษฐา” มุ่งมั่นกับการ “ช่วยเหลือพวกพ้อง” ทำให้ “กระบวนการยุติธรรมเกิดความเหลื่อมล้ำ” กลายเป็นจุดด่างพร้อยที่ทำให้คู่ต่อสู้นำไปขยายผล จนนำไปสู่การ “ปิดฉากตระกูลชินวัตร” ในสนามเลือกตั้ง

………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลึก-ลับ

โดย..“แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img