วันเสาร์, กรกฎาคม 27, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTS‘พรรคร่วมรัฐบาล’ลอยแพ‘พรรคเพื่อไทย’ เมินร่วมหนุนพ.ร.บ.นิรโทษฯมาตรา112
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘พรรคร่วมรัฐบาล’ลอยแพ‘พรรคเพื่อไทย’ เมินร่วมหนุนพ.ร.บ.นิรโทษฯมาตรา112

ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย หลังการเสียชีวิตของ “บุ้ง ทะลุวัง” เนติพร เสน่ห์สังคม แกนนำกลุ่มทะลุวัง ซึ่งมีรูปแบบการชุมนุม ที่ฮาร์ดคอร์มากกว่ากลุ่มอื่น เลยทำให้กลายเป็นประเด็นให้บรรดานักเคลื่อนไหวที่ชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ ต่างเคลื่อนไหวให้คืนสิทธิ์ประกันตัวกับนักโทษการเมือง และนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112

ยิ่ง “กรมราชทัณฑ์” ชี้แจงขั้นตอนการช่วยชีวิตการเคลื่อนย้าย “บุ้ง” ไปรักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติม่ ไม่ชัดเจน ยิ่งสร้างความชอบธรรมในการเรียกร้อง หลังก่อนหน้ามีการเรียกร้องให้อนุญาติประกันตัว บรรดา “กลุ่มฮาร์ดคอร์” ที่เคลื่อนไหวในนาม “ทะลุฟ้า-ทะลุวัง” หรือบางกลุ่มที่แสดงพฤติกรรมกระทบกับสถาบัน แต่ไม่ได้รับการตอบรับสังคม เนื่องจากเห็นว่านักเคลื่อนไหวบางคน พอได้รับการประกันตัว มักทำผิดเงื่อนไข ไปก่อเหตุสร้างความปั่นป่วนอีก ในที่สุดก็ถูกยื่นเพิกถอนการประกันตัว

ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า “บุ้ง” ถูกดำเนินคดีรวมถึง 7 คดี จำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี และเคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 2 ครั้ง โดยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค.65 ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกัน “บุ้ง” กับ “ใบปอ ทะลุวัง” ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ คู่หูที่ทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกัน จากคดีทำโพลขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 4 ส.ค.65

จากนั้น “บุ้ง” ถูกคุมขังครั้งที่ 2 สืบเนื่องมาจากกรณีที่เธอมีคำสั่งถูกลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่เดินทางไปศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจ “โฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า ผู้ต้องหาคดีความผิดมาตรา 12 จากพฤติการณ์ปราศรัยพาดพิงสถาบันเบื้องสูง ที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 19 ต.ค.66 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุก “บุ้ง” เป็นเวลา 1 เดือน ในคดีละเมิดอำนาจศาล และต่อเนื่องมาในคดีมาตรา 112  ทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ม.ค.67

โดยในการถูกคุมขังทั้ง 2 ครั้ง “บุ้ง” ได้ประกาศอดอาหารทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกอดอาหารร่วมกับ “ใบปอ” เป็นเวลากว่า 94 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หลังจากทนายพยายามยื่นขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว “บุ้ง-ใบปอ” รวม 8 ครั้ง ซึ่งส่งผลต่อสภาพร่างกายของ “บุ้ง” เป็นอย่างมาก จนเป็นเหตุผลหนึ่งที่ศาลพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่ในการถูกคุมขังครั้งที่ 2 “บุ้ง” ที่ถูกถอนประกันตัวเพียงคนเดียวในกลุ่ม เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า “บุ้ง” เข้าร่วมชุมนุม และพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ถอด “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.66

เพียง 1 วันหลังถูกนำตัวเข้าคุมขังในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ อีกครั้ง “บุ้ง” ได้ประกาศอดอาหาร-น้ำ ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.67 เพื่อเรียกร้อง 2 ข้อคือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ 2.จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก ผลจากการอดอาหาร ทำให้ต้องส่งตัว “บุ้ง” ไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เมื่อช่วงเดือนเม.ย.67 และเมื่อเธอเริ่มฟื้นตัว กรมราชทัณฑ์จึงนำตัวกลับมารักษาที่ทัณฑสถานรพ.ราชทัณฑ์ ก่อนจะเสียชีวิต  สำหรับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ตั้งแต่ 18 ก.ค.63 ถึง 30 เม.ย.67 มีผู้ถูกดำเนินคดี จากการแสดงความคิดเห็น ในคดีทางการเมือง 1,954 คน จาก 1,295 คดี โดยมีคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินมากที่สุด 1,466 คน และอันดับที่ 2 เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112  มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 272 คน

ขณะที่เมื่อวันที่ 16 พ.ค.67 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล “กลุ่มทะลุฟ้า” นำโดย “จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” หรือ “ไผ่ ดาวดิน” แกนนำทะลุฟ้า “ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” หรือ “รุ้ง” แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ “ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” หรือ “มายด์” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เดินทางยื่นมาหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีนโยบายคืนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง หลังจาก “บุ้งทะลุวัง” เสียชีวิตระหว่างคุมขัง โดยมี “สมคิด เชื้อคง” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือ

ทั้งนี้ มีการนำโปสเตอร์นโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่หาเสียงไว้ เกี่ยวกับสิทธิประกันตัวของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง โดยให้ใช้รัฐสภาเป็นกลไกคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อคดีทางการเมือง รวมถึงเปิดภาพบันทึกเทปโทรทัศน์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ และ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่มีการพูดถึงนโยบายการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง

ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สส.ปี 2566 “แพทองธาร” และ “เศรษฐา ทวีสิน” สองแคนดิเดตนายกฯของพรรคพท.  กล่าวถึงจุดยืนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคไว้ชัดเจน โดย “แพทองธาร” กล่าวว่า “เราไม่ยกเลิกมาตรา 112 แต่เราต้องมาคุยกันในสภา เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราจะขอความเมตตาต่อศาล ว่ามีน้องๆ และผู้เห็นต่างทางการเมืองหลายคนที่ติดอยู่ในนั้น ขอให้มีการปล่อยตัว และต้องมีการแก้ไขระเบียบ ต้องกำหนดว่าใครเป็นคนฟ้อง อัตราโทษเราไม่สนับสนุนเอามาใช้เป็นเกมการเมือง เราต้องมีกฎหมายคุ้มครองประมุขรัฐ”

ด้าน “เศรษฐา” กล่าวว่า “ถ้าเราเป็นรัฐบาลก็ต้องดูการประกันตัว เพื่อต่อสู้ได้อย่างเป็นธรรม แต่คู่ขนานกันไป คนรุ่นใหม่กังวลมาก แต่ปัญหามาตรา 112 อาจถูกลดทอน แต่พวกเขาไม่สบายใจก็ต้องมีการเปิดพื้นที่รับฟัง”

ขณะที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า “นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกกล่าวหาในคดีความทางการเมือง จากเหตุความคิดเห็นและความเชื่อที่แตกต่าง ต้องได้รับการประกันตัวและได้รับการพิจารณาคดีอย่างเที่ยงธรรม”

เช่นเดียวกับ “ชัยเกษม นิติสิริ” อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) อดีตรมว.ยุติธรรม และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ก็เคยพูดไว้ว่า “หากประสบการณ์ที่รับราชการ จนถึง อสส. จะพอมีคุณค่า ก็ขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางความคิด เห็นต่างกับรัฐบาล เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นฟื้นฟูหลักนิติรัฐ นิติธรรม”

โดยก่อนยื่นหนังสือ ตัวแทนกลุ่มทะลุฟ้าอ่านแถลงการณ์ ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ

1.เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการเสียชีวิตของน.ส.เนติพรให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว

2.ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุด ได้รับสิทธิในการประกันตัว

3.ชะลอการดำเนินคดีการจับคุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม รวมถึงสั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้องไม่ยื่นอุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนคำร้องถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

4.เร่งรัดกันออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ที่มีมูลเหตุ มาจากคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นแล้ว แล้วหวังว่าจะไม่มีบุคคลใด จะต้องเสียชีวิต และทุกคนจะได้รับสิทธิประกันตัว และสิทธิแสดงออกทางการเมือง ขณะเดียวกันทางกลุ่มจะมาติดตามข้อเรียกร้องอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ค.นี้

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน “กลุ่มทะลุฟ้า” นำโดย “ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” หรือ “มายด์”-“สมยศ พฤกษาเกษมสุข” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง “จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” หรือ “ไผ่ ดาวดิน” และคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้กมธ.นิรโทษกรรม พิจารณานิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยกรณี “เนติพร เสน่ห์สังคม” ที่เสียชีวิตในระหว่างถูกคุมขัง

จากนั้น “นิกร จำนง” เลขานุการกมธ.วิสามัญฯพ.ร.บ.นิรโทษกรรม  ระบุว่า นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส..บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ.ฯ ได้ส่งหนังสือไปยังนายกฯโดยมีสาระสำคัญว่า ขอให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มทะลุฟ้า คือ 1.ตรวจสอบการเสียชีวิตของน.ส.เนติพร ให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนโดยเร็ว 2.ดำเนินการใดๆ ให้ผู้ต้องขังที่คดียังไม่ถึงที่สุดได้รับสิทธิประกันตัว 3.ชะลอการดำเนินคดีการจับกุม คุมขังบุคคลในคดีการเมืองจนกว่าจะผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม สั่งไม่ฟ้อง ไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกา ในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ และ 4.เร่งรัดการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยรวมประชาชนทุกฝ่าย ทุกข้อหา ที่มีมูลเหตุแห่งคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. ได้เสนอต่อรัฐสภา และอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว

เท่ากับว่างานนี้ ทาง “กมธ.ฯนิรโทษกรรม” ได้โยนเผือกร้อนให้หัวหน้ารัฐบาลไปเต็มๆ เพราะถ้ารัฐบาลเดินหน้าไปตามข้อเรียกร้องของกลุ่มทะลุฟ้า-กลุ่มทะลุวัง ก็อาจถูกฝ่ายตรงข้ามออกมาต่อต้าน โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับบรรดาผู้กระทำผิด ตามข้อหามาตรา 112 

โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ค.67 ที่รัฐสภา “อานนท์ กลิ่นแก้ว” ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พร้อมคณะ ยื่นหนังสือถึง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาฯ ผ่าน “เจษ อนุกูลโภคารัตน์” ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาฯ ระบุ มาตรา 112 ไม่ใช่คดีทางการเมืองที่จะมานิรโทษกรรม ที่กลุ่มทะลุฟ้าเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อให้มีการพิจารณานิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ทาง ปปส.ขอคัดค้านไม่ให้มีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 โดยเด็ดขาด ไม่ว่าด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง 

แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล ต่างคัดค้านไม่ให้มีการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 โดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรคต่อกฎหมายนิรโทษกรรม กับคดีมาตรา 112 ว่า “เราไม่แตะอยู่แล้ว” เมื่อถามถึงกรณีมีมวลชนและพรรคการเมืองบางกลุ่ม อยากให้นำเรื่อง ม.112 มารวมในกฎหมายนิรโทษกรรม “อนุทิน” ยืนยันว่า “เรายืนยันตามที่ภูมิใจไทยได้เคยมีจุดยืนเอาไว้ จุดยืนมันก็ต้องเป็นจุดยืน”

ด้าน “อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” ส.ส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการออกมาเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า “พรรครวมไทยสร้างชาติขอแสดงจุดยืนคัดค้าน ไม่ให้มีการนิรโทษให้กับผู้กระทำผิดในมาตรา 112 และคัดค้านไม่ให้มีการแก้มาตรา 112 เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ได้เป็นปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ฝ่าฝืนกฎหมายมาตรา 112 อีกทั้งมาตรา 112 ไม่เคยทำให้คนปกติทั่วไปได้รับความเดือดร้อน”

“อัครเดช” กล่าวอีกว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เป็นกฎหมายที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นกรณีที่เกิดจะต้องไปดูสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากการทำผิดอะไร มีบุคคลใครอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งกระบวนการในการพิจารณาคดี ก็เป็นอำนาจศาลที่จะให้ประกันตัวหรือไม่ ซึ่งหากได้รับการประกันตัวแล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลสั่ง แต่หากมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยยกเลิกการประกันตัวเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

เช่นเดียวกับ “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) ที่เคยประกาศจุดยืนไว้ชัดเจน ไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” 

ดังนั้นหาก “เศรษฐา” สนับสนุนให้นิรโทษกรรมกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 คงจะได้เสียงสนับสนุนจากเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว เพราะพรรคร่วมรัฐบาลต่างไม่มีใครเห็นด้วย แต่ถ้าต้องการผลักดันให้ผ่านไปได้ พรรคแกนนำรัฐบาลก็ต้องไปร่วมมือกับ “พรรคก้าวไกล” (ก.ก.) ซึ่งทั้งสองพรรคมีเสียงร่วมกันเกินครึ่งคือ 290  เสียง แต่คำถามคือพรรคแกนนำรัฐบาลจะกล้าหรือไม่ เพราะถ้ากล้าทำอย่างนั้น หมายความว่า รัฐบาลไม่มีเอกภาพ  ไม่มีทิศทางร่วมกันในการผลักดันเรื่องที่มีความสำคัญ แต่ถ้าเพื่อไทยหันไปจับมือกับก้าวไกล ก็อาจถูกต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือกระทบกับ “ดีลลับ” ที่นำมาสู่การทำให้เพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาล 

แต่ถ้า “หัวหน้ารัฐบาล” เมินทำตามคำเรียกร้องของ “นักเคลื่อนไหว” ที่ใช้ “สามนิ้ว” เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว ย่อมถูกต่อต้านจากคนกลุ่มนี้ อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งในอนาคต เพราะคู่แข่งสำคัญอย่าง “ก้าวไกล” ก็เคลื่อนไหวเป็นเนื้อเดียวกับ บรรดากลุ่มที่ต้องการให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 

ดังนั้นประเด็นเกี่ยวข้องกับกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นเผือกร้อนอีกเรื่องหนึ่ง ที่ “หัวหน้ารัฐบาล” และพรรคเพื่อไทย คงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาถึงขั้นมีอันเป็นไป  ก่อนครบวาระ  

……………

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย...”แมวสีขาว”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img