วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
หน้าแรกCOLUMNISTSแจก 1 หมื่นบาท“กระตุ้นเศรษฐกิจ”... หรือ“อาวุธลับ”แลนด์สไลด์ของ“พท.”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แจก 1 หมื่นบาท“กระตุ้นเศรษฐกิจ”… หรือ“อาวุธลับ”แลนด์สไลด์ของ“พท.”

สัปดาห์ที่แล้วมี 2 ข่าวที่มีความย้อนแย้งกัน ข่าวแรกที่คนฮือฮามากๆ เมื่อ “พรรคเพื่อไทย” มีนโยบายแจกเงินดิจิทัล ตอนหลังเปลี่ยนมาใช้คำว่า “คูปอง” ให้กับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป คนละหมื่นบาทใช้จ่ายในชุมชน ไล่เลี่ยกัน “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต.ก็ออกมาเปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยแจกเงินแค่ 5 แสนล้านบาท แต่พรรคอื่นๆ ใช้เงินมากกว่ามาก พร้อมทั้งแจกแจงรายละเอียดไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ลุงป้อม 700 เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาทต่อเดือน 14 ล้านคน ตกปีละ 116,600 ล้านบาท 4 ปี 466,400 ล้านบาท

เพื่อไทย เติมเงิน 10,000 บาท ใส่กระเป๋าเงินดิจิทัล ให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป 54 ล้านคน ให้ครั้งเดียว 540,000 ล้านบาท

ขณะที่ ลุงตู่ 1,000 เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,000 บาทต่อเดือน 14 ล้านคน ตกปีละ 168,000 ล้านบาท 4 ปี 672,000 ล้านบาท

เสรีรวมไทย บำนาญประชาชน 65 ปีขึ้นไป เดือนละ 3,000 บาทต่อเดือน 8.3 ล้านคน ตกปีละ 298,800 ล้านบาท 4 ปี 1,195,200 ล้านบาท

กระทั่ง ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย บำนาญประชาชน 60 ปีขึ้นไป เดือนละ 3,000 บาท 12 ล้านคน ตกปีละ 432,000 ล้านบาท 4 ปี 1,728,000 ล้านบาท

พลังประชารัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปี 3,000 บาท 70 ปี 4,000 บาท 80 ปี 5,000 บาท 4 ปี

คิดไม่ออกแล้วว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่มากกว่า 2 ล้าน ล้านบาท หรือ นโยบายเดียว เท่ากับ 4 เท่าของนโยบาย 10,000 บาทของ เพื่อไทย สรุปเพื่อไทยเด็กๆ

พรรคเพื่อไทยหาเสียงด้วยนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” คนละ 1 หมื่นบาทจะให้กับทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะยากดีมีจน มหาเศรษฐีหรือยาจก แต่กำหนดให้ใช้ได้กับสินค้าในชุมชนในรัศมี 4 กิโลเมตรเท่านั้น ผู้มีสิทธิ์จะดูจากบัตรประชาชนเป็นหลัก กลุ่มนี้ประมาณ 85% ของประชากรไทยทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 50 ล้านคน คาดว่าจะใช้เงิน 5 แสนล้านบาท

“ดร.กิตติ ลิ่มสกุล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อรรถาธิบายให้ฟังว่า นโยบายแจกเงินนี้ คล้ายๆ กับโครงการ “คนละครึ่ง” ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างตรงที่มีการนำเทคโนโลยี “บล็อกเชน” มาใช้ โครงการคนละครึ่งผ่าน “เป๋าตัง” แต่โครงการนี้เป็นเงินดิจิทัลผ่าน “อี-วอลเลต” โครงการคนละครึ่งทยอยใส่เงิน แต่โครงการนี้แจกครั้งเดียว คนละหนึ่งหมื่นบาท เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

สำหรับเงิน 5 แสนล้านที่ใช้ในโครงการนี้ ไม่ใช่เงินสดที่ใส่ลงไป แต่เป็นเครดิต เป็นตัวเลขที่โอนกันตอน “ซื้อของ” จากร้านค้าในชุมชน เมื่อผู้ซื้อกับผู้ขายมีการทำธุรกรรมกันแล้ว ร้านค้าจึงนำมาขึ้นเป็นเงิน และเมื่อเกิดการซื้อขายก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นรายได้เข้ารัฐ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ ก็จะชดเชยเงิน 5 แสนล้านบาทที่ตั้งไว้ ก็จะแบ่งเบาภาระงบประมาณได้ส่วนหนึ่ง

ดร.กิตติ บอกอีกว่า เงิน 5 แสนล้านบาทที่หมุนเข้าสู่ระบบ เกิดการหมุนเวียนแบบทวีคูณ 6 รอบ หรือ 6 เท่า จะมีเม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการนี้ 3 ล้านล้านบาท หรือราวๆ 2.5 ของจีดีพี. รวมกับของเดิมที่คาดว่าจะโต 2.5-3% ก็จะทำให้จีดีพี.ปีนี้โตขึ้นมาทันที ไม่ต่ำกว่า 5%

เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ปัจจุบันอยู่แค่ 60% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ก็จะขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น ธุรกิจมีรายได้มากขึ้น รัฐก็จะเก็บภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น เมื่อหักกลบลบกัน รายได้จากภาษีอาจจะใกล้เคียงกับเงินที่ใช้จ่ายในโครงการนี้ รัฐอาจไม่ต้องใช้เงินใหม่เลยก็ได้

พรรคเพื่อไทยใช้กลยุทธ์นี้ ก็เพราะหวังผลทางจิตวิทยา ทำให้ประชาชนรู้สึกมี “ความหวัง” และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เมื่อชาวบ้านเชื่อมั่น ก็กล้าจะจับจ่ายใช้สอย อย่างที่เกริ่นว่าแต่แรกว่า โครงการนี้ก็ไม่ต่างจาก “คนละครึ่ง” แต่ “เพื่อไทย” เล่นเกมใหญ่ อัดเงินก้อนใหญ่ใส่เข้าไปในระบบ หวังให้เกิดแรงเหวี่ยง แต่โครงการ “คนละครึ่ง” ค่อยๆ ทยอยใส่ทีละนิด จึงไม่มีพลังพอที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้

ต้องดูต่อไปว่า ที่พรรคเพื่อไทยเทเงิน 5 แสนล้านบาทไปกระตุ้นให้วงรอบเงินที่ไปกระตุ้นสูงถึง 3 ล้านล้านบาทจะเป็นจริงหรือไม่ ในจำนวน 50 ล้านคน มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสใช้ เพราะต้องย้ายถิ่นฐานมาทำงานในต่างถิ่น ไม่ได้อยู่ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน รวมถึงคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี และเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะคนสูงอายุที่มีฐานะยากจน คนกลุ่มนี้ก็มีไม่น้อยอาจจะมีหลักหลายล้านคนเลยทีเดียว

รวมทั้งเงินที่ได้รับ “บางคน” อาจจะไม่ได้เอาไปซื้อของในชุมชน แต่เอาเงินไป “ใช้หนี้เงินกู้” แทน หรือ “คนรุ่นใหม่” อาจจะไปซื้อของออนไลน์ จะทำให้เม็ดเงินไม่ไปกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนตามที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนความหวังที่จะให้เกิดตัวคูณ 6 เท่านั้น มีงานวิจัยทั่วโลกระบุว่า ตัวคูณ หรือ ค่า multiplier อยู่ระหว่างที่ 0 ถึง 0.7 เท่านั้น ไม่ใช่จินตนาการเองว่า จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมหภาค 6 เท่า ฉะนั้นโอกาสที่จะเห็น จีดีพี.โต 5% คงเป็นไปได้ยาก

หากภาษีที่คาดว่าจะเก็บได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้า คงหนีไม่พ้นต้องกู้เพิ่ม ซึ่งจะทำให้เงินกู้ของรัฐบาลในปี 67 เพิ่มขึ้นเป็น 1.14 ล้านล้านบาท จากเดิมงบปี 67 ขาดดุล 593,000 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่า “ตัวเลขหนี้สาธารณะ” ที่จากเดิมอยู่ราวๆ 10 ล้านล้านบาท หรือราว 61% กว่าๆต่อจีดีพี. จะเพิ่มเป็น 64% กว่าๆ ต่อจีดีพี. จากเพดานที่ขยายล่าสุด 70% ต่อจีดีพี.

การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้ “ยาแรง” จะได้ผลต่อเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น แล้วมีเงินอัดฉีดลงไป แต่วันนี้เศรษฐกิจที่ไม่ใช่ช่วงขาขึ้น เงิน 5 แสนล้านบาทที่อัดลงไปในช่วงสั้นๆ อาจจะไม่แรงพอจะฉุดเศรษฐกิจให้โงหัวขึ้นมาได้ อย่าลืมว่า ในระบบเศรษฐกิจมีรอยรั่วมากมายที่คาดไม่ถึง

ในสถานการณ์อย่างนี้ ต้องใช้เม็ดเงินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรกระตุ้นให้ตรงจุดกับกลุ่มคนที่จำเป็นจริงๆ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนด้อยโอกาส และเม็ดเงินส่วนหนึ่งมาทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างโอกาสแม้จะช้าไปบ้างแต่มั่นคงและยั่งยืนกว่าการแจกเงิน

เงิน 5 แสนล้านบาทที่โยนไปตูมใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังคงต้องจับตาดูต่อไป แต่ที่แน่ๆ ในทางการเมือง นี่คือ “อาวุธลับ” ที่จะทำให้เกิดการ “แลนด์สไลด์” ของ “พรรคเพื่อไทย”

……………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย…. “ทวี มีเงิน”

สนับสนุนคอลัมน์ โดย :   บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img